วันนี้ PetPlease จะพาทุกคนมารู้กับน้องแมวสายพันธุ์สโนวชู แมวที่มีนิสัยชอบเข้าสังคม เข้ากับผู้คนได้ง่าย แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักในไทยเท่าไหร่นัก บางคนอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นแมวสโนว์ชูคือสายพันธุ์เดียวกับแมวสยามจากลักษณะทางกายภาพที่คล้ายกัน แต่จริง ๆ แล้วมีความแตกต่างกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะทางกายภาพ หรือลักษณะนิสัยที่แตกต่างที่รับรองว่ามีนิสัยที่ไม่เหมือนแมวสายพันธุ์ไหน ๆ แล้วจะต้องทำให้ เหล่าทาสตกหลุมรักได้อย่างเต็มเปาแน่นอน
บทความนี้ขอนำเสนอ
- ประวัติ และความเป็นมาของแมวสโนว์ชู
- ลักษณะของแมวสโนว์ชู
- ความเป็นมิตรของแมวสโนว์ชู
- การดูแลแมวสโนว์ชูเบื้องต้น
- สารอาหาร และโภชนาการของแมวสโนว์ชู
- การดูแลสุขภาพแมวสโนว์ชูเบื้องต้น
ประวัติ และความเป็นมาของแมวสโนว์ชู
แมวสายพันธุ์สโนว์ชูมีถิิ่นกำเนิดจากประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 1950 มีการพัฒนาสายพันธุ์แมวสยามร่วมกับแมวเบอร์แมนให้มีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่าง โดยปรับเปลี่ยนลักษณะของอุ้งเท้าให้มีสีขาว เรียกสายพันธุ์นี้ว่าแมวซิลเวอร์เลซ แต่ไม่สบความสำเร็จเท่าไหร่นัก จึงล้มเลิกไปในที่สุด จนกระทั่งปี 1960 นักผสมพันธุ์แมวสยามชาวฟิลาเดลเฟียที่มีชื่อว่า โดโรธี ฮินดส์ ดอร์เฮอร์ธี ได้ทำการพัฒนาสายพันธุ์ แมวสยามร่วมกับแมวอเมริกันช็อตแฮร์ลายจนประสบความสำเร็จกลายเป็นแมวสโนว์ชูในที่สุด ซึ่งมีลักษณะที่โดดเด่น และแตกต่างจากแมวสยามทั่วไปคือ ลักษณะของอุ้งเท้าที่เป็นสีขาวล้วนเหมือนกับรองเท้าหิมะนั่นเอง นับตั้งแต่นั้นมาก็ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น และมีความนิยมเป็นอย่างมากในปี 1982 จนถึงปัจจุบัน
ลักษณะของแมวสโนว์ชู
ถึงแม้จะมีลักษณะร่วมกับแมวสยาม แต่น้องแมวสโนว์ชูก็มีความแตกต่างเฉพาะตัวอยู่ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะทางกายภาพ หรือลักษณะนิสัย โดยความแตกต่างของน้องแมวสโนว์ชูสามารถสังเกตได้ ดังนี้
ลักษณะทางกายภาพของแมวสโนว์ชู
ถึงแม้แมวสายพันธุ์สโนว์ชูจะเป็นแมวในตระกูลโอเรียลทัล ร่วมกับแมวสยามของไทยเรา แต่ก็มีลักษณะที่แตกต่างที่มีแค่ในแมวสโนว์ชูเท่านั้น เราสามารถสังเกตได้จากอวัยวะต่าง ๆ ดังนี้
- หู ลักษณะของหูแมวสายพันธุ์สโนว์ชูจะมีขนาดกลางตลอดจนขนาดใหญ่ โดยจะมีปลายหูที่โค้งมนเล็กน้อย
- หัว แมวสายพันธุ์สโนว์ชูมีรูปทรงเป็นรูปสามเหลี่ยม ซึ่งแตกต่างจากแมวสายพันธุ์อื่น ๆ ทั่วไป แต่ในบางครั้งเราสามารถพบน้องแมวที่มีลักษณะของหัวคล้ายแอปเปิ้ลเหมือนแมวตัวอื่น ๆ ได้เช่นเดียวกัน
- ลำตัว แมวสายพันธุ์สโนว์ชูมีลำตัวขนาดกลาง มีความยาวกว่าแมวทั่วไป น้ำหนักสุทธิอยู่ที่ประมาณ 6 กิโลกรัมหรือมากกว่าขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู รวมถึงลักษณะของเส้นขนที่มีความสั้น แต่มีลวดลายแทรกแทรงอยู่ตามเส้นขน สลับขาวดำทำให้มีลวดลายที่แตกต่างจนกลายเป็นความโดดเด่นด้วยการแรเงาของสีขนตามลำตัว เช่น หลัง ไหล่ และสะโพก เป็นต้น
