วันนี้ PetPlease จะพาทุกคนไปเยี่ยมชมโรงพยาบาลสัตว์ใจกลางกรุง ที่โรงพยาบาลสัตว์เล็กจุฬาฯ กัน สถานพยาบาลกลางเมืองแห่งนี้จะคอยให้ความช่วยเหลือแก่สัตว์เลี้ยงตัวน้อยของคุณเอง
ประวัติความเป็นมาของโรงพยาบาลสัตว์เล็กจุฬาฯ
โรงพยาบาลสัตว์เล็กจุฬาฯ ตั้งอยู่ที่เลขที่ 39 ถนนอังรีดูนังต์ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 เป็นโรงพยาบาลสัตว์ในความดูแลของคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดทำการมาแล้วกว่า 69 ปี
ในปี พ.ศ. 2478 แผนกสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ใช้พื้นที่การเรียนที่คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งปี พ.ศ.2482 จึงย้ายไปที่ทุ่งพญาไท ใกล้กับโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งในขณะนั้นแผนกสัตวแพทย์ใช้เวลาเรียนเพียง 5 ปี และยังไม่มีการก่อตั้งโรงพยาบาลสัตว์เล็กแต่อย่างใด โดยในปีนั้น Dr. R. P. Jones ได้มาช่วยสอนสัตวแพทย์ จนมีสงครามเอเชียบูรพา ในปี พ.ศ.2484 ทางแผนกสัตวแพทย์ได้ย้ายใช้สถานที่เรียนของคณะเภสัชศาสตร์ในการจัดการเรียนการสอน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2485 แผนกสัตวแพทย์ได้ย้ายสังกัดไปอยู่กรมแพทยศาสตร์ เลื่อนฐานะขึ้นเป็นคณะสัตวแพทยศาสตร์ และทำการเรียนการสอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเวลา 2 ปี และที่ราชวิถีเป็นเวลา 3 ปี จนปี พ.ศ. 2490 ได้รับตึกเรียนและมีการเรียนการสอนที่ราชวิถีเช่นเดิม จนกระทั่งมีโรงพยาบาลสัตว์ขึ้น โดยมี Dr. R. P. Jones เป็นผู้ช่วยดูแลเรื่องการรักษาสัตว์
จนปี พ.ศ. 2496 บริเวณที่ตั้งของคณะสัตวแพทย์ที่ราชวิถีถูกโอบล้อมด้วยศูนย์การแพทย์ จึงต้องย้ายคณะสัตวแพทย์มาอยู่ที่จุฬาซอย 12 หรือซอย 62 ในปัจจุบัน และมีโรงพยาบาลสัตว์ขึ้นที่นี่ โดยมี Dr. Jones ช่วยดูแลเช่นเดิม
จนปี พ.ศ. 2497 คณะสัตวแพทยศาสตร์ถูกย้ายไปสังกัดที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กระทรวงเกษตร แต่เรียนที่ถนนอังรีดูนังต์ในช่วง 3 ปีสุดท้าย จนปี พ.ศ. 2498 หลักสูตรปรับเพิ่มขึ้นจาก 5 ปี เป็น 6 ปี
ในปี พ.ศ. 2502 คณะสัตวแพทยศาสตร์ถูกโอนไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี จวบจนปี พ.ศ. 2510 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้โอนคณะสัตวแพทยศาสตร์ ส่วนที่ตั้งอยู่ที่ปทุมวันกลับมาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างสมบูรณ์
กล่าวคือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 ได้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสัตว์เล็กขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว และรับผิดชอบในส่วนการรักษาสัตว์หลายชนิดทั้งสุนัข แมว ไปจนถึงม้า โดยมี Dr. R. P.Jones เป็นที่ปรึกษาและดูแลการรักษาสัตว์ จนท่านถึงแก่กรรมลงในปี พ.ศ. 2502 และ ศ.น.สพ.เตียง ตันสงวน ได้รับมอบหมาย ให้ดูแลกิจการการรักษาสัตว์ต่อมา จากนั้นได้มีผู้อำนวยการโรงพยาบาลต่อมาเรื่อย ๆ จนปัจจุบัน
ปัจจุบัน โรงพยาบาลสัตว์เล็กจุฬาฯ เปิดให้บริการทั้งหมด 17 แผนก ดังนี้
- หอสัตว์ป่วยใน
- แผนกชันสูตรโรคสัตว์
- คลินิกอายุรกรรม
- คลินิกศัลยกรรม
- คลินิกสูติกรรม
- คลินิกฉุกเฉิน
- ธนาคารเลือด
- คลินิกผิวหนัง
- คลินิกระบบประสาท
- คลินิกหัวใจ คลินิกระบบขับถ่ายปัสสาวะ คลินิกเบาหวาน
- คลินิกมะเร็ง
- คลินิกสัตว์เลี้ยงพิเศษ
- คลินิกฝังเข็ม
- คลินิกเวชศาสตร์ฟื้นฟู
- ศูนย์โรคแมวเพื่อความเป็นเลิศ
- ศูนย์รังสีวินิจฉัย เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ ซ๊ทีสแกน
- คลินิกจักษุ
การให้บริการ
จันทร์-ศุกร์
- ในเวลา เวลา 08:00 – 15:00 น.
