สำหรับคนที่เลี้ยงสุนัขมือใหม่อาจจะยังไม่เคยต้องรับมือกับการที่สุนัขตั้งท้องหรือเจอการคลอดลูกสุนัขมาก่อน ทำให้เกิดปัญหาหนักใจได้ว่าต้องทำยังไงดีนะ ต้องดูแลสุนัขใกล้คลอดยังไง แล้วเราจะรู้ได้ยังว่าสุนัขใกล้จะคลอดแล้ว?
วันนี้ PetPlease มีคำตอบมาให้ทุกคนแล้วค่ะ รับรองเลยว่าถ้าทุกคนอ่านบทความของเราจบแล้ว จะดูแลสุนัขที่กำลังตั้งท้องได้ดีแน่นอน แต่จะต้องดูแลยังไง มาดูกันเลย!
บทความนี้ขอนำเสนอ
- เราจะรู้ได้ยังไง? ว่าสุนัขของเราตั้งท้อง
- สุนัขท้องเทียม คืออะไร!?
- สุนัขใกล้คลอด สังเกตุยังไง?
- การดูแลน้องหมาหลังคลอด
- คำถามที่พบบ่อย
เราจะรู้ได้ยังไง? ว่าสุนัขของเราตั้งท้อง
มาเริ่มกันที่หัวข้อแรกกันเลย! ก่อนที่เราจะไปดูแลสุนัขตั้งท้อง เราต้องรู้ก่อนว่าสุนัขของเรานั้นกำลังตั้งท้องอยู่จริง ๆ หรือเปล่า! ซึ่งวิธีการสังเกตว่าสุนัขของเราท้องไหม ก็สามารถสังเกตได้ตามวิธีด้านล่างเลยค่ะ จะมีอะไรบ้าง มาดูกัน~
ลองสังเกตุดูสิ ว่ามีอะไรเปลี่ยนไป?
วิธีนี้ทุกคนสามารถทำได้ง่าย ๆ ที่บ้านเลยค่ะ แค่ลองสังเกตดูว่าสุนัขของเรามีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมหรือรูปร่างของร่างกาย โดยปกติแล้วอาการที่จะเกิดได้ในสุนัขที่กำลังตั้งท้อง คือ พวกมันจะมีเต้านมที่ขยายใหญ่ขึ้น มีน้ำนมไหลออกมา กินอาหารได้น้อยลง ทำกิจกรรมต่าง ๆ น้อยลง เป็นต้นค่ะ แต่อาการเหล่านี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในสุนัขที่มีภาวะท้องเทียม (Pseudopregnancy in Dogs) ได้เหมือนกันค่ะ มาถึงตรงนี้หลาย ๆ คนอาจจะไม่เข้าใจว่าสุนัขท้องเทียวคืออะไร เดี๋ยวเราจะมาพูดถึงเรื่องสุนัขท้องเทียมในหัวข้อถัดไปกันค่ะ!
คลำบริเวณหน้าท้อง
มาต่อกันวิธีการสังเกตวิธีที่ 2 กันบ้าง วิธีนี้ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและความชำนาญสูงมาก ๆ เลยค่ะ วิธีการคลำท้องของสุนัข สามารถคลำได้ตั้งแต่ 30 – 35 วันขึ้นไป เพราะเมื่อสุนัขท้องมดลูกของพวกมันจะขยายใหญ่ขึ้นและตึงมาก ๆ ด้วย! แต่สำหรับสุนัขสายพันธุ์ใหญ่ ๆ อย่าง โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ โดเบอร์แมน อาจจะต้องรอช่วงสัปดาห์ท้าย ๆ หรือช่วงใกล้คลอด จะสังเกตได้ง่ายกว่าค่ะ แต่การคลำท้องสุนัขก็ต้องใช้ความระมัดระวังมาก ๆ เลยค่ะ เพราะหากคลำท้องแรงเกินไปอาจจะส่งผลต่อลูกสุนัขในท้องได้
พาน้องไปตรวจเลือดสิ!