- หาง ขนาดของหางแมวสายพันธุ์สโนว์ชูจะมีความสมส่วนกับขนาดตัวลำตัว ไม่เล็ก หรือใหญ่จนเกินไป ทำให้สมรรถภาพในการเคลื่อนไหวของร่างกายนั้นเต็มไปด้วยความคล่องแคล่ว และว่องไว
- ดวงตา แมวสายพันธุ์สโนว์ชูเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เพราะจะลักษณะของสีตาที่เต็มไปด้วยสีฟ้า และขนาดกลมโต คล้ายกับถั่ววอลนัท
- อุ้งเท้า มาถึงลักษณะสุดท้ายที่เป็นเหตุผลของชื่อสายพันธุ์สโนว์ชูอย่างอุ้งเท้า โดยอุ้งเท้าของแมวสายพันธุ์สโนว์ชูนั้นจะเป็นสีขาวทั้งหมด ไม่มีสีอื่นแทรกเข้ามาจนกลายเป็นลวดลาย เพียงแต่สีจะเข้ม หรืออ่อนนั้นขึ้นอยู่กับอายุนั่นเอง
ลักษณะนิสัยของแมวสโนว์ชู
- อารมณ์ดี น้องแมวสโนว์ชูเป็นแมวที่มีความน่ารัก อารมณ์ดี และเป็นแมวที่ชอบอ้อนเจ้าของอยู่เสมอ ดังนั้นเหล่าทาสหลาย ๆ คน จึงตกหลุมรักน้องแมวสายพันธุ์นี้ได้อย่างง่ายดายจากนิสัยที่น่ารักเช่นนี้ หากเหล่าทาสท่านไหนที่มีลักษณะนิสัยเช่นเดียวกัน น้องแมวสายพันธุ์สโนว์ชูจะกลายเป็นเพื่อนที่ดีของคุณอย่างไม่ต้องสงสัยเลยล่ะ
- ชอบเข้าสังคม น้องแมวสายพันธุ์นี้สามารถเข้ากับผู้คนที่เป็นอย่างดี จึงทำให้พวกเขาชอบที่จะเข้าสังคมอยู่เสมอ ชอบที่จะเป็นจุดศูนย์กลางความสนใจของมนุษย์อยู่เสมอ จึงทำให้น้องแมวสายพันธุ์สโนว์ชูไม่ปลื้มที่จะอยู่ตัวเดียวท่ามกลางความเงียบงันเป็นเวลานานเท่าไหร่นัก ดังนั้นเหล่าทาสจำเป็นต้องให้เวลาน้องแมวสายพันธุ์นี้อย่างเหมาะสมนะครับ
- ซื่อสัตย์ น้องแมวสายพันธุ์สโนว์ชูขึ้นชื่อเรื่องความซื่อสัตย์เป็นอย่างยิ่ง หากไว้ใจใครแล้วล่ะก็จะมอบความจงรักภักดีให้อย่างทุ่มสุดตัว พร้อมที่จะช่วยปลอบประโลมในวันที่เราทุกข์ใจได้อย่างแน่นอน
- เฉลียวฉลาด น้องแมวสายพันธุ์นี้ขึ้นชื่อเรื่องความฉลาดเป็นอย่างมาก พร้อมที่จะเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ อยู่เสมอ หากเราต้องการจะฝึกสอนทักษะพิเศษอื่น ๆ ให้น้องแมวสายพันธุ์สโนว์ชูก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับชุดคำสั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทักษะที่ไม่เหมือนใคร
- นักว่ายน้ำมืออาชีพ อย่างที่เราทราบกันดีว่าน้องแมวแทบจะทุกสายพันธุ์นั้นไม่ถูกกับน้ำ หรือพื้นที่ที่เต็มไปด้วยน้ำอย่างรุนแรง หลาย ๆ บ้านอาจประสบปัญหาน้องแมวไม่ชอบอาบน้ำ จนจำเป็นต้องส่งไปอาบน้ำตามร้านอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งจะค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้นตามเช่นเดียวกัน แต่ไม่ใช่สำหรับน้องแมวสายพันธุ์สโนว์ชูที่ชื่นชอบน้ำเป็นพิเศษ น้องแมวสายพันธุ์นี้ไม่กลัวน้ำแต่อย่างใด ซึ่งกลายเป็นทักษะที่โดดเด่น
ของสโนว์ชู ดังนั้นทักษะการว่ายน้ำของน้องแมวสโนว์ชู จึงไม่เป็นสองรองใครเลยก็ว่าได้ อย่างไรก็ตามเหล่าทาสจำเป็นต้องคำนึงไม่ให้น้องแมวเล่นน้ำมากจนเกินไป เพราะทำให้น้องแมวเป็นไข้หวัดได้
