No products in the cart.

มาทำความรู้จัก “ดัชชุน” เจ้าหมาไส้กรอกที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศเยอรมนี! 

แชร์ :

Dachshund ดัชชุน หมาไส้กรอก เลี้ยงดัชชุน ดัชชุนกิน ดัชชุนโรค

สุนัขพันธุ์ดัชชุน (Dachshund) เป็นสุนัขสุดแสนน่ารักที่มีต้นกำเนิดมากจากประเทศเยอรมนี และด้วยรูปร่างของเจ้าดัชชุนที่มีขาสั้น และหลังที่ยาว มองเผิน ๆ รูปร่างคล้ายไส้กรอก จึงทำให้มีผู้คนตั้งฉายาให้เจ้าดัชชุนว่า “สุนัขไส้กรอก” สุนัขพันธุ์ดัชชุน เป็นสุนัขที่เป็นที่รักของทาสหมาแทบทุกคน เพราะมันมีหน้าตาที่น่ารัก น่าเอ็นดู 

ใครที่อยากจะเลี้ยงเจ้าดัชชุน วันนี้ PetPlease ได้รวบรวมข้อมูลมาให้ทุกคนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องต้นกำเนิด ลักษณะรูปร่างของเจ้าดัชชุน เรื่องอาหาร โภชนาการ และเรื่องราวอื่น ๆ ที่คนที่อยากเลี้ยงต้องศึกษา ถ้าพร้อมแล้ว มาทำความรู้จักเจ้าดัชชุนกันเถอะ! 

บทความนี้ขอนำเสนอ

  • ถิ่นกำเนิดของดัชชุน มาจากไหนกันนะ!?
  • ลักษณะทางกายภาพของดัชชุน 
  • นิสัยและพฤติกรรมสุดน่ารักของดัชชุน! 
  •  อาหารและโภชนาการที่ดัชชุนต้องการ 
  • การดูแลที่เจ้าดัชชุนต้องการเป็นพิเศษ 
  • โรคที่พบบ่อยในดัชชุน
  • เจ้าดัชชุนเหมาะกับเจ้าของแบบไหน!?  
  • คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับดัชชุน

ถิ่นกำเนิดของดัชชุน มาจากไหนกันนะ!? 

Dachshund ดัชชุน หมาไส้กรอก เลี้ยงดัชชุน ดัชชุนกิน ดัชชุนโรค

สุนัขสายพันธุ์ดัชชุน มีต้นกำเนิดจากประเทศเยอรมนี ซึ่งสุนัขพันธุ์ดัชชุนได้มีการพัฒนาสายพันธุ์มาจากสุนัขแบดเจอร์ ที่เรียกว่า “ดอกซี่ (Doxie)”  ในสมัยก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 15 สุนัขพันธุ์ดัชชุนถูกเลี้ยงให้เป็นสุนัขสำหรับล่าสัตว์ จนมาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ดัชชุนได้รับความนิยมเลี้ยงจากเหล่าราชวงศ์ โดยเฉพาะพระราชินีวิกตอเรีย ทำให้นักเพาะพันธุ์มีการพัฒนาสุนัขสายพันธุ์ดัชชุน ให้มีความเป็นสัตว์เลี้ยงมากขึ้น ทั้งเรื่องของขนาดให้เหลือเฉลี่ยประมาณ 10 ปอนด์ หลังจากมีการพัฒนาสายพันธุ์ ได้มีการส่งออกสุนัขสายพันธุ์ดัชชุนไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะเป็นที่รู้จักเเละได้รับความนิยมเลี้ยงในปัจจุบัน  นอกจากนั้นสุนัขสายพันธุ์นี้ยังถูกใช้สำหรับการล่าสัตว์ในยุโรป แต่ในทวีปอเมริกาเหนือ สุนัขตัวนี้ถูกเลี้ยงให้เป็นสัตว์เลี้ยงในครอบครัว และดัชชุนยังเป็นสุนัขสายพันธุ์นึง ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดใน AKC อีกด้วย