เมื่อสุนัขตั้งครรภ์ ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนที่ชื่อว่า “รีแลกซิน” ออกมา โดยฮอร์โมนตัวนี้จะออกมาผสมอยู่ในเลือดเมื่ออายุครรภ์ 28 วันขึ้นไป ดังนั้นถ้าเราสงสัยว่าสุนัขเราท้องหรือเปล่า ก็ลองพาไปตรวจเลือดดูสิคะ แต่ผลอาจจะคลาดเคลื่อนได้ ถ้าอายุครรภ์ยังไม่ถึง 28 วัน ยังไงก็ลองประมาณวันและเวลาก่อน
พาน้องหมาที่บ้านไปตรวจเลือดก็จะดีนะคะ!
อัลตราซาวน์
การอัลตราซาวน์เป็นวิธีที่ง่าย สะดวก และรวดเร็วที่สุดเลยล่ะค่ะ ซึ่งการอัลตราซาวน์สามารถทำได้ตั้งแต่สุนัขที่อายุครรภ์ 20 วันขึ้นไปเลยล่ะค่ะ การอัลตราซาวน์นอกจากจะรู้แล้วว่าสุนัขตั้งท้องหรือเปล่า ยังรู้ว่าลูกสุนัขในครรภ์จะรอดไหมอีกด้วยนะ!
เอ็กซเรย์ก็ได้นะ!
การเอ็กซเรย์ส่วนใหญ่จะนิยมตรวจเมื่ออายุครรภ์ของน้องหมามีอายุ 45 วันขึ้นไป เพื่อนับจำนวนลูกสุนัขที่จะคลอดว่ามีทั้งหมดกี่ตัว และประเมินวันคลอดว่าจะคลอดวันไหนค่ะ
สุนัขท้องเทียม คืออะไร!?
ทุกคนอาจจะงง ๆ ว่าสุนัขท้องเทียมคืออะไร วันนี้ PetPlease จะมาไขข้อสงสัยตรงนี้ให้ค่ะ! สุนัขท้องเทียมเกิดจากการที่สุนัขไม่ได้รับการผสมพันธุ์จริง ๆ แต่ร่างกายกลับเข้าใจไปว่าสุนัขตัวนี้ได้รับการผสมพันธุ์แล้วนั่นเองค่ะ ต้องขออธิบายก่อนว่าโดยปกติแล้วสุนัขจะมีรอบติดสัดทั้งหมด 4 ระยะ ดังนี้
ระยะโปรเอสตรัส (Proestrous)
ระยะนี้จะเป็นระยะก่อนที่สุนัขจะเข้าสู่อาการติดสัด ซึ่งระยะนี้ใช้เวลาทั้งหมด 5 – 13 วัน ในระยะนี้สุนัขจะมีเลือดหรือเมือกสีแดง ๆ ไหลออกมาจากอวัยวะเพศ ทำให้หลาย ๆ คนเข้าใจผิดว่าสุนัขมีประจำเดือนกับคน นอกจากนี้อาการอื่น ๆ ที่สังเกตได้ก็คือ อวัยวะเพศของสุนัขจะขยายใหญ่ขึ้นอีกด้วย ทำให้สุนัขบางตัวอาจจะก้มลงไปเลียอวัยวะเพศตัวเองบ่อย ๆ เพราะรู้สึกแปลก ๆ ไปนั่นเองค่ะ
ระยะเอสตรัส (Estrous)
มาถึงระยะเอสตรัสกันบ้าง ระยะนี้เป็นระยะที่สุนัขเริ่มมีอาการติดสัดแล้วค่ะ ซึ่งในระยะนี้จะใช้เวลา 5 – 21 วัน แต่ปกติเฉลี่ยแล้วจะอยู่แค่ 9 วันเท่านั้น ในระยะนี้สุนัขที่มีเลือดและเมือกสีแดง ๆ ไหลออกมา ในช่วงนี้ก็จะไหลน้อยหรือจางลงไปจากระยะโปรเอสตรัส