ความเป็นมิตรของแมวสโนว์ชู
สืบเนื่องมาจากนิสัยที่ชอบการเข้าสังคม ทำให้แมวสายพันธุ์สโนว์ชูเป็นมิตรต่อสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว น้องแมวสายพันธุ์จะมีความสุขที่จะได้พบเจอสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ อยู่เสมอ ซึ่งแตกต่างกับแมวทั่ว ๆ ไปที่เข้าสังคมไม่ค่อยเก่งนัก
เป็นมิตรต่อครอบครัว
หลาย ๆ บ้านอาจประสบปัญหาน้องแมวไม่ถูกกับสมาชิกครอบครัวได้ทุกคน แต่ไม่ใช่กับน้องแมวสโนว์ชูที่เป็นมิตรกับทุกคนภายในบ้าน เพราะคิดว่าทุกคนคือครอบครัวของตัวเอง น้องแมวสายพันธุ์นี้สามารถมีสายสัมพันธ์อันดีกับทุกคนภายในบ้านได้อย่างดีเยี่ยม
เป็นมิตรต่อเด็ก
เหล่าทาสที่มีเด็กเล็ก อาจกังวลว่าน้องแมวจะไม่ถูกกับเด็ก เนื่องจากนิสัยโดยธรรมชาติที่ไม่ชอบเสียงดัง และความวุ่นวายเท่าไหร่นัก แต่ในทางกลับกันแมวสโนว์ชูนั้นมีความอ่อนโยนกับเด็กเป็นอย่างมาก ชอบที่จะอยู่ใกล้ ๆ เพื่อเป็นเพื่อนเคียงข้าง อดทนต่อเสียงดัง และความวุ่นวายจากการวิ่งเล่นได้อย่างไร้ความรำคาญใจ จึงเหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับบ้านไหนที่มีเด็กเล็ก และต้องการให้ลูกหลานมีเพื่อนเล่นคอยอยู่เคียงข้างตลอดเวลา
เป็นมิตรกับแมวตัวอื่น ๆ
สัญชาตญาณของแมวนั้นไม่ชื่นชอบการอยู่ร่วมกันเป็นฝูงเท่าไหร่นัก จึงทำให้มีการขู่ฟ่อกันอยู่บ่อย ๆ เวลามีแมวตัวอื่นเข้ามาภายในเขตแดนของตน แต่สำหรับแมวที่ชื่นชอบการเข้าสังคมอย่างสโนว์ชูนั้นไม่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะสามารถเข้ากับแมวตัวอื่น ๆ ได้อย่างดี
เป็นมิตรกับผู้คนแปลกหน้า
แมวสายพันธุ์สโนว์ชูไม่มีนิสัยขู่ฟ่ออย่างน่าเกรงขาม หรือข่วนทำร้ายร่างกายผู้แปลกหน้าที่เข้ามาทักทาย หรือลูบหัว อย่างที่เราทราบกันดีว่าน้องแมวชอบอ้อนผู้คน และชอบที่จะได้รับความรักอยู่เสมอ
การดูแลแมวสโนว์ชูเบื้องต้น
การดูแลแมวสโนว์ชูอาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับใคร ๆ หลายคน เพราะไม่คุ้นชื่อสายพันธุ์ เลยไม่รู้ว่าจะเริ่มดูแลอย่างไรดี แต่อย่างเพิ่งเป็นกังวลใจไป เพราะน้องแมวสายพันธุ์นี้มีความต้องการการดูแลเหมือนแมวทั่ว ๆ ไป โดยสามารถแบ่งออกได้ ดังนี้
การดูแลสุขภาพขน
เนื่องจากลักษณะขนที่สั้น ทำให้อัตราการผลัดขนของแมวสายพันธุ์สโนว์ชูมีในระดับปานกลาง แต่เราสามารถทำความสะอาดขนของน้องแมวสายพันธุ์นี้ได้อย่างสะดวกสบาย เพียงแค่ใช้หวีแปรงเป็นประจำทุกวันก็เพียงพอแล้ว
การทำความสะอาดใบหู
หากเราละเลยการทำความสะอาดใบหู จะส่งผลให้ภายในหูเต็มไปด้วยความชื้น และก่อให้เกิดแบคทีเรียสะสม ซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อของหูได้ ดังนั้นเราควรทำความสะอาดโดยใช้สำลีเป็นประจำทุกวัน
การดูแลสุขภาพฟัน
ปัญหาสุขภาพช่องปาก และฟันเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่น้องแมวสโนว์ชูต้องได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอ เราจำเป็นต้องมั่นใจว่าให้อาหารที่ปราศจากเชื้อแบคทีเรียที่อาจก่อให้เกิดการสะสมของแบคทีเรียในช่องปาก ที่เป็นสาเหตุของโรคภัยต่าง ๆ ควรแปรงวันเป็นประจำทุกสัปดาห์ หากต้องการให้น้องแมวคุ้นเคยกับการแปรงฟัน เราสามารถฝึกฝนได้ตั้งแต่เป็นแมวเด็ก และพยายามตรวจเช็คสุขภาพช่องปาก และฟันเป็นประจำ
