สัตว์ ไม่ว่าจะเป็น สัตว์เลี้ยงหรือสัตว์อื่น ๆ ที่เราพบได้ในชีวิตประจำวัน อาจจะดูไม่มีพิษสง ไม่มีความร้ายกาจใด ๆ แต่ไม่ได้แปลว่าการเล่นกับพวกสัตว์เหล่านั้นจะไม่มีความเสี่ยงนะคะ เพราะมีสิ่งหนึ่งที่ต้องระวังให้ดีเลยก็คือเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพอย่างเรื่องโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน หรือ ที่เรียกภาษาอังกฤษว่า “Zoonoses” นั่นเองค่ะ
มีอยู่หลายโรคด้วยกันที่ผู้คนมีโอกาสติดเชื้อได้ โดยผ่านการติดต่อจากสัตว์มาสู่คน และติดต่อจากคนไปสัตว์ได้ด้วย โรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนพบได้ทั้ง เชื้อรา เชื้อราโปรโตซัว แบคทีเรีย รวมถึงไวรัสด้วยค่ะ แต่วันนี้ PetPlease จะพาทุกคนไปรู้จักกับโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนทั้งหมด 9 โรคด้วยกัน จะมีอะไรบ้าง แล้วต้องป้องกันอย่างไร เลื่อนลงมาอ่านกันเล้ย!
บทความนี้ขอนำเสนอ
- โรคติดต่อคืออะไร
- โรคพวกนี้ติดต่อผ่านทางไหนกันนะ?
- โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่พบบ่อยมีอะไรบ้าง?
- คำถามที่พบบ่อย
โรคติดต่อคืออะไร
โรคติดต่อ หมายถึง หมายถึง โรคที่เกิดจากการติดเชื้อและสามารถติดต่อระหว่างคนและสัตว์ ซึ่งการติดต่ออาจติดต่อจากสัตว์มายังคน หรือจากคนไปยังสัตว์ก็ได้ แต่การติดต่อนั้นต้องเป็นไปโดยธรรมชาติ
โรคพวกนี้ติดต่อผ่านทางไหนกันนะ?
โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนสามารถติดต่อได้จาก 4 ทางหลัก ๆ คือ
- การสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นโรค หรือมูลสัตว์ที่เป็นโรค
- ถูกกัดจากสัตว์ที่เป็นโรค เช่น สุนัข แมว กระต่าย
- บริโภคสัตว์ที่เป็นโรค เช่น นก หนู หมู วัว ค้างคาว งู ต่าง ๆ
- หายใจเอาเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคเข้าสู่ร่างกาย
โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่พบบ่อยมีอะไรบ้าง?
โรคไข้เลือดออก (Dengue)
โรคไข้เลือดออกถือว่าเป็นโรคฮอตฮิตในช่วงหน้าฝนของประเทศไทยเลยล่ะค่ะ ซึ่งอาการของโรคนี้มีตั้งแต่ไม่รุนแรงไปจนถึงรุนแรงมากเลยค่ะ
- พาหะสำคัญของโรคไข้เลือดออก
พาหะของโรคนี้อย่างที่ทุกคนรู้กันเลยค่ะ ว่ามาจาก “ยุง” แต่จะเป็นยุงเพศเมียเท่านั้นที่จะเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกได้ ซึ่งยุงที่เป็นพาหะนั้น จะเกิดจากการที่ยุงไปกัดหรือไปดูดเลือดจากผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ ซึ่งผู้ป่วยจะต้องมีเชื้อไวรัสอยู่ในกระแสเลือดด้วย โดยเมื่อยุงดูดเลือดไปแล้ว เชื้อตัวนี้ก็จะเข้าไปฟักตัวในยุงประมาณ 8-12 วัน และหลังจากนั้นเมื่อยุงที่ติดเชื้อไปกัดหรือดูดเลือด ก็จะทำให้คนคนนั้นที่โดนกัดติดเชื้อและป่วยหลังจากโดนกัดหรือดูดเลือดประมาณ 3-15 วันค่ะ
- อาการของโรคไข้เลือดออก
อาการของโรคไข้เลือดออกนั้น จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่ก็จะมีอาการที่พบเห็นทั่วไป เช่น มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส ปวดกล้ามเนื้อและข้อ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เป็นต้น และในบางรายที่มีอาการรุนแรง อาจจะมีอาการเหล่านี้ เช่น ถ่ายออกมาเป็นเลือด หรืออาจจะมีอาการกระสับกระส่าย ปลายมือปลายเท้าเย็น ปัสสาวะน้อยลง ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ความดันโลหิตลดต่ำ วัดชีพจรไม่ได้ ซึ่งเป็นอาการของอาการไข้เลือดออกช็อกนั่นเองค่ะ เป็นอาการที่อันตรายมาก ๆ ดังนั้นหากเริ่มรู้ว่าตัวเองเป็นไข้เลือดออกหรือสงสัยว่าตัวเองเป็นโรคนี้ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยด่วน!