ในระยะเอสตรัสสุนัข เป็นช่วงที่สุนัขเพศเมียจะยอมให้สุนัขเพศผู้เข้ามาผสมพันธุ์ค่ะ ซึ่งเราสามารถสังเกตได้โดยการใช้มือกดและแตะบริเวณหลังหรือเอวของสุนัข แล้วลองสังเกตดูว่าสุนัขยืนนิ่ง ยกหางไหม ถ้าสุนัขของเราแสดงท่าทีดังกล่าว นั่นก็หมายความว่าพวกมันยอมรับการผสมพันธุ์นั่นเองค่ะ
ระยะไดเอสตรัส (Diestrous)
ระยะนี้เป็นระยะที่สำคัญมากเลยค่ะ เพราะระยะไดเอสตรัสนี่แหละค่ะที่ต้นเหตุที่ทำให้สุนัขเกิดอาการท้องเทียมขึ้นมา! ในช่วงระยะนี้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสูง แต่สำหรับสุนัขที่ไม่ได้รับการผสมพันธุ์ฮอร์โมนชนิดนี้ก็จะค่อย ๆ ลดลงไปเอง แต่สำหรับสุนัขที่ได้รับการผสมพันธุ์พวกมันก็จะต้องท้องโดยใช้เวลาตั้งท้องประมาณ 60 วันค่ะ
อย่างที่กล่าวไปในตอนข้างต้นค่ะ ว่าสุนัขที่ไม่ได้รับการผสมพันธุ์ในระยะนี้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนก็จะค่อย ๆ ลดลง แต่สำหรับสุนัขที่มีอาการท้องเทียมกลับเกิดเหตุการณ์ที่ตรงกันข้ามค่ะ คือน้องหมาจะมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสูงมาก และลดลงอย่างรวดเร็วคล้ายกับสุนัขที่ตั้งครรภ์ ทำให้ร่างกายเข้าใจผิดว่าเจ้าสุนัขตัวนี้ตั้งท้อง จึงได้ผลิตฮอร์โมนรีแลคตินออกมา ทำให้สุนัขบางตัวมีอาการเหมือนสุนัขที่ตั้งท้องนั่นเองค่ะ
ระยะแอนเอสตรัส (Anestrous)
เดินทางมาถึงระยะสุดท้ายกันแล้วค่ะ ระยะนี้เรียกว่า “ระยะพัก” เป็นระยะที่ร่างกายต้องการการพักและซ่อมแซมมดลูก โดยระยะนี้จะใช้ระยะเวลา 90 – 150 วันเลยทีเดียวค่ะ เมื่อระยะนี้จบไปสุนัขก็พร้อมที่จะเข้าสู่รอบการติดสัดรอบต่อไปค่ะ แต่ปกติแล้วการติดสัดของสุนัขจะเกิดขึ้นแค่ปีละ 2 ครั้งเท่านั้นค่ะ!
สุนัขใกล้คลอด สังเกตุยังไง?
จริง ๆ แล้ว สุนัขทุกตัวก็จะมีอาการใกล้คลอดที่แตกต่างกันออกไป แต่หลัก ๆ แล้วก็จะมีอาการที่แสดงออกมาตอนใกล้คลอดคล้าย ๆ กัน คือ
หนีไปทำรัง!