ลักษณะทางกายภาพของดัชชุน 

Dachshund ดัชชุน หมาไส้กรอก เลี้ยงดัชชุน ดัชชุนกิน ดัชชุนโรค

สุนัขดัชชุน แบ่งออกได้ 3 กลุ่ม แบ่งตามลักษณะขน คือขนสั้น (smooth hair) ขนยาว (long hair) และขนหยาบ  (wire hair) และสุนัขสายพันธุ์ดัชชุนก็มีทั้งหมด 3 ขนาด คือ  ขนาดมาตรฐาน ขนาดเล็ก และ kaninchen หรือไซซ์กระต่าย ซึ่งสุนัขดัชชุนขนาด kaninchen นั้น ไม่ได้เป็นที่ยอมรับจากสมาคมสุนัขในประเทศสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร แต่กลับได้รับการยอมรับจากทุกสมาคมที่อยู่ในกลุ่ม World Canine Federation ซึ่งประกอบด้วยสมาคมสุนัขจากกว่า 83 ประเทศทั่วโลก 

สุนัขดัชชุนขนาดมาตรฐานเมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 15 ปอนด์ หรือ 7 กิโลกรัม ถึง 28 ปอนด์ หรือ 13 กิโลกรัม ส่วนขนาดเล็กมีน้ำหนักที่หลากหลาย แต่มักจะอยู่ในช่วง 11 ปอนด์ หรือ 5 กิโลกรัม และสำหรับขนาดของ kaninchen หรือไซซ์กระต่าย จะมีน้ำหนักอยู่ในช่วง 8 ปอนด์ หรือ 4 กิโลกรัม ถึง 10 ปอนด์ หรือ 5 กิโลกรัม และอายุโดยเฉลี่ยของสุนัขสายพันธุ์นี้อยู่ที่ 14 – 17 ปี 

จุดเด่นของสุนัขสายพันธุ์ดัชชุน คือ ลำตัวยาว ขาสั้น และมีอุ้งเท้าที่คล้ายใบพายไว้ใช้สำหรับการขุดคุ้ยอีกด้วย นอกจากนี้เจ้าดัชชุนยังมีผิวหนังที่ยืดหยุ่นมาก เพราะเมื่อต้องล่าสัตว์แล้วต้องผ่านเข้าไปในช่องโพรงไม้แคบ ๆ ผิวหนังของมันจะได้ไม่ฉีกขาด  

นิสัยและพฤติกรรมสุดน่ารักของดัชชุน! 

Dachshund ดัชชุน หมาไส้กรอก เลี้ยงดัชชุน ดัชชุนกิน ดัชชุนโรค

สุนัขสายพันธุ์ดัชชุน เป็นสุนัขที่ฉลาด ร่าเริง ขี้เล่น แต่เนื่องจากในอดีตสุนัขสายพันธุ์ดัชชุนถูกเลี้ยงให้เป็นนักล่า ทำให้มีนิสัยชอบลองผิดลองถูก และมีนิสัยค่อนข้างดื้อติดตัวมาบ้าง หากเจ้าดัชชุนโกรธหรือไม่พอใจ ก็จะมีนิสัยที่ก้าวร้าว ชอบทำลายข้าวของ แต่ถึงอย่างนั้นเจ้าดัชชุนก็มีนิสัยที่น่ารักไม่แพ้สายพันธุ์อื่น ๆ เลยค่ะ 

และนอกจากนี้นิสัยของเจ้าดัชชุนนั้น ยังขึ้นอยู่กับลักษณะของขนอีกด้วย สุนัขดัชชุนที่มีขนหยาบ จะมีลักษณะนิสัยที่ค่อนข้างซุกซน  ชอบก่อเรื่องให้เจ้าของปวดหัวเล่น ๆ ส่วนเจ้าดัชชุนที่มีขนยาว จะมีลักษณะนิสัยที่รักสงบ ชอบอยู่เงียบๆ ส่วนเจ้าดัชชุนขนสั้น จะมีนิสัยอยู่กึ่งกลางระหว่างดัชชุนขนยาวและขนหยาบ แต่ไม่ใช่เจ้าดัชชุนทุกตัวจะมีลักษณะนิสัยแบบเดียวกันทั้งหมด นิสัยของเจ้าดัชชุนก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม และการเลี้ยงดูด้วยเช่นกัน 

