No products in the cart.

สิ่งที่ทาสต้องรู้ ก่อนทำหมันเจ้าเหมียว มีอะไรบ้าง?

แชร์ :

ทำหมันแมว ทำหมัน

การทำหมันแมวหรือการควมคุมประชากรสัตว์เลี้ยงเป็นหนึ่งในหน้าที่ที่เจ้าของและบรรดาทาสทั้งหลายต่างต้องรับผิดชอบ ถ้าหากคุณไม่อยากรับมือกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงอย่างน้องแมวที่ให้กำเนิดสมาชิกใหม่ที่อาจมากถึง10ตัว การทำหมันแมวจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการคุมกำเนิดอย่างถาวรค่ะ ว่าแต่การทำหมันเนี่ยอันตรายไหม แล้วต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

วันนี้ PetPlease ได้นำข้อมูลเกี่ยวกับการทำหมันน้องแมวมาแบ่งปันให้ทุกคนแล้วค่า!

การทำหมันคืออะไร

ทำหมันแมว ทำหมัน

การทำหมันคือ การตัดไข่หรือรังไข่และปีกมดลูกทั้งสองข้างออก ซึ่งเป็นกระบวนการที่สัตวแพทย์จะทำให้แมวของคุณไม่สามารถสืบพันธุ์ได้อีก ซึ่งก่อนการผ่าตัดทำหมันจำเป็นที่สัตว์เลี้ยงจะต้องได้รับการตรวจร่างกาย และการเจาะเลือดเสียก่อน เช่น จำนวนเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ค่าตับ ค่าไต เป็นต้น เพื่อให้สามารถแน่ใจได้ว่าน้องแมวมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงเพียงพอที่จะวางยาสลบและได้รับการผ่าตัดเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายและลดความเสี่ยงในการผ่าตัดให้ได้มากที่สุด  ซึ่งการทำหมันสามารถทำได้ทั้งเพศผู้และเพศเมีย โดยมีข้อแตกต่างกันดังต่อไปนี้

การทำหมันแมวเพศผู้

การทำหมันแมวเพศผู้ กระบวการนี้จะเรียกว่า การตัดไข่ เป็นกระบวนการนำเอาอัณฑะและท่อนำน้ำเชื้อของแมวตัวผู้ออก เพื่อให้แมวตัวผู้ไม่สามารถไปผสมพันธุ์หรือทำให้แมวตัวเมียมีลูกได้ แต่ไม่ได้ตัดเอาถุงอัณฑะหรืออวัยวะเพศของแมวออกแต่อย่างใด 

การทำหมันแมวเพศเมีย

การทำหมันแมวเพศเมีย จะเรียกว่าการตัดไข่และมดลูก เป็นการคุมการกำเนิดเพื่อลดการตั้งท้อง โดยสัตวแพทย์จะพิจารณาตัดรังไข่ออกไป โดยในปัจจุบันมีเทคนิค การทำหมันแบบใหม่ซึ่งจะตัดทั้งรังไข่และมดลูกออกไป เพื่อลดการติดสัดที่ยังเกิดขึ้นได้ และลดโอกาสเกิดความผิดปกติที่มดลูกของแมวตัวเมีย

ประเภทของการผ่าตัดทำหมัน

ทำหมันแมว ทำหมัน

โดยปกติแล้วการควมคุมประชากรแมวอาจแบ่งได้หลัก ๆ 2 วิธี คือ 

การคุมกำเนิดแบบชั่วคราว

เป็นการคุมกำเนิดที่ไปซื้อยามาฉีดเอง หรือให้ยาคุมฮอร์โมนแบบมนุษย์ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงและเป็นอันตรายต่อน้องแมวสูง วิธีนี้จึงได้ถูกยกเลิกไปเรียบร้อยแล้ว

การคุมกำเนิดแบบถาวร

เป็นการคุมกำเนิดที่เป็นที่นิยมและปลอดภัยซึ่งต้องไปทำที่คลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ โดยปัจจุบันการทำหมันสัตว์เลี้ยงแบบถาวรโดยทั่วไปจะจำแนกตามเพศไม่เหมือนกัน ซึ่งเจ้าของสามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมของน้องแมวหรืออาจขึ้นอยู่กับคำแนะนำของสัตวแพทย์ มีดังต่อไปนี้

การทำหมันแมวเพศผู้สามารถจำแนกได้เป็น 2 วิธี

โดยทั่วไปการทำหมันเพื่อควบคุมประชากรหรือลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในน้องเหมียวเพศผู้สามารถทำได้ 2 แบบ