- นอกเวลา เวลา 17:00 – 20:00 น.
เสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
- ในเวลา เวลา 08:00 – 11:00 น.
- นอกเวลา เวลา 13:00 – 20:00 น.
การบริการกรณีฉุกเฉิน
แผนกฉุกเฉินเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง
ขั้นตอนการเข้ารับการรักษา
การทำบัตร
บริการทำบัตร
- วันจันทร์ถึงศุกร์ เปิดทำการเวลา 6:00 – 20:00 น.
- วันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ เปิดทำการเวลา 7:00 – 20:00 น.
ติดต่อห้องเวชระเบียน
ชั้น 1 อาคาร 50 ปี
ทำบัตรใหม่
1. เขียนประวัติในใบฟอร์มขอมีเวชระเบียน โดยแนบสำเนาบัตรประชาชน เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการทำประวัติใหม่
2. ติดต่อเจ้าหน้าที่เวชระเบียน รับบัตรคิว และแนะนำท่านให้นำสัตว์ป่วยไปยังหน่วยตรวจโรค
3. ชั่งน้ำหนักสัตว์ป่วยทุกครั้งที่มารับการรักษา
4. กรุณาพาสัตว์ป่วยไปรอยังหน่วยตรวจโรคตามคำแนะนำ
5. รอพบสัตวแพทย์ตามลำดับคิว
6. รับใบนัดหมาย และใบสั่งยา พร้อมยื่นชำระค่าใช้จ่าย
7. รับใบนัดหมาย และใบสั่งยา พร้อมยื่นชำระค่าใช้จ่าย
ค้นประวัติเก่า
1. ยื่นบัตรโรงพยาบาลหรือใบนัดตรวจโรคพร้อมแจ้งอาการ ณ ห้องเวชระเบียน
2. รับบัตรคิว เพื่อทราบลำดับการตรวจ
3. ชั่งน้ำหนักสัตว์ป่วยทุกครั้งที่เข้ามารับการรักษา
4. กรุณาพาสัตว์ป่วยไปรอยังหน่วยตรวจโรคตามคำแนะนำ
5. รอพบสัตวแพทย์ตามลำดับคิว
6. รับใบนัดหมาย และใบสั่งยา พร้อมยื่นชำระค่าใช้จ่าย
7. รอรับยาและตรวจสอบความถูกต้อง
ช่องทางการติดต่อ
โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 39 ถนนอังรีดูนังต์ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
Google Map : https://g.co/kgs/57vqBC
โทร : 02-218-9751, 02-218-9715
โรงพยาบาลสัตว์เล็กจุฬาฯ ไม่เพียงเป็นสถานที่ให้บริการทางด้านการรักษาหลายชนิด แต่ยังให้บริการความรู้แก่คณาจารย์ นิสิต บุคลากร รวมถึงประชาชนทั่วไปอีกด้วย
หากคุณกำลังมองหาโรงพยาบาลหรือคลินิกสัตว์เลี้ยงเพื่อช่วยดูแลลูกน้อยของคุณอยู่ล่ะก็ อย่าลืมนึกถึงโรงพยาบาลสัตว์เล็กจุฬาฯ นะ