เห็นคำว่าหนีไปทำรังแล้ว หลาย ๆ คนอาจจะสับสนมึนงงว่า สุนัขเนี่ยนะทำรัง!? จะบอกว่าใช่ค่ะ แต่การทำรังของสุนัขไม่ได้เหมือนกับการทำรังของนกที่ไปคาบหญ้ามาประกอบเป็นรังนะคะ แต่หมายถึงการที่สุนัขเตรียมพื้นที่ส่วนตัว สำหรับไว้รองรับให้ลูกสุนัขที่อยู่ในท้องของพวกมันได้มีที่อยู่นั่นเองค่ะ
ไม่อยากอาหาร
ในช่วงใกล้คลอดหรือในวันที่สุนัขจะคลอดลูก สุนัขส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยอยากอาหารค่ะ ในช่วงที่สุนัขของเรามีอาการดังกล่าว ให้เราลองสังเกตุน้องหมาของเราดี ๆ ว่ามีอาการอื่นร่วมด้วยหรือเปล่า เพราะบางครั้งการที่น้องเบื่ออาหารอาจจะเกิดจากการที่ร่างกายติดเชื้อได้ค่ะ ต้องสังเกตุดี ๆ เลย!
อวัยวะเพศขยายใหญ่ขึ้น
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นเลยค่ะ ว่าสุนัขในช่วงที่พวกมันใกล้จะคลอดอวัยวะเพศของพวกมันจะขยายใหญ่ เพื่อรองรับการคลอดลูกนั่นเองค่ะ นอกจากนี้สุนัขที่ใกล้คลอดยังมีเมือกไหลออกมาด้วย ซึ่งสีของเมือกที่ไหลออกมาก็สามารถบอกอาการของสุนัขได้ค่ะ เช่น เมือกสีแดง จะเกิดในสุนัขที่มีการแท้งลูก ถ้าสุนัขบ้านไหนมีเมือกสีแดงออกมา ให้พาน้องไปพบสัตวแพทย์ด้วย ๆ เลยค่ะ! สำหรับเมือกสีน้ำตาล เจ้าเมือกสีนี้จะเกิดขึ้นเมื่อสุนัขใกล้จะคลอดนั่นเองค่ะ และยังมีเมือกสีเขียวสดที่เกิดจากการลอกหลุดของรกกับเยื่อบุมดลูก ถ้ามีเมือกสีนี้ออกมาเมื่อไหร่ ณ ตอนนั้นลูกสุนัขต้องออกตามมาด้วย แต่ถ้าเวลาผ่านไปแล้วลูกสุนัขยังไม่ออกมา ต้องรีบพาสุนัขของเราไปพบแพทย์ด่วนค่ะ!
มีน้ำนมไหลออกมา
เมื่อไหร่ที่สุนัขมีน้ำนมไหลออกมา นั่นหมายความว่าอีกไม่เกิน 24 ชั่วโมง สุนัขของเราก็จะคลอดลูกออกมาแล้วนั่นเองค่ะ แต่ถ้าสุนัขของเราเคยมีลูกมาก่อนแล้ว ส่วนใหญ่จะมีน้ำนมไหลเป็นเวลาหลายวันก่อนคลอดค่ะ
ตัวเย็นลง
ถ้าเราตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของสุนัขอยู่บ่อย ๆ เราอาจจะสามารถสังเกตได้ค่ะว่าสุนัขเราใกล้ถึงเวลาคลอดแล้วหรือยัง โดยปกติแล้วสุนัขที่ใกล้จะคลอดอุณหภูมิของร่างกายมักจะลดลงถึง 2 องศาฟาเรนไฮต์กันเลยทีเดียว! ซึ่งโดยปกติแล้วอุณหภูมิของร่างกายสุนัขจะอยู่ที่ประมาณ 100 – 102.8 องศาฟาเรนไฮต์ แต่ในช่วงที่สุนัขใกล้คลอดอุณหภูมิจะต่ำกว่า 100 องศาฟาเรนไฮต์ค่ะ
สำหรับการจัดอุณหภูมิร่างกายของสุนัขนั้น สามารถวัดได้โดยการเสียบเข้าไปทางก้นค่ะ ซึ่งใช้เวลาแค่ 30 วินาทีก็สามารถรับรู้อุณหภูมิร่างกายของเจ้าสุนัขได้แล้ว บ้านไหนสงสัยว่าสุนัขใกล้คลอด ก็ลองจับน้องมาวัดอุณหภูมิดูสิคะ จะได้รู้ว่าน้องใกล้คลอดแล้วยังน้า~
การดูแลน้องหมาหลังคลอด
สร้างพื้นที่ส่วนตัว
หลังสุนัขคลอดลูกเราควรสร้างพื้นที่ส่วนตัวให้สุนัขของเราและลูกสุนัขได้อยู่ด้วยกัน ซึ่งสถานที่ที่จะเราจะสร้างให้เป็นพื้นที่ส่วนตัวของสุนัขนั้น ควรเป็นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก มีลมพัดอยู่ตลอดเวลา ไม่มีสัตว์อื่น ๆ มารบกวน โดยเฉพาะสุนัขที่อาจจะเข้ามาทำร้ายลูกสุนัขของเราได้!