  1. แบบฉีดยา ซึ่งไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากอาจจะไม่ได้ผลที่มีประสิทธิภาพมากพอในการคุมกำเนิด และมีผลข้างเคียงที่รุนแรง
  2. แบบผ่าตัดเอาลูกอัณฑะออก(Gonadectomy) ซึ่งเป็นแบบที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย และได้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดมากกว่า ที่สำคัญปลอดภัยกว่าด้วย

การทำหมันแมวเพศเมียสามารถจำแนกได้2 วิธี

  1. การผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Laparoscopic Surgery) คือ การผ่าตัดโดยการกรีดท้องเป็นรูเล็กๆให้มีขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร จำนาน2-3 รู เพื่อที่จะได้สามารถสอดกล้องและเครื่องมือเข้าไปในช่องท้อง และทำการผ่าตัด โดยจะทำการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปในช่องท้องเพื่อให้ช่องท้องเกิดการขยายตัวและสะดวกต่อการทำงาน และจะทำการสูบก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกหลังจากทำการผ่าตัดเสร็จ ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก
  2. การผ่าตัดแบบเปิดช่องท้อง เป็นการผ่าตัดที่เป็นวิธีที่นิยมทำมากที่สุด ซึ่งโดยทั่วไปจะผ่าตัดโดยการเปิดผ่านบริเวณกลางหน้าท้อง หรือบริเวณด้านข้างของลำตัวน้องแมว ซึ่งขนาดของแผลผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับขนาดของลำตัวของสัตว์ และระบบสืบพันธุ์ของน้องนั่นเองค่ะ

ประโยชน์จากการทำหมัน

การทำหมันน้องแมวมีประโยชน์ต่อทั้งเจ้าของและเจ้าเหมียว โดยตัวผู้และตัวเมียจะมีประโยชน์ที่ต่างกันหลายข้อ ดังนี้

ประโยชน์จากการทำหมันแมวเพศผู้

ทำหมันแมว ทำหมัน
  • ช่วยให้สุขภาพดีในระยะยาว ป้องกันและลดความเสี่ยงจากโรคบางชนิด
  • ลดพฤติกรรมการหนีเที่ยว
  • ลดพฤติกรรมก้าวร้าว
  • ลดพฤติกรรมการปัสสาวะไม่เป็นที่
  • ช่วยประหยัดเงินในระยะยาว
  • ช่วยคุมประชากรแมว

ประโยชน์จากการทำหมันแมวเพศเมีย

ทำหมันแมว ทำหมัน
  • ลดโอกาสเกิดโรคประจำตัวในแมวเพศเมีย
  • ลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์
  • ลดพฤติกรรมการหนีเที่ยว

ก่อนทำหมันต้องเตรียมตัวอย่างไร

ทำหมันแมว ทำหมัน

ก่อนทำหมันแมวเจ้าของควรเข้าไปปรึกษาสัตวแพทย์ให้เรียบร้อยเสียก่อน เพื่อนัดวันทำหมัน และพูดถึงวิธีการเตรียมตัวก่อนทำหมันอย่างถูกวิธี ก่อนทำหมันเจ้าของต้องแน่ใจว่าตนมีเวลามากพอที่จะดูแลเอาใจใส่น้องแมวในช่วงที่น้องแมวต้องพักฟื้น ช่วงเวลาในการทำหมันควรเป็นช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เพราะหลังจากที่น้องทำหมันมาแล้วคุณต้องคอยสังเกตอาการน้องแมวเป็นระยะๆเพราะอาจเกิดอาการผิดปกติขึ้นได้ตลอดเวลา โดยวิธีการเตรียมตัวก่อนพาน้องแมวไปทำหมัน หลักๆมีดังต่อไปนี้

การเตรียมตัวก่อนทำหมันสำหรับแมวเพศผู้

  • ให้น้องแมวงดน้ำ งดอาหาร ขนมรวมถึงนม หลัง2-3 ทุ่มเป็นต้นไป อาจให้น้ำได้เล็กน้อยระหว่างคืนก่อนมาทำหมัน แต่ควรงดตั้งแต่เช้าวันทำหมันเลย
  • ไม่ให้น้องแมวออกไปข้างนอกคืนก่อนทำหมัน เพราะถ้าหากตัวเลอะหรือสัมผัสสิ่งสกปรกอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อหลังทำหมันได้
  • เช้าวันที่ทำหมันไม่ควรให้น้องทำกิจกรรมหนักหรือเคลื่อนไหวตัวเยอะ อย่างเช่นออกกำลังกายหรือวิ่งเล่นหนัก ๆ

