No products in the cart.

ตรวจสุขภาพสุนัขประจำปี จำเป็นมั้ย ควรเริ่มต้นยังไงดี?

แชร์ :

ตรวจสุขภาพสุนัข

ตรวจสุขภาพสุนัขประจำปี จำเป็นมั้ย ควรเริ่มต้นยังไงดี?

ตรวจสุขภาพสุนัขไม่ต้องรอให้น้องแก่ ก็สามารถตรวจได้ สามารถตรวจได้ตั้งแต่น้องย้ายเข้ามาที่บ้านได้เลย ป้องกันอากาศป่วยของน้องได้ และยิ่งสุนัขเริ่มมีอายุที่มากขึ้น เพิ่งผ่านการรักษาหรือมีโรคประจำตัว ยิ่งควรตรวจให้มั่นใจว่าไม่มีอาการหรือโรคอื่นเพิ่มเติม ซึ่งหากทุกท่านกำลังตัดสินใจว่าควรตรวจสุขภาพสุนัขของเรามั้ย อยากให้ลองมาอ่านบทความของ Petplease ดูก่อนว่าการตรวจสุขภาพสัตว์เลี้ยงจำเป็นจริงๆ

  • เหตุผลที่ควรตรวจสุขภาพสุนัขทุกปี
  • 5 การตรวจสุขภาพสุนัขตรวจอะไรบ้าง?
  • การเตรียมตัวสัตว์เลี้ยงก่อนไปตรวจสุขภาพ
  • หมาอายุเท่าไหร่ถึงต้องตรวจสุขภาพ
  • ต้องตรวจสุขภาพของสุนัขบ่อยแค่ไหน?
  • เคล็ดลับการดูแลสุขภาพน้องหมา

เหตุผลที่ควรตรวจร่างกายสุนัขทุกปี

ตรวจสุขภาพสุนัข

1. เพราะลูกๆ สัตว์เลี้ยงไม่สามารถบอกอาการป่วยได้

ความต่างของคน กับสุนัขคือ ถ้าหากคนเราป่วยยังสามารถบอกคนรอบข้าง หรือสามารถพาตัวเองไปรักษาเพื่อให้หายจากอาการป่วยได้ แต่สำหรับสัตว์เลี้ยงแล้วนอกจากจะบอกไม่ได้แล้ว ในสัตว์เลี้ยงบางตัวยังเก็บซ่อนอาการป่วยเอาไว้ตามสัญชาตญาณ ไม่แสดงออกมา ทำให้ผู้เลี้ยงไม่รับรู้ถึงอาการป่วย และกว่าจะรู้ อาการป่วยนั้นก็ทรุดหนัก

2. เพื่อป้องกันโรคร้ายได้ทัน

ในสัตว์เลี้ยงนั้นแม้เราจะเห็นเขายังร่าเริงดีไม่มีสัญญาณป่วยใดๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าร่างกายเขาจะแข็งแรงสมบูรณ์ไม่มีความผิดปกติแฝงอยู่ เพราะโรคร้ายบางอย่างจะใช้เวลาค่อนข้างข้างนานกว่าจะแสดงอาการ เช่น โรคไต กว่าจะแสดงอาการ ไตก็มีปัญหาไปกว่า 75% แล้ว ซึ่งถ้าหากเราตรวจพบสัญญาณของโรคได้เร็ว เราก็จะสามารถป้องกันหรือรักษาได้ทัน

3. ช่วยให้ดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงได้อย่างถูกต้องตามช่วงวัย

แน่นอนว่าการที่เราเลี้ยงสุนัขและแมวสักตัวเราก็อยากให้เขาอยู่กับเราไปนานๆ แต่อย่าลืมว่าอายุไขของเขาสั้นกว่าคน หรือพูดง่ายๆ คือในช่วงเวลาเท่ากัน หมาจะมีอายุร่างกายแก่กว่าเรานั่นเอง เพราะฉะนั้นการพาไปตรวจสุขภาพทุกปีจะทำให้เราได้เห็นพัฒนาการด้านสุขภาพของเขาอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับวิธีการเลี้ยงให้เหมาะสมกับช่วงวัยไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหาร หรือพฤติกรรม ซึ่งการดูแลให้เหมาะสมกับช่วงวัยตามที่สัตวแพทย์แนะนำหลังจากการตรวจร่างกายนี้ก็จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เขามีอายุยืนยาวขึ้นได้