หลังคลอด อย่าเพิ่งอาบน้ำ!
โดยปกติแล้วสุนัขหลังคลอด พวกมันจะมีเลือดไหลออกจากปากช่องคลอดเยอะมาก ๆ แต่ไม่มีกลิ่น โดยปริมาณเลือดที่ไหลออกมาจะลดปริมาณลงเรื่อย ๆ และหยุดไหลไปเองค่ะ ซึ่งโดยปกติแล้วเลือดจะไหลแค่ 2 – 3 สัปดาห์เท่านั้น โดยปกติแล้วสุนัขจะกำจัดเลือดที่ไหลออกมาด้วยตัวเอง แต่ถ้ากลัวไม่สะอาดก็อาจจะใช้ผ้าชุบน้องอุ่นหมาด ๆ แล้วนำมาเช็ดตัวแทนค่ะ ไม่ควรให้อาบน้ำสุนัขทันทีหลังคลอด เพราะการอาบน้ำใช้เวลาค่อนข้างนาน และสุนัขหลังคลอดก็จะเป็นห่วงลูกของพวกมันนั่นเองค่ะ
ให้อาหารที่มีพลังงานสูง
สำหรับสุนัขที่เพิ่งคลอดลูก เราควรให้อาหารที่มีพลังงานสูง เพราะหลังคลอดลูกประมาณ 2-3 วัน แม่สุนัขจะมีความอยากกินอาหารเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าเลยทีเดียวค่ะ ถ้าบ้านใครให้อาหารเม็ดกับน้องหมา ในช่วงนี้อาจจะต้องให้อาหารเม็ดสูตรลูกสุนัขแทนจะดีกว่า เพราะว่าอาหารเม็ดสำหรับลูกสุนัขจะมีสารอาหารมากกว่าสูตรอื่น ๆ ค่ะ
อย่าให้สุนัขกินแคลเซียมเยอะเกินไป!
มาถึงตรงนี้หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า ทำไมเราถึงห้ามไม่ให้สุนัขกินแคลเซียมเยอะกันนะ ไม่ใช่ว่ายิ่งได้รับแคลเซียมเยอะ ๆ จะยิ่งดีต่อสุขภาพเหรอ? จะบอกว่าการได้รับแคลเซียมในปริมาณที่พอดี จะทำให้สุนัขมีสุขภาพที่ดีค่ะ แต่ถ้าหากได้รับในปริมาณที่มากเกินไปก็อาจจะส่งผลเสียต่อร่างกายได้ เช่น เป็นไข้น้ำนม กระวนกระวายใจ เป็นต้น
เก็บรกไว้ก่อน!