การดูแลสุขภาพร่างกาย
น้องแมวสายพันธุ์นี้ขึ้นชื่อเรื่องสุขภาพที่แข็งแรง เนื่องจากมียีนส์ของแมวสยามอยู่ แต่แมวทุกตัวอาจเผชิญกับโรคร้ายได้ หากขาดการดูแลอย่างสม่ำเสมอ เราจึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงปัจจัยที่อาจส่งผลให้น้องแมวมีปัญหาสุขภาพได้ เช่น อาหารการกิน ถิ่นที่อยู่ การดูแลความสะอาดต่าง ๆ และอื่น ๆ เป็นต้น
การอาบน้ำแมวสโนว์ชู
การอาบน้ำน้องแมวนั้นไม่จำเป็นต้องทำเป็นกิจวัตรเหมือนกับของมนุษย์ เนื่องจากน้องแมวมีการทำวามสะอาดร่างกายโดยการเลียขนตัวเองเป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว ดังนั้นเราควรอาบน้ำน้องแมวเพียงเดือนละ 1 ครั้งก็เพียงพอแล้ว โดยเราต้องพิจารณาผลิตภัณฑ์ดูแลความสะอาดที่ถูกผลิตมาเพื่อใช้กับแมวโดยเฉพาะเท่านั้น ไม่สามารถใช้ของมนุษย์ หรือสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ แทนได้ เนื่องจากสารเคมีที่มีฤทธิ์ที่แตกต่างออกไปจะส่งผลเสียต่อสุขภาพขนของน้องแมวได้นั่นเอง
หากเหล่าทาสคนใดสนใจผลิตภัณฑ์ดูแลความสะอาดที่ทั้งมีคุณภาพ และปลอดภัย ทาง PetPlease ก็มีสินค้าที่อำนวยความสะดวกให้เหล่าทาสได้เพลิดเพลินกับการเลือกสรรสินค้านานาประเภทที่พร้อมจะส่งตรงถึงบ้านคุณเพียงแค่ไม่กี่คลิ๊กเท่านั้น
การออกกำลังกาย
โดยธรรมชาติแมวสายพันธุ์สโนว์ชูมีนิสัยขี้เล่น จึงทำให้ชื่นชอบที่จะออกกำลังกายอยู่เสมอ เนื่องจากมีระดับพลังงานภายในร่างกายที่สูงมากพอที่จะเล่นกับเหล่าทาสตลอดแทบทั้งวัน มักชอบกระโดดโลดโผน หรือสวมรอยเป็นนักสำรวจธรรมชาติอยู่เสมอ นอกจากนี้สรีระของร่างกายยังตอบโจทย์ความคล่องแคล่วในการวิ่งเล่นเป็นอย่างดี
ดังนั้นเราควรที่จะมีเวลาเล่นกับน้องแมวสายพันธุ์นี้อยู่เสมอ เพื่อควบคุมไม่ให้น้ำหนักมากเกินไป ซึ่งสามาถใช้ของเล่นที่หลากหลายเป็นตัวช่วยได้ เพื่อความสนุกที่มากขึ้น หากเหล่าทาสกำลังมองหาของเล่นดี ๆ ก็สามารถเลือกสรรบนเว็บไซต์ของ PetPlease ได้แล้ววันนี้นะครับ รับรองว่าถูกใจน้องแมวอย่างแน่นอน
สารอาหาร และโภชนาการของแมวสโนว์ชู
เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าอาหารการกินนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของการใช้ชีวิต เราจำเป็นต้องคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการอย่างเหมาะสม เพื่อสุขภาพที่ดีของน้องแมว
สารอาหารที่เหมาะสม
- ไขมัน พลังงานในไขมันเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิต โดยธรรมชาติแล้วนั้นกลไกการทำงานของร่างกายจะดึงไขมันมาใช้ในรูปแบบของพลังงาน ซึ่งพลังงานในไขมันจะสูงกว่าคาร์โบไฮเดรต และโปรตีน และเหล่าทาสจำเป็นต้องคำนวณปริมาณอย่างเหมาะสม เพื่อให้ร่างกายได้ใช้พลังงานอย่างพอดี และไม่ให้เกิดการสะสมของไขมันที่มากจนเกิดเป็นผลเสียมากกว่าประโยชน์ เช่น โรคอ้วน ที่เกิดจากไขมันสะสมจำนวนมาก หากร่างกายได้รับไขมันอย่างเหมาะสมจะส่งผลดีต่อระบบการดูดซึมวิตามินในร่างกายด้วยเช่นกัน รวมถึงการเสริมสร้างโอเมก้า 3 และ 6 อย่างมีคุณภาพอีกด้วย