4. ค่าตรวจ ถูกกว่าค่ารักษาเสมอ

สำหรับในสัตว์เลี้ยง หากเรามาทราบในภายหลังว่าอาการป่วยของเขามีอาการทรุดหนักแล้วนั้น แน่นอนว่าค่ารักษาย่อมสูงเป็นธรรมดา แต่หากเราตรวจเจอตั้งแต่เริ่มแรก และทำการดูแลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้ค่าใช้จ่ายย่อมถูกกว่าเสมอ เช่น หากพาน้องสุนัขมาตรวจสุขภาพแล้วคุณหมอพบว่าค่าไตเริ่มมีความผิดปกติ การปรับเปลี่ยนอาหารเพื่อดูแลให้ค่าไตกลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติย่อมมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการรักษาโรคไตอย่างแน่นอน

 การตรวจสุขภาพสุนัขตรวจอะไรบ้าง?

ตรวจสุขภาพสุนัข

การตรวจสุขภาพน้องหมาประกอบไปด้วยการซักประวัติ สอบถามถึงพฤติกรรมของน้องหมา ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด เอกซเรย์ ตรวจปัสสาวะ และอื่น ๆ ตามอายุและประวัติ ดังนี้

1. ตรวจร่างกายน้องหมา

สัตวแพทย์จะทำการตรวจร่างกายภายนอกและสังเกตอาการดังนี้

  • ท่าเดินและยืนของสุนัข
  • สุนัขมีอาการปกติ หรือซึม
  • สุนัขมีน้ำหนัก และสภาพร่างกายที่ปกติหรือไม่
  • สภาพมวลกล้ามเนื้อของสุนัข
  • สภาพขน ตรวจดูจุดที่แห้งเป็นพิเศษ ความมันเป็นพิเศษ รังแค ขนที่ร่วง และจุดที่ขนร่วงเป็นพิเศษ
  • ผิวหนัง จุดที่มัน แห้ง รังแค ตุ่ม หูด บริเวณที่แข็ง ฯลฯ
  • ดวงตา ตรวจดูอาการตาแดง การเปิด-ปิดดวงตา สารคัดหลั่ง น้ำตาไหลผิดปกติ ตุ่มหรือหูดบนเปลือกตา ตาขุ่น ฯลฯ
  • หู ตรวจดูสารคัดหลั่งที่ออกจากหู ผิวหนังแข็ง ขนร่วง ฯลฯ
  • จมูกและหน้า ดูความสมดุล การหายใจ และอาการบนผิวหนังอื่น ๆ 
  • ปากและฟัน ตรวจดูหินปูน อาการด้านช่องปาก ฟันน้ำนมที่ยังไม่หลุด ฟันหัก อาการมีน้ำลายมากผิดปกติ แผลต่าง ๆ 
  • ตรวจดูเห็บตามร่างกาย และหากพบคุณหมอจะสั่งให้ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกัน

2. ฟังเสียงอวัยวะภายใน

สัตวแพทย์จะใช้หูฟังฟังสิ่งที่เกิดขึ้นภายในร่างกายสุนัข ดังนี้

  • ฟังเสียงหัวใจ ตรวจว่าจังหวะการเต้นของหัวใจ ดูอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือเต้นเร็วไป เสียงฟู่ของหัวใจ และอื่น ๆ
  • ฟังเสียงปอด หาเสียงหายใจที่ผิดปกติ

3. คลำสำรวจอาการ

หลังจากตรวจร่างกายภายนอกและฟังเสียงผ่านหูฟังแล้ว คุณหมอจะทำการคลำเพื่อสำรวจอาการต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามร่างกาย

  • จังหวะการเต้นของหัวใจ โดยนอกจากใช้หูฟังฟังเสียงแล้ว สัตวแพทย์ยังอาจจะใช้มือคลำเพื่อสัมผัสชีพจรที่ขาของสุนัข
  • ต่อมน้ำเหลืองบริเวณศีรษะ คอ และขาหลัง ตรวจดูว่ามีอาการเจ็บหรือบวมหรือไม่
  • ขา ตรวจหาอาการกะเผลก ปัญหากล้ามเนื้อ ปัญหาเส้นประสาท แผลบริเวณอุ้งเท้าและเล็บเท้า
  • หน้าท้อง สัมผัสบริเวณกระเพาะปัสสาวะ ไต ตับ ลำไส้ ม้าม และท้องเพื่อประเมินว่าอวัยวะเหล่านี้มีอาการผิดปกติหรือไม่ หรือมีสัญญาณของความเจ็บป่วยด้วยหรือเปล่า

4. ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่าง

อาการหลาย ๆ อย่างไม่สามารถบอกได้ด้วยการตรวจภายนอก จำเป็นต้องทำผ่านการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และตรวจอุจจาระ โดยสามารถตรวจตัวอย่างได้ดังนี้

ตรวจวิเคราะห์อุจจาระ

สัตวแพทย์อาจแนะนำให้เก็บตัวอย่างอุจจาระใหม่มาด้วย โดยจะมีการตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาไข่ปรสิต สำหรับลูกสุนัขจะแนะนำให้ทำการตรวจทุกเดือนเนื่องจากลูกสุนัขอาจมีปรสิตภายใน 

ตรวจเลือด

การตรวจเลือดนั้นสามารถช่วยให้คุณหมอทราบว่าน้องหมากำลังมีอาการของโรคใด หรือมีภาวะอะไรเกิดขึ้นบ้าง โดยสามารถเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจหาพยาธิหนอนหัวใจ ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ค่าชีวเคมีในเลือด เช่นระดับน้ำตาลในเลือด ค่าตับ ค่าไต ฯลฯ 

การตรวจอื่น ๆ 

การตรวจปัสสาวะ ซึ่งนอกจากจะให้เจ้าของรองฉี่ของน้องหมาไว้ ก็ยังสามารถเจาะเพื่อเก็บจากช่องท้องและสวนท่อปัสสาวะได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีการตรวจฮอร์โมนไทรอยด์ของสุนัข

5. เอกซเรย์ปอดและช่องท้อง

เป็นการตรวจที่แนะนำสำหรับสุนัขสูงวัย โดยจะมีการเอกซเรย์ช่องปอดและช่องท้องเพื่อประเมินอวัยวะภายในอย่างหัวใจ ปอด ไต ตับ รวมถึงกระดูกเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงในกระดูกและข้อ

การเตรียมตัวสัตว์เลี้ยงก่อนไปตรวจสุขภาพ

ตรวจสุขภาพสุนัข

คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมข้อมูลส่วนตัวของสัตว์เลี้ยง เช่น สมุดบันทึกประวัติการทำวัคซีน หากมีอาการเจ็บป่วยให้แจ้งคุณหมอ เช่น มีอาการเกา คันผิวหนัง เบื่ออาหาร มีคราบน้ำตาเยอะ หรือความผิดปกติที่เจ้าของสังเกตได้ในช่วงก่อนวันตรวจสุขภาพอย่างน้อย 2 วัน ควรงดการอาบน้ำ หรือทำความสะอาดผิวหนังและช่องหู

ในกรณีที่ต้องตรวจเลือด ให้สัตว์เลี้ยงงดอาหารและขนมก่อนเจาะเลือดประมาณ 8 ชั่วโมงขึ้นไปแต่ไม่ต้องงดน้ำ หากมีการตรวจวิเคราะห์อุจจาระหรือปัสสาวะ ให้สอบถามทางสัตวแพทย์ก่อนว่าต้องเก็บตัวอย่างไปด้วยหรือไม่

สุนัขอายุเท่าไหร่ถึงต้องตรวจสุขภาพ

ตรวจสุขภาพสุนัข

สุนัขควรตรวจสุขภาพตั้งแต่เป็นลูกสุนัข โดยควรตรวจทุก ๆ 1 เดือนเพื่อให้มั่นใจว่าน้องหมาสุขภาพแข็งแรง โดยเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ก็สามารถตรวจทุก ๆ ปี และเมื่อเข้าสู่วัยชราให้ตรวจสุขภาพทุก 6 เดือน

ต้องตรวจสุขภาพของสุนัขบ่อยแค่ไหน?