อาหารและโภชนาการที่ดัชชุนต้องการ 

Dachshund ดัชชุน หมาไส้กรอก เลี้ยงดัชชุน ดัชชุนกิน ดัชชุนโรค

สุนัขสายพันธุ์ดัชชุนไม่เหมือนกับสุนัขสายพันธุ์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอายุ กิจกรรม การเผาผลาญ และน้ำหนัก น้ำหนักเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับเจ้าดัชชุน จึงต้องมีการคำนวณจำนวนอาหารก่อนให้ทุกครั้ง และสุนัขดัชชุนถือว่าเป็นสุนัขที่มีขนาดเล็ก ทำให้มีกระเพาะที่เล็กลงตามขนาดตัว ทำให้กินอาหารได้น้อย แต่ย่อยอาหารได้อย่างรวดเร็ว อาหารที่ควรให้เจ้าดัชชุนจึงต้องเป็นอาหารที่มีคุณภาพสูง และได้รับสารอาหารครบถ้วน นอกจากนี้ควรเลือกอาหารเม็ดที่มีขนาดพอดีกับปากของเจ้าดัชชุน จะทำให้เคี้ยวง่าย และส่งผลดีต่อระบบย่อยอาหารอีกด้วย นอกจากนี้เรายังสามารถให้อาหารเจ้าดัชชุนตามอายุได้อีกด้วย ซึ่งแบ่งได้ 3 ช่วงวัย ดังนี้ วัยเด็ก โตเต็มวัย และวัยชรา 

อาหารที่เหมาะกับดัชชุน วัยเด็ก 

สำหรับสุนัขสายพันธุ์ดัชชุน ในวัยเด็กเป็นวัยที่ควรใส่ใจเรื่องอาหารและโภชนาการมากที่สุด เพราะสุนัขวัยนี้ต้องการสารอาหารเพื่อนำไปใช้ในการเจริญเติบโต พัฒนาสมอง และพัฒนาอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก ควรให้สุนัขวัยนี้ได้กินนมจากแม่เยอะ ๆ ให้มั่นใจว่าสุนัขวัยนี้จะได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน นอกจากอาหารแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ น้ำ น้ำเป็นอีกสิ่งสำคัญที่ช่วยในการเจริญเติบโต น้ำสามารถช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ป้องกันการขาดน้ำ และยังช่วยในเรื่องการย่อยอาหารอีกด้วย และอีกเรื่องที่ต้องใส่ใจมาก ๆ คือการกินอาหารที่รวดเร็วของเจ้าดัชชุน การกินอาหารเยอะ ๆ ภายในเวลาที่รวดเร็ว อาจทำให้สุนัขรู้สึกไม่สบายตัวได้ ขอแนะนำเจ้าของว่าควรใช้ชามกินอาหารช้าให้เจ้าดัชชุน เพื่อป้องกันการกินอาหารที่เร็วเกินไป 

อาหารที่เหมาะกับดัชชุน โตเต็มวัย

สุนัขดัชชุนที่มีอายุ 1 ปี ขึ้นไป จะถือว่าเป็นสุนัขที่โตเต็มวัยแล้ว อาหารและโภชนาการที่ควรได้รับก็จะแตกต่างจากตอนเป็นวัยเด็ก สารอาหารที่เจ้าดัชชุนควรได้รับ คือ โปรตีนและไขมัน โปรตีนจะทำให้ร่างกายและกล้ามเนื้อของร่างกายแข็งแรง ไขมันให้พลังงานเยอะ ย่อยง่าย ทำให้เจ้าดัชชุนของเราไม่มีอาการหิวระหว่างวันนั่นเอง 

อาหารที่เหมาะกับดัชชุน วัยชรา

สำหรับสุนัขสายพันธุ์ดัชชุนที่มีอายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไป จะถือว่าเป็นสุนัขวัยชราแล้ว สุนัขวัยนี้พวกเขาจะเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ดังนั้นเราต้องควบคุมปริมาณอาหารและน้ำหนักของเจ้าดัชชุนวัยชรา เพื่อป้องกันการเกิดโรคอ้วนในอนาคต 

สุนัขวัยนี้ควรได้รับอาหารที่โปรตีนสูง คาร์โบไฮเดรตต่ำ และปริมาณอาหารที่ได้รับต้องน้อยลง วิธีนี้จะช่วยป้องกันการเกิดโรคอ้วน และป้องกันให้ระบบย่อยอาหารไม่ทำงานหนักเกินไป สารอาหารที่สุนัขวัยชราควรได้รับ คือ โอเมก้า-3 เพื่อที่จะได้ช่วยเรื่องของข้อต่อ และช่วยบำรุงรักษาสุขภาพและข้อต่อของเจ้าดัชชุนนั่นเอง 