- คาร์โบไฮเดรต คาร์โบไฮเดรตหนึ่งในแหล่งพลังงานที่สำคัญของร่างกาย มีผลสำคัญต่อเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น เซลล์หัวใจ เซลล์ประสาท และเซลล์เม็ดเลือดแดง แต่เราในฐานะทาสแมวก็ควรจำกัดปริมาณให้อยู่ระดับที่เหมาะสม เพราะหากมีจำนวนคาร์โบไฮเดรตมากเกินไปจะส่งผลให้เกิดโรคอ้วนได้เช่นเดียวกัน
- โปรตีน อีกหนึ่งแหล่งพลังงานที่สำคัญที่สุดของร่างกายนั่นก็คือ โปรตีน เป็นส่วนสำคัญในการสร้างเนื้อเยื่อของระบบโครงสร้างร่างกาย ควรเน้นไปที่โปรตีนจากเนื้อสัตว์ เนื่องจากมีกรดอะมิโนซึ่งเป็นหน่วยย่อยของโปรตีนในอาหาร เพื่อการสังเคราะห์อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- วิตามิน และแร่ธาตุ ถึงแม้วิตามิน และแร่ธาตุจะมีอยู่ในอาหารของเหล่าแมวอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาหารเม็ด หรือ อาหารเปียก แต่เราในฐานะทาสแมวจำเป็นต้องเสริมสร้างวิตามิน และแร่ธาตุเพิ่มเติมอย่างเหมาะสมกับปริมาณที่ร่างกายของน้องแมวต้องการ เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงอยู่เสมอในการป้องกันการติดเชื้อโรคที่อยู่ตามธรรมชาติ ยกตัวอย่างวิตามินที่ต้องการเพิ่มเติม ได้แก่ วิตามินบี แคลเซียม และฟอสฟอรัส แต่ไม่ควรหากให้มากเกินไป เพราะจะส่งผลให้ระบบอวัยวะในร่างกายทำงานอย่างผิดปกติได้
อาหารที่ควรระวัง
- กระดูก กลไกการย่อยอาหารของน้องไม่สามารถตอบโจทย์การย่อยกระดูกได้ แม้กระทั่งก้างปลาเช่นเดียวกัน ทาสหลายคนเข้าใจผิดมักให้ปลาที่มีก้าง หรือเนื้อสัตว์ที่มีกระดูกกับแมวอยู่เสมอ แต่จริง ๆ แล้วนั้นการทำงานของกระเพาะน้องแมวก็บอบบางไม่ต่างจากมนุษย์ ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาระบบทางเดินอาหารอุดตัน และปัญหากระเพาะทะลุ เราจึงไม่ควรให้กระดูก หรือก้างปลาเหล่าแมว ๆ เป็นอันขาด
- นมวัว และผลิตภัณฑ์จากนมวัวทุกชนิด แมวทุกสายพันธุ์ไม่มีเอนไซม์ที่สามารถย่อยน้ำตาลจากนมวัวได้ ส่งผลเสียให้เกิดอาการท้องเสีย หรืออาเจียน ดังนั้นนมวัว และผลิตภัณฑ์จากนมวัวทุกชนิดจึงเป็นอาหารต้องห้ามสำหรับน้องแมว
- ช็อคโกแลต ช็อคโกแลตมีสาร Theobromine อยู่ ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นให้น้องแมวเกิดภาวะกระวนกระวาย จนทำให้ตื่นตัวมากกว่าปกติ นอกจากนี้ยังส่งผลเสียลำไส้ ทำให้เกิดอาการท้องเสีย หรืออาเจียนได้ ควรหลีกเลี่ยงอาหาร หรือขนมที่มีส่วนผสมของช็อคโกแลต เพื่อสุขภาพที่ดีของน้องแมว
- ไข่ดิบ แบคทีเรียในไข่ดิบส่งผลเสียต่อลำไส้ของน้องแมว ไม่เพียงเท่านั้นภายในไข่ขาวยังมีสารที่เรียกว่า Avidin ซึ่งทำหน้าที่ยับยั้งการดูดซึมวิตามินบีของร่างกาย รวมถึงเป็นอันตรายต่อระบบผิวหนัง และขน สืบเนื่องมากจากภาวะการขาดวิตามินบีในร่างกาย