การเตรียมตัวก่อนทำหมันสำหรับแมวเพศเมีย

  • พาไปเจาะเลือดและตรวจสุขภาพ
  • งดน้ำงดอาหารอย่างน้อยเป็นเวลา8ชั่วโมง หรืออาจขึ้นอยู่กับคำแนะนำของสัตวแพทย์
  • เตรียมที่นอนหรือที่พักสำหรับให้น้องแมวพักฟื้นหลังจากการทำหมัน 
  • เตรียมอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงเลียแผล เช่น ปลอกคอกันเลียหรือเสื้อกันเลีย
  • เตรียมเวลาว่างพาไปหาหมอหลังผ่าตัด เพื่อตรวจเช็คอาการและตัดไหมออก

พฤติกรรมหลังจากน้องแมวทำหมัน

ทำหมันแมว ทำหมัน

โดยปกติแล้วหลังจากที่น้องแมวทำหมันเสร็จ น้องแมวจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกาย นิสัย และพฤติกรรมเพื่อการดูแลน้องแมวที่ถูกต้อง ที่สำคัญเจ้าของและเหล่าบรรดาทาสจะต้องงคอยสังเกตและรู้ว่าน้องแมวมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนจากเดิมหรืออาการผิดปกติอะไรบ้าง

พฤติกรรมหลังการทำหมันของน้องแมวเพศผู้

หลังจากผ่านการทำหมันแมวผ่านไปแล้ว จะส่งผลให้พฤติกรรมต่างๆในน้องแมวเพศผู้เปลี่ยนไปสาเหตุมาจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยนั่นเอง ซึ่งพฤติกรรมของน้องแมวเพศผู้จะเห็นได้ชัดกว่าน้องแมวเพศเมีย  โดยพฤติกรรมที่เห็นได้ชัด คือ นิสัยก้าวร้าวลดลง พฤติกรรมหนีเที่ยวลดลง พฤติกรรมการผสมพันธุ์ลดลง การฉี่กางอาณาเขตลดลง น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น

พฤติกรรมการทำหมันของน้องแมวเพศเมีย

สำหรับน้องแมวเพศเมียหลังจากผ่านการทำหมันไปแล้ว จะพบว่าพฤติกรรมติดสัดลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งการส่งเสียงร้อง และอาการที่ชอบบิดตัวไปมาเพื่อเรียกร้องความสนใจจากแมวเพศผู้ มีนิสัยที่สงบขึ้นไม่ทำลายข้าวของ ติดบ้านมากขึ้น รวมไปถึงการมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นด้วย

การดูแลน้องแมวหลังทำหมันเสร็จ

ทำหมันแมว ทำหมัน

เนื่องจากการทำหมันน้องแมวจะส่งผลให้น้องแมวทั้งเพศผู้และน้องแมวเพศเมีย มีฮอร์โมนที่ต่ำลง รวมไปถึงพฤติกรรมต่างๆ ฉะนั้นเจ้าของและเหล่าทาสต้องทำหน้าที่ดูแลเอาใจใส่น้องเป็นพิเศษมากยิ่งขึ้นหลังจากทำหมันแมวให้น้องแล้ว ควรทำตามคำแนะนำเบื้องต้นต่อไปนี้ค่ะ

  • การจำกัดบริเวณ

หลังจากการทำหมันให้น้องแมวแล้ว ในสัปดาห์แรกควรจำกัดบริเวณ เพื่อให้น้องแมวเคลื่อนไหวน้อยที่สุด จะได้เป็นอันตรายกับแผลผ่าตัดค่ะ

  • การใส่อุปกรณ์ป้องกันไม่ให้น้องแมวเลียแผล

การใส่อุปกรณ์ป้องกันการเลียแผลเป็นเรื่องที่สำคัญและไม่ควรมองข้าม เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้น้องเลียแผลตัวเอง ไม่ฉะนั้นอาจทำให้แผลของน้องติดเชื้อและมีโรคอื่น ๆ ตามมาได้ ควรใส่อุปกรณ์ป้องกันการเลียแผลไว้อย่างน้อย 5-7วัน แต่ถ้าหากมีการเย็บแผลควรสวมไว้ 10-14วัน หรืออาจขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสัตวแพทย์ค่ะ