การดูแลที่เจ้าดัชชุนต้องการเป็นพิเศษ 

Dachshund ดัชชุน หมาไส้กรอก เลี้ยงดัชชุน ดัชชุนกิน ดัชชุนโรค

ควบคุมน้ำหนัก

สุนัขสายพันธุ์ดัชชุนนั้น เป็นสุนัขที่มีขนาดตัวเล็ก ส่วนหลังยาว ขาสั้น ลักษณะร่างกายแบบนี้ทำให้เจ้าดัชชุนมีโอกาสเป็นโรคหมอนลงกระดูกได้มากกว่าสุนัขสายพันธุ์อื่น ๆ การควบคุมน้ำหนัก จึงเป็นอีกวิธีที่จะเป็นการป้องกันการเกิดโรคหมอนรองกระดูก ถ้าอยากรู้ว่าเจ้าดัชชุนสุนัขเรานั้น มีน้ำหนักน้อยหรือมากเกินกว่าเกณฑ์หรือเปล่า ให้ คุณก้มลงมองหลังของน้องหมาดัชชุนด์จากด้านบน ถ้าเห็นซี่โครงบานแปลว่าผอมไป ถ้าไม่เห็นซี่โครงชัดเจน แต่พอเอามือไปลูบแล้วเจอ แสดงว่าสุขภาพดี แต่ถ้าทั้งมองไม่เห็นแถมคลำก็ไม่เจอซี่โครง แปลว่าอาการหนัก ต้องลดน้ำหนักด่วน! 

ออกกำลังกายทุกวัน  

เจ้าดัชชุน เป็นสุนัขที่มีขนาดตัวที่เล็ก ทำให้มีโอกาสที่จะมีน้ำหนักเกินได้ง่าย และเจ้าดัชชุนยังมีสัญชาตญาณของนักล่าอยู่ในตัว พวกมันจึงต้องออกกำลังกายทุกวันเพื่อปลดปล่อยพลังงานที่อยู่ในตัวให้หมด การออกกำลังกายนอกจากปลดปล่อยพลังงานในตัวแล้ว จะทำให้เจ้าดัชชุนไม่เครียดอีกด้วย   

อุ้มดัชชุนให้ถูกวิธี 

เนื่องจากรูปร่างของเจ้าดัชชุนนั้น มีส่วนหลังที่ค่อนข้างยาว ถ้าอุ้มหรือยกน้องขึ้นมา แบบผิดวิธี จะทำให้เจ้าดัชชุนของเรานั้นเกิดอาการบาดเจ็บที่หลังได้ ดังนั้นสำหรับใครที่จะเลี้ยงเจ้าตัวนี้ ต้องอุ้มอย่างมัดระมัดระวังเลยค่ะ 

ซึ่งวิธีการอุ้มเจ้าดัชชุนที่ถูกต้อง คือ เวลาจะอุ้มให้เอามือรองก้นไว้ ส่วนมืออีกข้างรองใต้ท้องเพื่อพยุงหลังของเจ้าดัชชุน ห้าม! อุ้มเจ้าดัชชุนมือเดียว หรืออุ้มแค่เฉพาะบริเวณส่วนหัวหรืออุ้งเท้าอย่างเดียวเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ 

คอยอุ้มดัชชุนขึ้นลงบันได 

การขึ้นลงบันได ทำให้หลังของเจ้าดัชชุนทำงานหนัก ถ้าหากน้องขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ นานเข้า อาจจะทำให้เจ้าดัชชุนเป็นโรคหมอนรองกระดูกได้ วิธีป้องกันก็คือ การที่เจ้าของต้องคอยอุ้มเจ้าดัชชุนขึ้นลงบันไดนั่นเอง 

แต่คนเราก็ไม่ได้อยู่บ้านตลอดเวลา ในช่วงที่เราไม่อยู่บ้านหรือไม่ว่างดูแลเจ้าดัชชุน แนะนำให้เอาคอกกั้นเด็กมาล้อมทางขึ้นลงซะ เจ้าดัชชุนของเราจะได้ไม่วิ่งขึ้นลงบันได หรือทำทางลาดเป็นบันไดเตี้ย ๆ น้องหมาจะได้ใช้ขึ้นลงได้ทุกวันค่ะ 