- อาหารปรุงรสของมนุษย์ อีกหนึ่งเหตุผลที่เราไม่ควรให้อาหารมนุษย์กับน้องแมวนั่นก็คือ สารจากผงปรุงรสต่าง ๆ ในอาหารของมนุษย์เป็นอันตรายต่อสุขภาพน้องแมว ส่งผลโดยตรงต่อกลไกการทำงานของระบบไต ซึ่งเป็นเหตุของการกระตุ้นโรคมะเร็งที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
การดูแลสุขภาพแมวสโนว์ชูเบื้องต้น
แม้จะมีโครงสร้างทางพันธุกรรมที่แข็งแรงแค่ไหนก็สามารถพบเจอกับโรคภัยได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุจากกรรมพันธุ์ หรือสาเหตุจากธรรมชาติ ทั้งนี้เราควรศึกษาเกี่ยวกับการดูแล และปัญหาสุขภาพอย่างละเอียด เพื่อที่จะดูแลน้องแมวให้มีอายุยืนยาว ดังนี้
ต้นเหตุหลักของปัญหาสุขภาพแมวสโนว์ชู
- ปรสิต อย่างที่เราทราบกันว่าแมวแทบจะทุกสายพันธุ์นั้นชอบที่จะสำรวจสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ โดยเฉพาะหนอน และแมลงต่าง ๆ ซึ่งหนอน หรือแมลงทุกชนิดเป็นเหตุที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพน้องแมว เนื่องจากภายในสิ่งมีชีวิตเหล่านี้เต็มไปด้วยสิ่งสกปรก ที่มาจากการใช้ชีวิตตามธรรมชาติ เช่น การดื่มน้ำสกปรก หรือ การกินอาหารสกปรก ส่งผลให้เต็มไปด้วยปรสิตในร่างกาย หากน้องแมวสัมผัส หรือทานเข้าไป ก็จะส่งผลเสียโดยตรงต่อระบบอวัยวะในร่างกายไม่ว่าจะเป็น หู ตา จมูก หรือปาก และอื่น ๆ เป็นต้น
วัคซีนป้องกันการติดเชื้อของโรคต่าง ๆ
แมวสโนว์ชูต้องการวัคซีนพื้นฐานที่ป้องกันโรคต่าง ๆ อย่างครอบคลุม อย่างเช่นแมวสายพันธุ์อื่น ๆ เพื่อป้องกันกันโรคต่าง ๆ ที่สามารถติดต่อได้ตามธรรมชาติ หรือแมวตัวอื่น ๆ วัคซีนโรคหลักที่น้องแมวสโนว์ต้องการมีดังนี้
- วัคซีนรวมในแมว เป็นวัคซีนที่ป้องกันโรคต่าง ๆ อย่างครอบคลุม เช่น โรคไข้หัด โรคหวัดแมว โรคระบบทางเดินหายใจ ตาอักเสบ และรวมถึงปัญหาแบคทีเรียตามช่องปาก
- วัคซีนป้องกันโรคลิวคีเมีย เป็นวัคซีนที่ช่องป้องกันการติดเชื้อไวรัสอย่าง Feline Leukemia Virus ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งในแมว ที่สามารถติดต่อกันได้ทางน้ำลายนั่นเอง
- วีคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่อันตรายสำหรับสัตว์เลี้ยงทุกชนิด เมื่อใดก็ตามที่ได้รับเชื้อมาแล้วจะส่งผลให้เสียชีวิต ไม่มียารักษา ดังนั้นเราจึงต้องฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสเรบีส์ หรือเชื้อพิษสุนัขบ้านั่นเอง โดยเชื้อนี้สามารถติดต่อได้จากน้ำลาย และการกัดกันนั่นเอง
การทำหมันแมว
หนึ่งในวิธีการดูแลสุขภาพที่ดีที่สุดคือการทำหมันแมว เนื่องจากน้องแมวสามารถตั้งครรภ์ได้ถึง 4 ครั้งภายในหนึ่งปี และสามารถคลอดลูกแมวได้สูงถึง 5 ตัวต่อครั้ง แน่นอนว่าการผสมพันธุ์บ่อย ๆ นั้นไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะนำมาสู่การติดเชื้อได้ง่าย ข้อดีของการทำหมันแมวนั้นมีหลายอย่าง ดังนี้
- ช่วยยืดอายุแมวให้มีสุขภาพที่ดี
- ลดนิสัยก้าวร้าวอย่างไร้สาเหตุ
- ป้องกันการติดเชื้อจากโรคติดต่อ