  • อย่าให้แผลโดนน้ำหรือเปียกน้ำ

หลังจากน้องแมวทำการผ่าตัดทำหมันมาแล้วในช่วงแรก ๆ ไม่ควรให้น้องแมวสัมผัสน้ำโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้แผลเกิดการติดเชื้อได้ค่ะ

  • เข้าใจพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม

การเข้าใจพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิมหลังจากการทำหมันของน้องแมว เป็นหน้าที่ที่เหล่าทาสต้องให้ความเข้าใจดูแลและรับผิดชอบถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของน้องซึ่งเป็นเรื่องที่เจ้าของไม่ควรละเลย เพราะการมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปสำหรับน้องแมวอาจดูเป็นเรื่องปกติ แต่หากเจ้าของละเลยไม่คอยสังเกตหรือรีบจัดการ นั่นอาจเป็นสัณญาณเตือนถึงปัญหาสุขภาพหรือโรคต่างๆตามมาได้ เมื่อถึงเวลานั้นอาจจะสายเกินไปค่ะ

  • คอยสังเกตโรคต่างๆหรือความผิดปกติของน้องแมว

อย่างที่เคยได้กล่าวไปข้างต้นว่า หลังจากการทำหมันน้องแมวอาจจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆตามมาได้ ดังนั้นเจ้าของจึงต้องคอยสังเกตอาการที่ผิดปกติไปจากเดิมอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากพบอาการผิดปกติ ให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์โดยทันที

  • แยกน้องแมวที่ทำหมันออกจากสัตว์เลี้ยงอื่นๆ

หลังจากที่น้องแมวผ่านการทำหมันมาแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ทาสควรทำเลยก็คือการแยกน้องแมวที่ทำหมันออกห่างจากสัตว์เลี้ยงอื่นๆ เพราะพวกเขาอาจจะเล่นกันจนถึงขั้นรุนแรงและอาจเกิดการทะเลาะได้ จนทำให้ไปโดนแผลผ่าตัดได้

  • พบหมดตามนัด

แน่นอนค่ะว่าการทำหมันแมวมันคือการผ่าตัดชนิดหนึ่ง การพบหมอหรือสัตวแพทย์ตามนัดจึงเป็นเรื่องปกติและเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพื่อที่คุณหมอจะได้ตรวจหรือประเมินอาการของน้องแมวหลังจากการทำหมัน ซึ่งจะมีการตัดไหม ล้างแผล หรือทำแผลอยู่ร่วมด้วยซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

  • เลือกอาหารที่เหมาะสม

หลังจาการทำหมันน้องแมว ผลที่จะตามมาอย่างเห็นได้ชัดเลยก็คือน้องแมวจะมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นถือเป็นเรื่องที่ดีค่ะ แต่จะต้องมีการดูแลเอาใจใส่ในเรื่องของอาหารการกินและปริมาณที่เหมาะสม เพราะถ้าหากได้รับสารอาหารที่เกินพอดีก็อาจทำใหน้องน้ำหนักขึ้นได้

  • อย่าอุ้มหรือยกตัวน้องแมวขึ้นมา หากไม่จำเป็น

หลังจากทำการผ่าตัดไม่ควรอุ้มหรือยกตัวน้องขึ้นมา เพราะอาจทำให้แผลของน้องแมวฉีกได้ง่ายๆ ถ้าหากอุ้มหรือยกน้องแมวบ่อยเกินไป แต่ถ้าหากมีเหตุจำเป็นที่จะต้องอุ้มน้องแมวจริงๆให้ลองใช้มือข้างหนึ่งช้อนรองขาหลังไว้ ส่วนอีกมือหนึ่งรองส่วนอก ใต้ขาหน้า แล้วอุ้มหรือยกขึ้นมาแบบเบาๆ อย่างทะนุถนอมค่ะ

โภชนาการหลังทำหมัน

ทำหมันแมว ทำหมัน

น้องแมวที่ทำหมันแล้วจะมีความต้องการในด้านโภชนาการที่แตกต่างกันออกไป เจ้าของแมวควรศึกษาข้อมูลและทราบรายละเอียดเกี่ยวกับโภชนาการได้เป็นอย่างดี เพื่อที่จะสามารถเลือกอาหารได้อย่างเหมาะสม ซึ่งสารอาหารที่จำเป็นสำหรับน้องแมวหลังจาการทำหมันก็มีดังนี้