แปรงขนเป็นประจำทุกวัน 

ถ้าสุนัขสายพันธุ์ดัชชุนของเรา มีลักษณะขนยาวหรือขนหยาบ เจ้าของควรแปรงขนให้ทุกวัน เพื่อลดการหลุดร่วง และการพันกันของขน แต่หากเจ้าดัชชุนที่เราเลี้ยงเป็นขนสั้น ให้เจ้าของแปรงขนอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้งก็พอ ระหว่างแปรงขนก็อย่าลืมพูดชมเจ้าดัชชุนเยอะ ๆ เพื่อสร้างความทรงจำดีกับการแปรงขนให้สุนัขของเรา 

ทำความสะอาดใบหู สัปดาห์ละครั้ง

การรักษาความสะอาดใบหูให้เจ้าดัชชุน ก็เป็นอีกเรื่องนึงที่เจ้าของต้องใส่ใจ ด้วยลักษณะใบหูของเจ้าดัชชุนที่พับลง ทำให้เป็นแหล่งรวมเชื้อโรคและแบคทีเรียต่าง ๆ เจ้าของจึงควรทำความสะอาดใบหูให้เจ้าดัชชุน อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง โดยใช้ชำลีเช็ด แต่ไม่ควรเช็ดลึกจนเกินไป 

โรคที่พบบ่อยในดัชชุน

Dachshund ดัชชุน หมาไส้กรอก เลี้ยงดัชชุน ดัชชุนกิน ดัชชุนโรค

สุนัขทุกสายพันธุ์ จะมีโรคประจำสายพันธุ์แทบทุกตัว รวมถึงสุนัขสายพันธุ์ดัชชุนเองก็เช่นกัน ซึ่งโรคที่พบได้บ่อยในเจ้าดัชชุน มีดังนี้ 

โรคระบบประสาท

ระบบประสาท ประกอบด้วยสมอง ไขสันหลัง เส้นประสาท และกล้ามเนื้อ ระบบประสาทช่วยให้ร่างกายมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวผ่านการมองเห็น การสัมผัส การดมกลิ่น การได้ยิน และการทรงตัว แต่น่าเสียดายที่เจ้าดัชชุน เป็นสุนัขที่มีปัญหาทางระบบประสาทเยอะมาก ซึ่งโรคทางประสาทที่พบบ่อยในดัชชุน คือ 

โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Intervertebral Disc Disease (IVDD))

หมอนรองกระดูก  เป็นเนื้อเยื่อที่อยู่ระหว่างข้อต่อของกระดูกสันหลัง มีหน้าที่ลดแรงกระแทกของกระดูกสันหลังขณะที่สุนัขเคลื่อนไหวร่างกาย  หากหมอนรองกระดูกสันหลังยื่นเข้ามาในช่องไขสันหลังก็จะทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาท และทำให้มีอาการปวด จนอาจเป็นอัมพาตได้ 

โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในสุนัขสายพันธุ์ดัชชุน สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ คือ การเคลื่อนไหวร่างกายหนัก ๆ หรือเกิดอุบัติเหตุ ทำให้เกิดอาการแบบเฉียบพลัน มักพบในสุนัขอายุน้อย 

ซึ่งอาการของโรคจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดการกดเบียด และความรุนแรงของโรค อาการแรก ๆ ที่เจ้าของสามารถสังเกตได้ คือ  สุนัขเคลื่อนไหวน้อยลง กินอาหารลดลง มีอาการร้องเจ็บเวลาเคลื่อนไหว ขาอ่อนแรง ตำแหน่งในการวางเท้าผิดปกติ หรือ เดินไม่ได้ ถ้าหากอาการของโรคยังไม่รุนแรง มีโอกาสที่สุนัขของเราจะกลับมามีความรู้สึกที่ขาและเดินได้ปกติค่ะ ยิ่งรักษาเร็ว โอกาสในการหายก็จะเพิ่มขึ้นค่ะ

โรควิตกกังวล (Anxiety)

โรควิตกกังวลในสุนัข ก็เป็นอีกเรื่องที่เจ้าของต้องใส่ใจและคอยสังเกตอาการอยู่เสมอ เพราะบางครั้งโรควิตกกังวลหรือโรคเครียดก็ทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เราสามารถสังเกตอาการของสุนัขของเราได้ หากน้องมีอาการเครียด พวกเขาจะมีอาการดังต่อนี้ กินอาหารน้อยลง แยกตัวออกไปอยู่ตามลำพัง ก้าวร้าวขึ้น นอนมากขึ้น แววตาไม่สดใสร่าเริง เป็นต้น 