เราสามารถทำหมันแมวเพศเมียได้เมื่อน้องแมวมีอายุ 5 เดือน โดยจะทำการผ่าตัดมดลูก และนำรังไข่ออก และเพศผู้เมื่ออายุ 8 เดือน โดยจะผ่านำลูกอัณฑะ และท่ออสุจิออก โดยสามารถอ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำหมันแมวได้ที่ สิ่งที่ทาสต้องรู้ ก่อนทำหมันเจ้าเหมียว มีอะไรบ้าง?
โรคที่เสี่ยงพบจากพันธุกรรมในแมวสโนว์ชู
- โรคหัวใจ โรคหัวใจในแมวสามารถพบได้ในแมวชรา หรือแมวที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไป สังเกตได้จากอาการไอเสียงต่ำ จนเกิดการอาเจียนออกมา น้ำหนักขึ้น หรือลงอย่างเฉียบพลัน ช่องท้องมีอาการบวมเป่ง หากยังไม่มั่นใจควรที่จะตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อการวินิจฉัยโรคที่แม่นย่ำมากขึ้น หากแมวของเราเป็นโรคหัวใจจะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานของหัวใจลดลง และกักเก็บของเหลวมากเกินความจำเป็น ส่งผลให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาได้ ดังนั้นเราควรที่จะควบคุมปริมาณโซเดียม และควบคุมปริมาณอาหารในแต่ละวันอย่างเหมาะสม
- โรคทางเดินปัสสาวะส่วนล่างของแมว โรคทางเดินปัสสาวะส่วนล่างของแมว (Feline Lower Urinary Tract Disease : FLUTD) โรคยอดฮิตสำหรับน้องแมวทุกสายพันธุ์ ลักษณะของน้องแมวที่กำลังเผชิญปัญหาโรคทางเดินปัสสาวะส่วนล่างจะมีอาการเดินเข้าออกกระบะทรายอยู่บ่อยครั้ง ปัสสาวะในบริเวณนอกกระบะทราย รวมถึงมีการทำท่าเบ่งปัสสาวะ เลียบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์มากขึ้นกว่าปกติ รวมถึงภายในปัสสาวะมีเลือดเจือปน เบื่ออาหาร วิธีการแก้ปัญหาเบื้องต้นหากน้องแมวมีอาการดังกล่าวคือ การวางน้ำดื่มเพิ่มเติมให้ทั่วจุดต่าง ๆ ของบ้าน หากน้องแมวดื่มน้ำมากยิ่งขึ้นก็จะช่วยบรรเทาอาการเบื้องต้น หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพบสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาในลำดับถัดไป
- ภาวะไตวาย ภาวะไตวายเป็นผลมาจากกลไกการทำงานของระบบไตทำงานอย่างผิดปกติ ซึ่งสามารถพบได้ในแมวชรา หรือแมวเด็กที่สืบทอดกันมาทางพันธุกรรม ทั้งนี้หากเรารู้ว่าน้องแมวเป็นโรคไตวายก่อนก็จะสามารถช่วยรักษาน้องแมวให้มีอายุยืนยาวได้ โดยไม่ต้องผ่าตัด เพียงแค่ควบคุมอาหารเป็นพิเศษ หรือยารักษาก็เพียงพอ แต่หากพบช้าจำเป็นต้องอาศัยการผ่าตัดโดยสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ (Hypertrophic Cardiomyopathy : HCM) ถือเป็นโรคสามัญประจำน้องแมวทุกสายพันธุ์ โดยโรคนี้จะไม่แสดงอาการมากนัก จำเป็นต้องสังเกตอาการหากพบว่าน้องแมวมีอาการอ่อนเพลีย ทานอาหารน้อยลงกว่าปกติ มีการเคลื่อนไหวของร่างกายที่น้อยลง หรือแทบไม่เคลื่อนไหวร่างกายเลย เสียงหายใจดังถี่ ควรพาน้องแมวไปพบสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที่ เพราะโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติจะส่งผลให้เกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลันได้