- การดูแลตัวเองเบื้องต้น
- รับประทานอาหารและดื่มน้ำอย่างเพียงพอ
ในช่วงแรกให้รับประทานอาหารอ่อน ๆ และงดอาหาร เครื่องดื่มที่มีสีดำ แดง น้ำตาล เพื่อไม่ให้สับสนกับภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารค่ะ
- ลดไข้
แนะนำให้ลดไข้โดยการเช็ดตัวด้วยอุ่น โดยใช้ผ้าถูตัวชุบน้ำบิดหมาด ๆ แล้วเริ่มเช็ดที่ใบหน้า คอ หลังหู จากนั้นจึงค่อยประคบตามซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ ข้อพับต่าง ๆ และอาจจะทานยาพาราตามแพทย์สั่งควบคู่กับการเช็ดตัวได้ค่ะ ห้ามใช้ยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน หรือยากลุ่ม non-steroidal amti-inammatory drug (NSAID) เพราะอาจทำให้เลือดเสียการทำงาน เลือดออกง่ายและมากขึ้นได้ค่ะ
- สังเกตุอาการ
หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนมาก อ่อนเพลีย ปวดท้อง รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำไม่ได้ หรือสงสัยว่าจะเกิดภาวะช็อก ให้รีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ให้ไวที่สุดค่ะ!
โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)
โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เกิดจากเชื้อพิษสุนัขบ้า หรือ rabies virus ด้วยชื่อของโรคอาจจะทำให้หลาย ๆ คนเข้าใจผิดว่า โรคนี้ติดจากสุนัขเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว โรคนี้เป็นโรคติดต่อจากสัตว์เลือดอุ่นโดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม และติดต่อมาสู่คนจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลีย บริเวณที่มีแผลรอยข่วนนั่นเองค่ะ
- พาหะสำคัญของโรคพิษสุนัขบ้า
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นในตอนแรกค่ะ ว่าโรคนี้ไม่ได้มีแค่สุนัขเท่านั้นที่เป็นพาหะ แต่ยังมีสัตว์เลือดอุ่นเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ ก็เป็นพาหะเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นแมว หนู กระต่าย และสัตว์อื่น ๆ ก็สามารถมีเชื้อพิษสุนัขบ้าได้เช่นกันค่ะ ซึ่งโรคนี้สามารถติดต่อได้จากการที่โดนสัตว์ที่มีเชื้อกัด ข่วน และเลียบริเวณที่มีแผลจนทำให้ติดเชื้อได้ และโดยส่วนใหญ่จะมีอาการหลังจากรับเชื้อประมาณ 15-60 วัน บางรายอาจน้อยกว่า 10 วัน หรือนานเป็นปีขึ้นอยู่กับปริมาณของเชื้อที่ได้รับค่ะ
- อาการของโรคพิษสุนัขบ้า
อาการของโรคพิษสุนัขบ้าจะแบ่งออกมาเป็น 3 ระยะ ในระยะเริ่มต้นจะมีอาการไข้ต่ำ เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย และต่อมาจะมีอาการคันบริเวณแผลที่ถูกกัด มีอาการคลุ้มคลั่ง ต่อมาในระยะที่สองผู้ป่วยจะมีอาการทางระบบประสาท โดยจะมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสง ไม่ชอบเสียงดัง กระวนกระวาย มีอาการหนาวสั่น กลืนลำบากโดยเฉพาะของเหลว อย่างเช่นน้ำ เพราะร่างกายจะมีอาการเกร็ง ทำให้ไม่อยากดื่มน้ำนั่นเองค่ะ และในระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะมีอาการเกร็ง หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก กล้ามเนื้อกระตุก รวมถึงแขนขาอ่อนแรงลง หมดสติและเสียชีวิตในที่สุด
- การดูแลตัวเองเบื้องต้น