การตรวจสุขภาพสุนัขจะเกิดขึ้นในสุนัขที่สุขภาพดี หรือไม่มีอาการผิดปกติ โดยจะมีการตรวจสุขภาพทุก 6-12 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่าน้องหมาไม่ได้มีโรคต่าง ๆ เกิดขึ้น สำหรับลูกสุนัขแนะนำให้ตรวจทุกเดือน อาจทำการตรวจไปพร้อม ๆ กับการทำวัคซีน ส่วนในสุนัขวัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ สามารถตรวจได้ทุก ๆ ปี และในสุนัขสูงวัย ควรตรวจทุก ๆ 6 เดือน ซึ่งสุนัขแต่ตัวก็จะมีช่วงแก่ที่แตกต่างกันไปตามขนาดและพันธุ์ สามารถให้สัตวแพทย์แนะนำช่วงเวลาที่เหมาะสมได้

เคล็ดลับการดูแลสุขภาพน้องหมา

ตรวจสุขภาพสุนัข

แน่นอนว่าไม่มีเจ้าของคนไหนอยากเห็นสุนัขต้องมาทรมานจากอาการเจ็บป่วย โดยเฉพาะในวัยบั้นปลายของชีวิต ซึ่งหากอยากให้สุนัขมีสุขภาพดีอยู่ตลอด เรามีเคล็ดลับดังนี้

พบสัตวแพทย์เป็นประจำ

การพบสัตวแพทย์เป็นประจำ รวมถึงการได้รับวัคซีน ยากำจัดเห็บหมัด ยาถ่ายพยาธิ ฯลฯ อย่างต่อเรื่อง ก็จะช่วยให้น้องหมาห่างไกลโรคฮิตของสุนัขได้ นอกจากนี้การพบคุณหมอเป็นประจำก็จะทำให้มีโอกาสตรวจพบอาการผิดปกติต่าง ๆ ได้ไวขึ้น

ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายจะให้น้องหมากระฉับกระเฉง ห่างไกลโรคอ้วน ไม่เครียดจากการอยู่ในที่แคบนานเกินไป และยังมีความสัมพันธ์อันดีกับเจ้าของ 

ทานอาหารที่ดีในปริมาณที่เหมาะสม

เจ้าของสามารถปรึกษาสัตวแพทย์สำหรับปริมาณอาหารที่เหมาะสมให้การให้สุนัขตามช่วงวัยและตามการออกกำลังกาย แต่เมื่อสุนัขเริ่มสูงวัย เราควรเลือกอาหารหมาแก่ที่มีไฟเบอร์สูง ดีกับกระดูกและข้อ ลดโซเดียม และเพิ่มวิตามิน รวมถึงสารอาหารเพื่อบำรุง

แพ็คเกจตรวจสุขภาพของสุนัข

สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่ามีโรงพยาบาลสัตว์ที่ไหนที่มีเครื่องมือครบวงจรบ้าง แล้วราคามีแบบไหนบ้าง Petplease ก็รวมมาไว้ให้แล้ว ทุกท่านสามารถทักมาสอบถามรายละเอียดเพิมเติมได้เลยค่ะ 

สรุปก็คือเราควรพาน้องๆไปตรวจสุขภาพเท่าที่จะมีโอกาสกันนะคะ สัตว์เลี้ยงของเราพูดไม่ได้ว่าเขาเจ็บป่วยหรือรู้สึกไม่ดี การตรวจสุขภาพสัตว์เลี้ยงถือเป็นการหาต้นตอ อย่าปล่อยให้สายเกินแก้ เราอาจจะสูญเสียสัตว์เลี้ยงที่น่ารักของเราไปได้นะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก

AUTHOR: CALLA LILY

2024, JUL 5

บทความอื่นๆ

ขูดหินปูนสุนัขและแมว!? ปล่อยให้หินปูนเยอะเสี่ยงโรคหลายอย่างจริงมั้ย
ทำหมันสุนัข ไม่ได้อันตรายอย่างที่คิด เพื่อสุขภาพที่ดีของน้องๆ
เพดานอ่อนในสุนัข อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม !!
11 สัญญาณบ่งบอกว่าน้องหมากำลังป่วย
ทำความรู้จัก “คารอบ” สารทดแทนช็อคโกแลตที่ดีสำหรับสุนัขกันเถอะ!
รู้ไหม!? สีฉี่ของเจ้าตูบสามารถบอกโรคได้นะ