หลังจากแม่สุนัขคลอดลูกออกมา เราอย่าเพิ่งเก็บรกไปทิ้งนะคะ เพราะในรกถือเป็นสารอาหารชั้นดีสำหรับสุนัขเลยทีเดียว! บางครั้งสุนัขอาจจะอยากกินรกเพื่อรับสารอาหารทั้งหมดที่เคยให้ลูก ๆ ไปในตอนตั้งท้องนั่นเองค่ะ แต่ถ้าสุนัขไม่กินก็ค่อยเก็บไปทิ้งทีหลังก็ได้ค่ะ แต่แค่อย่าเพิ่งรีบทิ้งเท่านั้นพอ!
ตรวจสุขภาพก็สำคัญนะ
การตรวจสุขภาพสุนัขหลังคลอดก็สำคัญค่ะ หลังคลอดเราควรหาเวลาพาแม่สุนัขและลูกสุนัขไปหาสัตวแพทย์ เพื่อดูอาการของแม่สุนัขว่าฟื้นฟูหลังคลอดได้ดีแค่ไหน แล้วลูกสุนัขมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงดีหรือเปล่านั่นเองค่ะ~
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ได้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุนัขตั้งท้องไปเยอะเลยใช่ไหมล่ะ~ PetPlease หวังว่าทุกคนจะนำความรู้ไปดูแลสุนัขที่บ้านที่กำลังตั้งท้องกันน้า ไว้เจอกันใหม่ในบทความหน้านะคะ รับรองว่าทุกคนจะได้รับความรู้แบบจัดเต็มอีกแน่นอน!
คำถามที่พบบ่อย
Q : สุนัขจำเป็นต้องฝากครรภ์ไหม?
A : ถ้าหากเรารู้ว่าสุนัขตั้งท้อง การพาไปฝากครรภ์เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ค่ะ เพราะการฝากครรภ์จะทำให้เราทราบได้ว่าลูกสุนัขในท้องมีกี่ตัว และจะคลอดวันไหน นอกจากนี้การพาสุนัขไปหาหมอถือว่าเป็นการตรวจสุขภาพและความพร้อมของแม่สุนัขไปในตัวอีกด้วยค่ะ
Q : สุนัขแพ้ท้องได้ไหม?
A : สุนัขสามารถแพ้ท้องได้ค่ะ แต่อาการแพ้ท้องของสุนัขกับคนเราจะไม่เหมือนกัน อาการแพ้ท้องของสุนัขที่เราสามารถสังเกตได้คือ อาเจียน หรือมีนิสัยที่เปลี่ยนไปก็ได้ค่ะ
Q : สุนัขตั้งท้องออกกำลังกายได้ไหม?
A : ในช่วงแรก ๆ สุนัขที่ตั้งท้องสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้รวมถึงการออกกำลังกายก็ด้วย แต่ไม่ควรออกกำลังกายแบบผาดโผน เช่น การกระโดดคาบสิ่งของ เป็นต้น และในช่วงที่ใกล้คลอดอาจจะต้องงดการออกกำลังกายไปก่อนค่ะ
Q : สุนัขตั้งท้องนานกี่วัน?
A : สุนัขตั้งท้องประมาณ 62 – 64 วัน หรือประมาณสองเดือนนั่นเองค่ะ แต่การตั้งท้องก็จะมีระยะเวลาแตกต่างกันออกไปในแต่ละสายพันธุ์
Q : สุนัขสามารถมีลูกได้กี่ตัว?
A : ถ้าเป็นสุนัขสายพันธุ์ใหญ่จะมีลูกต่อครอกประมาณ 6-8 ตัว แต่ถ้าเป็นสุนัขพันธุ์เล็กจะมีลูกแค่ 2-5 ตัว และอาจจะต้องผ่าคลอดด้วยค่ะ!
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- False Pregnancy or Pseudopregnancy in Dogs
- False Pregnancy in Dogs
- การดูแลแม่และลูกสุนัขหลังคลอด
- Dog Pregnancy: Signs, Care, and Preparing for Puppies
- Dog Pregnancy, Birth, and Postpartum Care: The Complete Guide
AUTHOR: MEW
2023, MARCH 11