ซึ่งเราสามารถทำให้สุนัขของเรารู้สึกดีขึ้นได้โดยการทำกิจกรรมร่วมกับเขาให้มากขึ้น พาไปเดินเล่น ว่ายน้ำ สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เขาไว้หลบมุมเวลาเขาเครียด และเอาใจใส่เขาให้มากกว่าเดิม แสดงให้เขาเห็นว่าเรารักเขาแค่ไหน แค่นี้น้องหมาของเราก็จะรู้สึกดีขึ้นแล้วค่ะ

โรคระบบทางเดินอาหารและตับ

โรคระบบทางเดินอาหารและตับ เป็นอีกโรคที่พบได้บ่อยในสุนัขสายพันธุ์ดัชชุน ซึ่งโรคที่พบได้บ่อย คือ โรคกระเพาะอาหารบิดหมุน (Bloat/Torsion/GDV) โรคนี้หากเกิดขึ้นจะอันตรายถึงชีวิตได้ 

อาการเบื้องต้นของโรคที่สามารถพบได้ คือ ยืนและโก่งตัว ท้องพองขยาย น้ำลายไหลเยอะกว่าปกติ ปวดท้อง เป็นต้น และอาการรุนแรงที่สามารถพบได้ คือ หอบ อ่อนแรง ท้องขยายเต็มไปด้วยแก๊ส ไม่สามารถทรงตัวได้ และอาจจะช็อกหมดสติไปในที่สุด หากเจ้าดัชชุนของเรามีอาการเหล่านี้ ให้รีบนำตัวไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยด่วน 

เจ้าของสามารถป้องกันการเกิดโรคนี้ได้โดยการจำกัดปริมาณอาหารต่อมื้อให้น้อยลง ควรแบ่งให้อาหารเป็นวันละ 2-3 มื้อ มากกว่าการให้มื้อเดียวแต่ปริมาณมาก และทำให้สัตว์เลี้ยงอารมณ์ดี ไม่เครียดหรือวิตกกังวล เป็นต้น 

โรคระบบต่อมไร้ท่อ

ระบบต่อมไร้ท่อมีหลายชนิด และกระจายอยู่ทั่วร่างกาย พบได้ทั่วไปในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น นก ปลา สุนัข ต่อมไร้ท่อมีหน้าที่สร้างฮอร์โมน และฮอร์โมนเหล่านี้จะถูกส่งออกไปตามกระแสเลือด 

ปัญหาระบบต่อมไร้ท่อที่พบทั่วไปในน้องหมา คือ การสร้างฮอร์โมนที่ออกมามากเกินไป หรือน้อยเกินไป ทำให้ระบบการทำงานของร่างกายเกิดปัญหา ซึ่งโรคระบบต่อมไร้ท่อที่พบบ่อยในสุนัขสายพันธุ์ดัชชุน ได้แก่ 

โรคคุชชิ่ง (Cushing disease หรือ hyperadrenocorticism)

โรคคุชชิ่ง เป็นสภาวะที่ร้ายแรงที่สุดในสุนัข โรคนี้เกิดขึ้นเมื่อต่อมหมวกไตสร้างคอร์ติซอลออกมามากเกินไป คอร์ติซอลหากผลิตออกมามากเกินไป จะทำให้สุนัขป่วยร้ายแรงได้หลายโรค ตั้งแต่โรคไต เบาหวาน และอาจอันตรายถึงชีวิตได้ 

อาการของโรคคุชชิ่งที่พบได้ทั่วไป คือ มีความอยากอาหารมากขึ้น กระหายน้ำ ขนร่วง ปัสสาวะบ่อย กล้ามเนื้ออ่อนแรง ท้องป่อง เป็นต้น 