  • ไขมันและโปรตีน

อาหารของน้องแมวหลังจากทำหมันมาแล้วควรเป็นอาหารที่มีพลังงานและไขมันต่ำ หรืออาจจะเป็นอาหารที่มีไขมันดีและเน้นสารอาหารจำพวกโปรตีน เพื่อที่จะไปช่วยเสริมสร้างและฟื้นฟูร่างกายของน้องแมวให้กลับมาแข็งแรง

  • คาร์โบเดรต

การให้อาหารที่ประกอบไปด้วยคาร์โบไฮเดรตชนิดที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ถือเป็นทางเลือกที่ดี เพราะจะช่วยให้อาหารถูกย่อยและดูดซึมได้ช้าลงในทางเดินอาหาร ทำให้น้องแมวได้รับพลังงานอย่างต่อเนื่องและยาวนาน อีกทั้งช่วยลดความอยากอาหารและควบคุมน้ำหนักในแมวที่ทำหมันแล้วได้

  • วิตามินและแร่ธาตุ

วิตามินและแร่ธาตุถือเป็นสารอาหารที่จำเป็นและไม่ควรมองข้าม ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างให้น้องแมวมีสุขภาพที่แข็งแรง และช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน 

  • สารต้านอนุมูลอิสระ

สารต้านอนุมูลอิสระเป็นสารที่มีส่วนช่วยในการต่อต้านอนุมูลอิสระที่เป็นอันตรายต่อเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งจะช่วยชะลอความแก่และความเสื่อมของอวัยวะในร่างกายได้รวมไปถึงยังสามารถช่วยลดระดับปริมาณของคอลเลสเตอรอลได้ดีอีกด้วย

ความเสี่ยงจากการทำหมันที่น้องแมวต้องพบเจอ

ทำหมันแมว ทำหมัน

โดยปกติแล้วแล้วความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนหลังจากการทำหมัน มักเป็นสิ่งที่ต้องพบเจออยู่แล้วเช่นเดียวกับการผ่าตัดทุกประเภททั้งน้องแมวเพศผู้และน้องแมวเพศเมีย แต่สำหรับเพศผู้จะมีโอกาสเสี่ยงน้อยกว่า โดยความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอาจเป็นสัณญาณอันตราย โดยความเสี่ยงที่เกิดขึ้น อาจมีดังนี้

  • ความเสี่ยงจากการทำหมันที่พบได้ในน้องแมวเพศผู้
  • ได้รับผลข้างเคียงจากยาสลบ

เนื่องจากยาสลบมีฤทธิ์ที่ไปกดการทำงานของปอดและหัวใจ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แต่เป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้น้อยมากเพราะสัตวแพทย์จะทำการตรวจร่างกายและตรวจเลือดเพื่อที่จะดูความพร้อมก่อนผ่าตัดอยู่แล้ว นอกจากนี้น้องแมวที่มีอาการป่วย เช่น อาเจียน ท้องเสีย ในวันที่ผ่าตัดก็อาจเพิ่มโอกาสที่จะด้รับอันตรายขณะอยู่ใต้ฤทธิ์ยาสลบ อาจจะทำให้ต้องเลื่อนการทำหมันของน้องแมวเพศผู้ออกไปก่อน

  • อาการสำลักขณะอยู่ภายใต้ยาสลบ

น้องแมวที่ได้รับยาสลบจะสูญเสียความสามารถในการกลืนอาหารและน้ำชั่วคราว หากน้องแมวไม่ได้รับการอดอาหารหรือน้ำอย่างเหมาะก่อนการได้รับยาสลบ อาจส่งผลให้อาหารและน้ำเข้าจากกระเพาะอาหารไหลเข้าสู่ปอดของน้องแมวและอาจทำให้เกิดการเสียชีวิตขึ้นได้

  • การติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นได้หลักจากผ่าตัด

อาการการติดเชื้อหลังผ่าตัดในกรณีนี้อาจเกิดขึ้นได้บริเวณรอบๆแผลผ่าตัดหรือด้านในของแผลผ่าตัด ซึ่งส่วนมากสามารถป้องกันได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ

  • อาจเกิดการท้องผูก

สำหรับอาการท้องผูกเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้สำหรับน้องแมวบางตัวหลังจากการทำหมัน ซึ่งสามารถสังเกตได้ว่าถ้าหากน้องแมวไม่ขับถ่ายอุจจาระเลยในรอบ48-72ชั่วโมง ควรรีบปรึกษาสัตวแพทย์เนื่องจากน้องมีภาวะขาดน้ำร่วมด้วย หรืออาการอื่นๆแทรกซ้อนอยู่ก็เป็นได้ ซึ่งการที่น้องแมวมีอาการท้องผูก ไม่ควรให้เป็นยาระบายหรืออาหารเสริมกับแมวโดยเด็ดขาด เพราะอาจจะก่อให้เกิดอันตรายซึ่งสามารถทำให้น้องแมวเสียชีวิตได้นั่นเอง

  • ความเสี่ยงจากการทำหมันที่พบได้ในน้องแมวเพศเมีย

หลังจากการผ่าตัดทำหมันในน้องแมวเพศเมียจะมีความเสี่ยงที่รุนแรงกว่าน้องแมวเพศผู้ ซึ่งความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอาจเป็นอันตรายได้ถึงขั้นเสียชีวิต ที่สำคัญเมื่อพบอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบสัตวแพทย์โดยทันที

  • เลือดออกบริเวณแผลผ่าตัด
  • มีน้ำหนองไหลออกมาจากแผลผ่าตัด
  • รอยเย็บแผลผ่าตัดเป็นแดงๆและบวมขึ้น
  • น้องแมวมีพฤติกรรมเดินหลังค่อมซึ่งจะสามารถสังเกตได้จากแผ่นหลังที่โก่งงอขึ้น
  • ไม่ยอมกินอาหารและน้ำหลังจากผ่าตัด
  • มีภาวะซึมรุนแรงไม่ตอบสนองต่อการดูแลหรือการฟื้นฟูจากเจ้าของ

คำถามที่พบบ่อย

Q: ควรทำหมันน้องแมวตอนอายุเท่าไหร่?

A: สำหรับอายุที่เหมาะสำหรับการทำหมันน้องแมว จะดูจากอายุที่เริ่มติดสัดเป็นครั้งแรกซึ่งขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ พันธุกรรม น้ำหนักตัวและความสมบูรณ์ของระบบสืบพันธุ์ ซึ่งการติดสัดครั้งแรกสำหรับน้องแมวจะอยู่ในช่วง 6-12 เดือน ดังนั้นอายุที่เหมาะสมสำหรับการผ่าตัดทำหมันจะอยู่ที่ช่วง 8-10เดือน เพื่อให้ระบบสืมพันธุ์พัฒนาอย่างเต็มที่แล้วนั่นเองค่ะ ซึ่งระยะเวลาในการทำหมันของเพศเมียและเพศผู้ก็จะต่างกัน โดยในแมวเพศผู้สามารถทำได้ในช่วงอายุ 7-8 เดือน เพื่อรอให้ไข่ลงถุงเสียก่อน และควรเริ่มทำหมันก่อนที่จะน้องแมวจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวค่ะ สำหรับเพศเมีย สามารถทำหมันได้ในช่วงอายุประมาณ 5 เดือนขึ้นไป หรือมีน้ำหนัก 2 กิโลกรัมขึ้นไปค่ะ ที่สำคัญต้องไม่ท้องหรือมีการผสมพันธุ์ภายในระยะเวลา2สัปดาห์ แต่ถ้าหากเป็นแมวแม่ลูกอ่อน ต้องรอให้ลูกแมวอายุ 1.5เดือนก่อนค่ะ หรือสามารถเริ่มกินอาหารเองได้แล้ว จึงจะสามารถพาแม่แมวไปทำหมันได้นั่นเองค่ะ

Q: หลังจากทำหมันแมวเพศเมียจะมีนิสัยเปลี่ยนไหม?

 A: แน่นอนค่ะลักษณะนิสัยและพฤติกรรมของน้องแมวทั้งเพศเมียและเพศผู้จะเปลี่ยแปลงไปจากเดิมซึ่งเป็นเรื่องที่พบได้ปกติทั่วไป เช่น มีนิสัยอยู่ติดบ้านมากขึ้น ไม่ค่อยอยากท่องเที่ยวหรือเคลื่อนไหวร่างกายเยอะมากนัก หรือมีน้ำหนักขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องดีค่ะ ถ้าหากไม่ได้เกินเกณฑ์มาตรฐานค่าน้ำหนักตัวของน้องแมวโดยทั่วไปก็ไม่เป็นไร แต่ต้องระมัดระวังอย่าให้เกินเกณฑ์นะคะ ไม่อย่างนั้นอาจเสี่ยงเป็นโรคอ้วนหรือโรคเบาหวานได้ และมีนิสัยที่สงบขึ้น ไม่ส่งเสียงเรียกร้องดังหรือทำลายข้าวของซึ่งจะเป็นพฤติกรรมที่พบได้บ่อยในน้องแมวที่กำลังติดสัดนั่นเองค่ะ

Q: ทำหมันแแล้วแมวเพศผู้จะเลิกฉี่ไม่เป็นที่ไหม?