จริง ๆ แล้วโรคพิษสุนัขบ้านั้นในปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคนี้ให้หายขาด ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้จะเสียชีวิตทุกราย แต่ก็ยังมีวิธีการป้องกันโรคนี้ได้อยู่บ้าง เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทั้งกับตัวเราและสัตว์เลี้ยงของเราค่ะ นอกจากนี้ยังมีวิธีป้องกันอื่น ๆ เช่น ไม่เจ่นกับแมวหรือสุนัขจรจัดเพื่อหลีกเลี่ยงการโดนกัดหรือข่วนที่เราคาดไม่ถึงนั่นเองค่ะ
โรคฉี่หนู (Leptospirosis)
โรคฉี่หนูหรือเรียกอีกอย่างว่าโรคเล็ปโตสไปโรซิส เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่เกิดขึ้นได้ทั้งกับคนและสัตว์ โดยการติดเชื้อในคนส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากการสัมผัสดิน น้ำ อาหารที่ปนเปื้อนปัสสาวะ เลือด เป็นต้นค่ะ ซึ่งปกติแล้วโรคนี้มักจะระบาดในช่วงหน้าฝน เนื่องจากน้ำฝนจะชะล้างพาเชื้อโรคต่าง ๆ มาอยู่รวมกันในบริเวณที่มีน้ำท่วงขัง และเมื่อเท้าเราไปสัมผัสกับน้ำก็อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้นั่นเองค่ะ
- พาหะสำคัญของโรคฉี่หนู
โดยพาหะของโรคฉี่หนูเนี่ย หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่ามาจากหนูเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วพาหะของโรคนี้มาจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์ที่เป็นพาหะค่ะ ไม่ว่าจะเป็น หนู หมู วัว ควาย สุนัข เป็นต้น
- อาการของโรคฉี่หนู
ผู้ติดเชื้อจากโรคฉี่หนูจะสามารถแสดงอาการได้ตั้งแต่ 2-30 วันหลังได้รับเชื้อ แต่ส่วนใหญ่มักแสดงอาการในช่วงประมาณ 7-14 วัน ซึ่งอาการของโรคนี้มีตั้งแต่ไม่มีอาการเลย มีอาการอ่อน ๆ ไปจนถึงขั้นรุนแรงถึงชีวิตได้เลยค่ะ!
ในกลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง จะมีอาการของโรคดังนี้ มีไข้สูงทันที ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งอาการดังกล่าวคล้ายกับโรคติดต่ออื่น ๆ หลายชนิด เช่น โรคไข้เลือดออก แต่ก็จะมีอาการที่พบเฉพาะในผู้ป่วยโรคฉี่หนู ก็คือ อาการปวดกล้ามเนื้อที่รุนแรง ตาแดง เลือดออกใต้ตาขาว เป็นต้น
และในกลุ่มที่มีอาการรุนแรง ก็จะมีอาการคล้าย ๆ กลุ่มแรก แต่จะมีอาการแทรกซ้อนมาด้วยค่ะ เช่น ตาเหลือง ตัวเหลือง คอแข็ง สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้นั้นต้องรีบพบแพทย์ เพื่อป้องกันการเสียชีวิตค่ะ
- การดูแลตัวเองเบื้องต้น
สำหรับโรคฉี่หนูการดูแลตัวเองเบื้องต้น คือ การหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำที่อาจมีเชื้อโรคฉี่หนู เช่น โคลน ลุยน้ำขัง ต่าง ๆ โดยเฉพาะในคนที่มีบาดแผลที่เท้า ไม่ว่าจะเป็นแผลลึกหรือแค่รอยขีดข่วนก็ต้องหลีกเลี่ยง เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายนั่นเองค่ะ
โรคผิวหนังจากเชื้อรา (Fungal Infections In Animals)
โรคผิวหนังจากเชื้อราในคนนั้นมีเยอะมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคฮ่องกงฟุต โรคกลาก โรคเกลื้อน เป็นต้น แต่โรคผิวหนังจากเชื้อราที่มาจากสัตว์สู่คนนั้น ตอนนี้มีแค่ “โรคเชื้อราแมว” ค่ะ โรคผิวหนังจากเชื้อรา เป็นหนึ่งในโรคผิวหนังที่คนรักสัตว์ต้องทำความเข้าใจก่อนเลี้ยง เพราะจะได้ไม่ทอดทิ้งสัตว์เลี้ยงของตัวเอง เมื่อพวกเขานำภัยเชื้อรามาให้เราค่ะ!