โรคคุชชิ่ง สามารถตรวจคัดกรองเบื้องต้นจากปัสสาวะได้ ถ้าหากเราสงสัยว่าเจ้าดัชชุน หรือสุนัขของเรามีโอกาสเป็นโรคคุชชิ่ง ให้เรารองเก็บปัสสาวะจากสุนัขที่บ้านในเวลาเช้า เพราะถ้ามาเก็บตรวจที่โรงพยาบาลสุนัขอาจจะเครียด ทำให้เกิดการหลั่งคอร์ติซอลสูงกว่าปกติ วิธีนี้ถือเป็นวิธีที่ทำง่าย สุนัขไม่เจ็บตัว รวดเร็ว หากตรวจแล้วพบว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคคุชชิ่ง อาจจะต้องได้รับการตรวจซ้ำ ร่วมกับใช้วิธีการตรวจอื่น ๆ เพื่อยืนยันต่อไป   

โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)

โรคเบาหวานในสัตว์เลี้ยง เกิดขึ้นจากร่างกายที่ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอ ฮอร์โมนอินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดให้ปกติ ดังนั้นเมื่อร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำส่งน้ำตาลกลูโคสจากในกระแสเลือด เข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายได้ ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ 

ลักษณะอาการเด่น ๆ ของสุนัขที่เป็นเบาหวาน คือ ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย กินอาหารเก่ง แต่น้ำหนักลด หากคุณพบว่าเจ้าดัชชุนมีอาการเหล่านี้ ให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยต่อไป 

โรคระบบกระดูกเอ็นและข้อต่อ

อย่างที่รู้กันว่าเจ้าดัชชุน มีลักษณะรูปร่างที่ส่วนหลังยาว ขาสั้น ด้วยลักษณะเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาเรื่องกระดูก เอ็น และข้อต่อได้ง่าย ซึ่งโรคที่พบบ่อย ได้แก่ 

ข้ออักเสบ (Arthritis)

โรคข้ออักเสบ เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในสุนัขสายพันธุ์ดัชชุน เนื่องจากสรีระของดัชชุนที่มีลักษณะขาสั้น สันหลังยาว ทำให้เจ้าดัชชุนมีปัญหาเรื่องข้ออักเสบอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งส่วนที่มีปัญหามักจะเป็นบริเวณที่หลัง เข่า สะโพก ข้อศอก 

สำหรับสุนัขที่มีอาการข้ออักเสบ สามารถสังเกตอาการได้ง่าย ๆ ดังนี้ ทรงตัวได้ไม่ดี ยืนขาสั่น เจ็บเวลาลุกขึ้นนั่ง นอนบนพื้นได้ลำบาก เดินขึ้นลงบันไดไม่สะดวก เป็นต้น

โรคหู

หูเป็นอีกอวัยนะนึงที่สำคัญมากสำหรับสุนัขและมนุษย์เรา  เพราะใบหูช่วยให้เราได้ยินเสียงรอบ ๆ ตัว ซึ่งโรคเกี่ยวกับหูที่พบบ่อยในสุนัขสายพันธุ์ดัชชุน มีดังนี้ 

ภาวะติดเชื้อในหู (Ear Infections) 

การติดเชื้อในหูทำให้หูของสุนัขเกิดอาการอักเสบได้ ซึ่งอาการอักเสบจะเกิดขึ้นได้ที่ใบหู ช่องหู จนถึงเยื่อแก้วหู  เจ้าของสามารถสังเกตอาการของพวกเขาได้ง่าย ๆ  หากน้องหมาของเรามีอาการเหล่านี้ เช่น

  • สะบัดหัวบ่อย ๆ 
  • หูมีกลิ่นเหม็น 
  • ใช้เท้าเกาใบหู 
  • มีอาการบวมแดง
  • มีคราบเยิ้มที่หู
  • เมื่อไปจับหูแล้วน้องแสดงอาการเจ็บ 

ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าน้องมีอาการติดเชื้อในหู และอาจจะมีอาการอักเสบแล้ว ให้รีบนำไปพบสัตวแพทย์ก่อนที่เจ้าดัชชุนของเรา จะได้ยินเสียงน้อยลงหรือสูญเสียการได้ยิน 

ภาวะที่สูญเสียการได้ยินหรือหูหนวก (Deafness/Hearing Loss) 

อาการสูญเสียการได้ยินหรือหูหนวกในสุนัข สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งชั่วคราวบางส่วน หรือทั้งหมดในหูข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ ซึ่งสาเหตุของอาการหูหนวกในสุนัขนั้น อาจจะเกิดจากการพิการตั้งแต่กำเนิด บาดแผล ติดเชื้อ หรืออายุมาก 

ซึ่งเราสามารถสังเกตอาการของสุนัขได้ง่าย ๆ ดังนี้ 

  • ตื่นยากขึ้น 
  • ตกใจง่าย
  • เห่าเสียงดังมากกว่าปกติ 
  • ไม่ตอบสนองต่อเสียงเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เสียงเรียกชื่อ กริ่งประตู 

หากสุนัขของเรามีอาการเหล่านี้ ให้พาเจ้าดัชชุนของเราไปพบสัตวแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และรับการรักษาต่อไป 

เจ้าดัชชุนเหมาะกับเจ้าของแบบไหน!?  