A: การทำหมันแมวจะช่วยลดพฤติกรรมการปัสสาวะไม่เป็นที่ได้ค่ะ หลังทำหมันแมวเพศผู้แล้วน้องแมวจะปัสสาวะเพื่อแสดงอาณาเขตน้อยลง ช่วยให้ผู้เลี้ยงหรือเจ้าของสอนการปัสสาวะได้ง่ายขึ้น

Q: การทำหมันแมวราคาแพงไหม?

A: สำหรับในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการทำหมันแมวนั้นต้องบอกว่าขึ้นอยู่กับวิธีที่ใช้ในการวางยาสลบ รวมถึงยังมีปัจจัยอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่เจ้าของหรือคนเลี้ยงจะต้องรู้เกี่ยวกับการทำหมันแมวในราคาต่างๆ ก็คือเรื่องของวิธีการวางยาสลบก่อนการทำหมันน้องแมวนั่นเองค่ะ

ซึ่งมีด้วยกัน 2 วิธี ได้แก่

  1. วิธีการดมยาสลบ เป็นวิธีการทำหมันแมวที่มีราคาสูงมากกว่าวิธีการอื่นๆ แต่ก็มีความปลอดภัยสูงกว่า และทำให้น้องแมวสามารถฟื้นตัวจากยาสลบหลังผ่าตัดได้เร็วขึ้น
  2. วิธีการฉีดยาสลบ เป็นวิธีที่ราคาย่อมเยาว์กว่าแบบดมยาสลบ แต่ก็มีความเสี่ยงสูงกว่าเช่นกัน

Q: หากน้องแมวทำหมันเร็วเกินไปจะเกิดผลอย่างไรบ้าง?

A: ถึงแม้ว่าการทำหมันแมวตั้งแต่วัยลูกแมวจะช่วยลดการเกิดที่ไม่ต้องการหรือไม่ตั้งใจได้เป็นอย่างดี แต่อาจส่งผลทำให้กระดูกผิดปกติ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของน้องแมว หากทำหมันน้องแมวเร็วเกินไปอาจทำให้ท่อปัสสาวะของแมวแคบลง และไปเพิ่มความเสี่ยงของการอุดตันของทางเดินปัสสาวะซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เลยล่ะค่ะ

เป็นยังไงกันบ้างคะ สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับการทำหมันแมว ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดเลยน้า แต่ต้องคอยระมัดระวังดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี ซึ่งการทำหมันแมวไม่ได้แค่ช่วยในเรื่องของการคุมกำเนิดและควบคุมประชากรสัตว์เลี้ยงแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังช่วยทำให้น้องแมวมีสุขภาพที่ดีขึ้นในระยะยาวรวมไปถึงยังช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันโรคได้ด้วย และเพื่อการรับมือกับแมวที่ทำหมันได้อย่างถูกวิธี เจ้าของและคนเลี้ยงควรปรึกษาสัตวแพทย์ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดทั้งก่อนทำและหลังทำหมันนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก

AUTHOR: AEOHHH

2023, JAN 06

บทความอื่นๆ

ขูดหินปูนสุนัขและแมว!? ปล่อยให้หินปูนเยอะเสี่ยงโรคหลายอย่างจริงมั้ย
 ตรวจสุขภาพแมว เราควรตรวจบ่อยแค่ไหน เป็นเรื่องที่เราไม่ควรมองข้าม!?
ทำหมันแมว อันตรายมั้ย เราควรเตรียมตัวยังไงดี?
แมวท้องผูก ภัยเงียบที่ห้ามมองข้าม !
ทาสจ๋า เรามาทำความรู้จัก 4 จุด นวดคลายเครียดให้น้องแมวกัน!
เห็บหมัดเต็มตัวน้องแมวไปหมดเลย กำจัดยังไงดี!?