- โรคเบาหวาน โรคเบาหวานเป็นโรคที่ถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรม ซึ่งสามารถพบเจอได้ในแมวทุกสายพันธุ์ น้องแมวจะมีน้ำหนักตัวที่มากเกินมาตรฐาน หากเราควบคุมอาหารอย่างเข้มงวด ความเสี่ยงที่จะพบโรคเบาหวานก็จะต่ำลง สาเหตุของโรคเบาหวานนั้นอาจมาจากการเลี้ยงน้องแมวแต่ในบ้าน ไม่ให้ออกไปวิ่งเล่นข้างนอก เพราะพื้นที่ที่จำกัด ส่งผลให้น้องแมวเคลื่อนไหวร่างกายอย่างจำกัดเช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันการเกิดโรคเบาหวานที่อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เราจำเป็นต้องควบคุมสารอาหารให้มีโปรตีนที่สูง คาร์โบไฮเดรตที่ต่ำลง และควรตรวจสุขภาพโดยสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นประจำอย่างน้องปีละครั้ง
- อาการแพ้ต่าง ๆ หากมนุษย์มีอาการภูมิแพ้ที่มาจากฝุ่น หรือมลภาวะทางอากาศ จนทำให้เกิดอาการคัดจมูก หรือตาอักเสบ สำหรับแมวก็เป็นไปได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่จะมีอาการทางผิวหนัง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสามารถพบได้ตามช่วงขา ท้อง ใบหน้า และใบหู เป็นต้น น้องแมวจะมีอาการเลียบริเวณที่อวัยวะที่ติดเชื้อ คันบริเวณหน้าอยู่บ่อยครั้ง ตลอดจนถึงการติดเชื้อที่หู ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชัดเจนที่สุด เราอาจสังเกตว่าน้องแมวมีสัดส่วนที่ลดลงตามบริเวณที่มีรอยแดงได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นเราจำเป็นต้องหาสาเหตุที่แน่ชัด ไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรือเห็บหมัดก็ตาม เพื่อที่จะรักษาได้อย่างตรงจุดที่สุด
จบไปแล้วกับข้อควรรู้ก่อนเลี้ยงแมวสโนว์ชู หลาย ๆ คนอาจเปิดใจ และมีความสนใจที่จะรับเลี้ยงน้องแมวสายพันธุ์นี้มากยิ่งขึ้นจากลักษณะนิสัยที่น่ารัก เข้ากับผู้คนได้ง่าย และว่านอนสอนง่าย หากเหล่าทาสกำลังมองหาแมวที่เข้ากับเราได้ง่าย และซื่อสัตย์ แมวสโนว์ชูจึงกลายเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการเป็นเพื่อนที่ดีของคุณ !
คำถามที่พบบ่อย
Q: แมวสโนว์ชูแพงหรือไม่ ?
A: ราคาของน้องแมวสายพันธุ์นี้จะอยู่ที่ 7,000 บาท หรือมากกว่านั้นตามลักษณะพิเศษต่าง ๆ
Q: สามารถรับเลี้ยงแมวสโนว์ชูได้ที่ไหน ?
A: เราสามาถรับเลี้ยงน้องแมวสายพันธุ์สโนว์ชูได้จากฟาร์มเพาะแมวที่มีตามทั่วไปได้ แต่หากต้องการรับเลี้ยงจากฟาร์มต่างประเทศ โดยใช้เครื่องบินในการขนส่งก็ทำได้เช่นกัน แต่ราคาจะสูงกว่าเนื่องด้วยค่าส่งที่ต้องอาศัยความปลอดภัยสูง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- snowshoe
- Snowshoe (แมวสโนว์ชู)
- สายพันธุ์แมวเหมียวน่ารู้
- Snowshoe Cat: Breed Profile, Characteristics & Care
- เมนูอันตราย!!! ห้ามน้องแมวแตะเลยนะของพวกนี้
- แมวโรคไต การให้น้ำเกลือในแมว
- การดูแลแมวที่มีความต้องการเฉพาะด้าน เมื่อแมวเป็นเบาหวาน
- Snow shu – คำอธิบายของสายพันธุ์และตัวละครแมว
AUTHOR: Arthurchiii
2023, JAN 19