- พาหะสำคัญของโรคผิวหนังจากเชื้อรา
พาหะของโรคผิวหนังจากเชื้อรา โดยส่วนใหญ่แล้วมาจากสัตว์เลี้ยงใกล้ตัวของเราค่ะ ไม่ว่าจะเป็นน้องแมว สุนัข กระต่าย แฮมสเตอร์ เป็นต้น โดยอาการของสัตว์ที่เป็นโรคผิวหนังนั้น มักจะมีขนหลุดออกมาเป็นหย่อม ๆ ผิวหนังแดง แห้ง ลอกเป็นขุย ๆ และมีการตกสะเก็ดร่วมด้วย ซึ่งหากเราไปสัมผัสก็อาจจะทำให้ติดเชื้อได้นั่นเอง
- อาการของโรคผิวหนังจากเชื้อรา
อาการของโรคผิวหนังจากเชื้อรา โดยส่วนใหญ่แล้วจะพบผื่นแดงขึ้นตามผิวหนังทั้งจุดเล็กและจุดใหญ่ โดยจะมีขุยขาว ๆ ขึ้นรอบ ๆ ผื่นและเกิดอาการคัน และถ้าหากติดเชื้อยริเวณหนังศีรษะจะทำให้ผมบริเวณนั้นร่วงออกมาเป็นหย่อม ๆ ได้ค่ะ เป็นอาการที่ทรมานมาก ๆ !
- การดูแลตัวเองเบื้องต้น
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ จะมีวิธีการดูแลเบื้องต้น ดังนี้ ต้องทายาฆ่าเชื้อราอย่างน้อย 3 สัปดาห์ เพื่อที่จะบรรเทาอาการให้ดีขึ้นค่ะ และวิธีป้องกันการติดโรคนี้มีวิธีง่าย ๆ คือ การดูแลความสะอาดสัตว์เลี้ยงของเรา เพียงแค่ใช้แชมพูอาบน้ำสัตว์ที่ผสมสารป้องกันเชื้อรา และรักษาความสะอาดบริเวณที่เลี้ยงสัตว์ให้ดี ดูดฝุ่นบ่อย ๆ และถูพื้นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคค่ะ ยิ่งสัตว์เลี้ยงที่ขนหนา ฟู ยิ่งต้องระวังมาก ๆ เลยล่ะค่ะ!
โรคแมวข่วน (Cat Scratch Fever)
เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง โดยโรคนี้สามารถหายเองได้ แต่ก็เป็นโรคที่อันตรายกับคนที่มีร่างกายอ่อนแอหรือภูมิคุ้มกันบกพร่องได้ค่ะ มาดูกันดีกว่าว่าพาหะของโรคมาจากไหน อาการเป็นอย่างไร แลัวเราต้องดูแลตัวเองอย่างไรบ้างถึงจะไม่เป็นโรคนี้!?
- พาหะสำคัญของโรคแมวข่วน
ตามชื่อของโรคเลยค่ะ “โรคแมวข่วน” พาหะของโรคนี้มาจากน้องแมวนั่นเอง! ส่วนใหญ่เกิดจากการโดนแมวข่วน กัด หรือเกิดจากการสัมผัสขนแมวซึ่งมีเชื้อจากนํ้าลายแมวที่มันเลียขนติดอยู่ ทำให้มือเกิดการปนเปื้อน แล้วเราเผลอเอามือไปสัมผัสกับอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น ตา ก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้เหมือนกันค่ะ
- อาการของโรคแมวข่วน
อาการของโรคแมวข่วนส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลังจากถูกแมวที่มีเชื้อกัด ข่วน หรือเลียประมาณ 3-10 วัน ซึ่งอาการที่พบ คือ จะมีผื่นแดง ตุ่มพอง แผลหลุมที่บริเวณบาดแผล มีไข้ และในรายที่รุนแรงอาจเกิดการติดเชื้อทั่วร่างกายได้ค่ะ เรียกได้ว่าอันตรายมาก ๆ !
- การดูแลตัวเองเบื้องต้น
สำหรับการดูแลเบื้องต้นนั้น คือ หากโดนน้องแมวข่วนหรือกัด ให้เรารีบล้างแผลให้สะอาด อย่าให้สัตว์เลี้ยงเลียแผล และหมั่นอาบน้ำให้สัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันเห็บหมัด ซึ่งเป็นพาหะนำเชื้อของโรคแมวข่วนนั่นเองค่ะ
กาฬโรค (Plague)
กาฬโรค เป็นโรคที่ติดเชื้อแล้วสามารถถึงแก่ชีวิตได้เลยนะ! โดยโรคนี้มาจากเชื้อแบคทีเรีย Yersinia pestis และนับเป็นโรคระบาดที่ร้ายแรงที่สุดโรคหนึ่งเลยค่ะ
- พาหะสำคัญของโรคกาฬโรค
เชื้อกาฬโรคเป็นเชื้อที่พบตามธรรมชาติในสัตว์ฟันแทะในป่า เช่น กระรอก กระจง หนู แมว เป็นต้น แต่โดยส่วนใหญ่แล้วคนที่เป็นโรคนี้มักได้รับเชื้อมาจากการถูกหมัดหนูกัดมากที่สุด และรับเชื้อจากการสัมผัสสัตว์ที่มีเชื้อ เช่น ผู้ที่มีอาชีพล่าสัตว์ เมื่อไปสัมผัสอวัยวะภายในของสัตว์ที่ล่าจะทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายนั่นเอง!
- อาการของโรคกาฬโรค
อาการของกาฬโรคจะแสดงออกมาและสังเกตได้จากชนิดของโรคซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด ได้แก่
- กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง (bubonic) เป็นโรคที่พบได้มากที่สุด โดยสาเหตุของโรคนี้มักเกิดจากการถูกหมัดกัด ซึ่งอาการของผู้ป่วยจะมีอาการหนาวสั่น ไข้ขึ้น บวมและปวดบริเวณต่อมน้ำเหลืองจนเกิดอาการอักเสบ ไม่สามารถขยับแขน และขาได้ มักพบบริเวณขาหนีบ หรือรักแร้
- กาฬโรคโลหิตเป็นพิษ (septicemic) สามารถเกิดขึ้นหลังเป็นกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง และอาการจะรุนแรงขึ้น ซึ่งมีอาการ ดังนี้ หัวใจเต้นเร็ว หมดสติ ความดันโลหิตต่ำ เลือดออกในอวัยวะต่าง ๆ และสามารถเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง หรือ 3 ถึง 5 วัน
- กาฬโรคปอด (pneumonic) มีโอกาสพบเจอได้น้อยที่สุดในขณะที่มีความอันตรายมากที่สุดเช่นกัน เป็นโรคที่เกิดได้หลังเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดไปแล้ว นอกจากนี้ยังสามารถติดเชื้อได้จากผู้ที่มีเชื้ออยู่แล้วผ่านการไอ จาม ผู้ป่วยในกาฬโรคชนิดนี้จะมีอาการไข้ ปวดบวม ไอมีเสมหะเป็นน้ำต่อไปจะเป็นเลือด และถ้าหากไม่รับการรักษาจะสามารถเสียชีวิตได้ภายในเวลา 3 วัน
- การดูแลตัวเองเบื้องต้น
การดูแลตัวเองเบื้องต้นของโรคนี้ คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสเนื้อเยื่อของสัตว์ที่เป็นโรค รวมทั้งสารคัดหลั่ง หรือหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยที่เป็นกาฬโรคปอดบวม เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้นค่ะ และสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้แล้วฏ้ต้องทานยาปฎิชีวนะตามแพทย์สั่ง เพื่อใรักษาให้อาการดีขึ้น
โรคเอดส์ (HIV)
ในอดีตโรคเอดส์ คือโรคติดต่อร้ายแรง และสามารถทำให้เสียชีวิตได้ในระยะเวลาสั้น ๆ โรคเอดส์เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเอชไอวี หรือเรียกชื่อเต็มว่า Human Immunodeficiency Virus หรือ HIV นั่นเองค่ะ
- พาหะสำคัญของโรคเอดส์
ไม่มีใครทราบต้นตอของโรคเอดส์ แต่มีการสันนิษฐานว่าโรคเอดส์มาจากลิงในทวีปแอฟริกา ต่อมาจึงมีการติดเชื้อไวรัสจากลิงมาสู่คน และมีการวิวัฒนาการจนกลายเป็นสายพันธุ์ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์นั่นเองค่ะ แต่ในปัจจุบันโรคเอดส์สามารถติดต่อได้ 3 ทาง คือ ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทางเลือด และจากแม่สู่ครรภ์ทารกเท่านั้นค่ะ
- อาการของโรคเอดส์
โรคเอดส์นั้นมีทั้งหมด 3 ระยะ ในระยะแรก จะเรียกว่า ระยะเฉียบพลัน ซึ่งเป็นระยะแรกของการติดเชื้อเอชไอวี ในระยะนี้ผู้ติดเชื้อจะเริ่มมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดเมื่อยตามร่างกาย มีผื่นและปวดหัว
ต่อมาในระยะที่สอง จะเรียกว่า ระยะสงบทางคลินิกเป็นระยะที่เชื้อไวรัสอยู่ในร่างกายโดยไม่แสดง
อาการใด ๆ หรืออย่างมากที่สุด คือ มีอาการเพียงเล็กน้อย ในระยะนี้ไวรัสจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นในระดับต่ำ และมักจะใช้เวลานานถึง 10 ปี แต่สำหรับผู้ติดเชื้อบางคนอาจใช้เวลาน้อยกว่านั้น
และระยะสุดท้าย หรือ ระยะโรคเอดส์ เป็นระยะที่การติดเชื้อเอชไอวีได้พัฒนาเป็นโรคเอดส์เรียบร้อยแล้วค่ะ ระยะนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการ มีไข้เรื้อรัง ไอเรื้อรังหรือหายใจหอบเหนื่อยจากวัณโรคปอดหรือปอดอักเสบ ท้องเสียเรื้อรัง น้ำหนักลด รูปร่างผอมแห้งและอ่อนเพลีย ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น โดยอาการของโรคเอดส์ในระยะนี้ อาจจะไปคล้ายคลึงกับโรคอื่น ๆ ได้ ดังนั้นเพื่อความแน่นอน คุณควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อ HIV โดยเฉพาะค่ะ
- การดูแลตัวเองเบื้องต้น
สำหรับการดูแลตัวเองเบื้องต้นในผู้ป่วย ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ให้หายขาดได้ แต่ก็มียาหลายชนิดที่ช่วยรักษาอาการติดเชื้อเอชไอวีได้ค่ะ เช่น ยาต้านไวรัสในกลุ่ม ARV วิธีการนี้เป็นการรักษาโรคโดยการควบคุมไวรัสไม่ให้ขยายพันธุ์ ทำให้ผู้ติดเชื้อมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อสู่คนอื่นอีกด้วย
และถ้าหากใครกังวลว่าตัวเองอาจติดเชื้อเอชไอวีภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง หรือ ภายใน 3 วัน สามารถใช้ยา ARV หลังสัมผัสโรคเพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อได้ค่ะ โดยผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อจำเป็นต้องได้รับยาให้เร็วที่สุดภายในเวลา 3 วันหลังจากสัมผัสเชื้อเอชไอวีเพื่อให้การป้องกันมีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ
โรคไข้หวัดนก (Bird Flu)
เกิดจากเชื้อไวรัสเอเวียน อินฟลูเอนซ่า ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่ ชนิด A, B และ C โดยเชื้อไข้หวัดนกนั้นจัดอยู่ในชนิด A โดยปกติจะมีการติดต่อระหว่างนกหรือสัตว์ปีกชนิดต่างๆ และจะไม่ติดต่อมาสู่คน แต่ในบางครั้งก็พบว่ามีการติดต่อมาสู่คนได้เช่นกันค่ะ
- พาหะสำคัญของโรคไข้หวัดนก
โรคไข้หวัดนกสามารถติดต่อจากสัตว์ปีกมาสู่คนได้ ทั้งจากการสัมผัสสารคัดหลั่งจากสัตว์ปีกที่ป่วยโดยตรง เช่น อุจจาระ น้ำมูก น้ำลายของสัตว์ปีก หรือเกิดจากการสัมผัสสิ่งแวดล้อม พื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสจากสัตว์ปีกที่ป่วย เป็นต้น
- อาการของโรคไข้หวัดนก
โดยปกติแล้วอาการของโรคนี้จะคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้สูง ท้องเสีย อาเจียน ปวดท้อง ตาแดง และในบางรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีเลือดปนในน้ำมูก หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ไตวาย และอาจเสียชีวิตได้เลยล่ะค่ะ
- การดูแลตัวเองเบื้องต้น
วิธีการป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดนกที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกและสารคัดหลั่งที่มาจากสัตว์ปีกโดยตรงค่ะ แต่ถ้าหากมีการสัมผัสควรใช้สบู่ล้างมือให้สะอาด และสำหรับผู้ที่ต้องทำงานกับสัตว์ปีก ก็ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือ แว่นตา และต้องล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดหลังสัมผัสสัตว์ปีกหรือเสร็จจากการทำงาน เพื่อป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดนกนั่นเองค่ะ และถึงแม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนก แต่การใช้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ก็สามารถลดความรุนแรงของอาการจากโรคไข้หวัดนกได้เช่นกันค่ะ
โรคซาร์ส (SARS)
โรคซาร์สหรือโรคทางระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสในตระกูลโคโรนาไวรัส (Coronavirus) โดยโรคซาร์สเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2002 ที่ประเทศจีน และแพร่กระจายไปมากกว่า 20 ประเทศในทวีปเอเชียอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ รวมถึงยุโรป และไม่พบรายงานการระบาดของโรคอีกตั้งแต่ปี 2004 จนมาในปี 2019 ก็ได้มีการกลับมาระบาดของโรคนี้อีกครั้ง หรือที่เราเรียกว่า “โคโรน่าไวรัส” นั่นเองค่ะ
- พาหะสำคัญของโรคซาร์ส
เดิมทีการติดเชื้อนี้พบได้ในเฉพาะในสัตว์ที่มีขนาดเล็ก แต่ต่อมาก็ได้มีการกลายพันธุ์ จนเกิดการติดเชื้อในมนุษย์ขึ้น และแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว! และในปัจจุบันโรคซาร์สนั้นมีการติดเชื้อจากคนสู่คนมากกว่าสัตว์สู่คน ดังนั้น การแพร่กระจายของโรคนี้ มักเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด เช่น การดูแล การอาศัยอยู่ร่วมกัน ติดต่อผ่านทางละอองฝอยจากการไอ จาม หรือการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจของผู้ที่สงสัยว่าป่วยหรือผู้ที่อาจจะป่วยเป็นโรคซาร์สนั่นเองค่ะ
- อาการของโรคซาร์ส
อาการของโรคนี้ในช่วงแรกจะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้สูง 38 องศาเซลเซียส ปวดเมื่อยตามร่างกาย เบื่ออาหาร ท้องเสีย และในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการติดเชื้อที่ปอด เช่น ไอแห้ง หรือหายใจลำบาก เป็นต้น
- การดูแลตัวเองเบื้องต้น
ในปัจจุบันโรคซาร์สมีการติดเชื้อจากคนสู่คนมากกว่าสัตว์สู่คน ดังนั้น การป้องกันโรคนี้คือการล้างมือให้สะอาดหลังจากสัมผัสกับผู้ป่วย และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วยโดยตรง หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องล้างมือให้สะอาด เพื่อป้องกันการติดโรคซาร์สค่ะ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ? PetPlease หวังว่าทุกคนจะรู้จักโรคที่ติดเชื้อจากสัตว์สู่คนมากขึ้น และรู้จักวิธีป้องกันตัวเองจากโรคเหล่านี้ และหวังว่าทุกคนจะไม่เจ็บป่วยนะคะ
คำถามที่พบบ่อย
Q: เชื้อราในสัตว์เลี้ยงสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้หรือไม่?
A: เชื้อราในสัตว์เลี้ยงสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ ผ่านการสัมผัสหรือการใช้ของบางอย่างร่วมกัน เช่น การใส่เสื้อผ้าร่วมกัน แต่อาการจะไม่รุนแรงเท่ากับการติดต่อจากสัตว์ ที่เป็นการติดต่อแบบข้ามสายพันธุ์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- ทาสแมวต้องรู้ โรคติดต่อจากแมวสู่คน มีกี่โรค พร้อมวิธีป้องกัน
- 12 โรคสัตว์สู่คน ไม่อยากป่วย ต้องระวังให้ดี!
- โรคไข้เลือดออก ภัยร้ายจากยุงลาย
- โรคพิษสุนัขบ้า ติดเชื้ออาจถึงตายได้!
- โรคแมวข่วน (CAT-SCRATCH DISEASE)
- ความรู้เกี่ยวกับเอชไอวีและเอดส์
AUTHOR: MEW
2023, JAN 31