Dachshund ดัชชุน หมาไส้กรอก เลี้ยงดัชชุน ดัชชุนกิน ดัชชุนโรค

แน่นอนว่าการเลี้ยงสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงสักตัวนึง เราจะเลือกเลี้ยงแค่เพราะเขามีหน้าตาที่น่ารัก น่าเอ็นดูอย่างเดียวไม่ได้ เพราะสุนัขแต่ละตัว แต่ละสายพันธุ์ก็จะมีนิสัยที่แตกต่างกันออกไป สุนัขทุกตัวอาจจะไม่ได้เข้ากับทุกคน เจ้าดัชชุนเองก็เช่นกัน แล้วเจ้าของแบบไหนที่เหมาะกับเจ้าดัชชุน มาดูกันดีกว่า! 

เจ้าของที่มีเวลาดูแลเจ้าดัชชุน 

เจ้าดัชชุน เป็นสุนัขที่ติดเจ้าของมาก พวกมันอยากได้รับความสนใจจากเจ้าของตลอดเวลา ดังนั้นใครที่คิดจะเลี้ยงสุนัขอย่างเจ้าดัชชุน พวกคุณจำเป็นต้องมีเวลาว่างเยอะ ๆ เพราะหากปล่อยให้สุนัขอย่างเจ้าดัชชุนอยู่ตามลำพังบ่อย ๆ อาจจะทำให้น้องรู้สึกเหงา และเกิดเป็นโรควิตกกังวลได้ 

เจ้าของที่รับค่าใช้จ่ายที่จะตามมาในอนาคตได้ 

ถึงแม้ว่าเจ้าดัชชุนจะเป็นสุนัขสายพันธุ์เล็ก ทำให้ดูเหมือนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงเท่าสุนัขสายพันธุ์ใหญ่ แต่เจ้าดัชชุนเป็นสุนัขที่ป่วยได้ง่าย สำหรับใครที่จะเลี้ยงก็ต้องดูแลเขาให้ดี เพื่อให้ไม่ป่วย แต่ถ้าหากป่วยไปแล้วก็ต้องพาเขาไปรักษากับสัตวแพทย์ และต้องมีเงินพอสำหรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโรคที่เขาเป็นด้วย จะได้ไม่เป็นปัญหากับเราทีหลัง 

เจ้าของที่ต้องการสุนัขเฝ้าบ้าน

สุนัขสายพันธุ์ดัชชุน เป็นสุนัขที่มีประสาทสัมผัสค่อนข้างไว เมื่อมีอะไรผิดปกติพวกเขาจะเห่าออกมาเสียงดัง ถ้าใครกำลังมองหาสุนัขเฝ้าบ้านที่มีขนาดไม่ใหญ่ เจ้าดัชชุนอาจจะตอบโจทย์คุณก็ได้นะ  

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับดัชชุน

Q: ดัชชุนเข้ากับเด็กเล็กได้หรือไม่?

A: สุนัขดัชชุน เป็นสุนัขที่เข้ากับเด็กได้ง่าย และจะเข้ากับเด็กได้ง่ายมากขึ้นหากรู้จักกันมาตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ แต่บางครั้งเจ้าดัชชุนอาจจะเข้ากับเด็กที่ไม่คุ้นเคยได้ไม่ดีเท่าไร  ดังนั้นคุณควรให้ความรู้แก่เด็ก ๆ ในการเข้าหาสุนัขพันธุ์นี้ และบอกพฤติกรรมให้เด็ก ๆ เข้าใจสุนัขสายพันธุ์นี้ด้วย

Q: คนเป็นภูมิแพ้สามารถเลี้ยงดัชชุนได้หรือไม่?

A: สุนัขดัชชุน เป็นสุนัขนักล่า จึงชอบวิ่งเล่นคลุกดิน และทราย ซึ่งฝุ่นจากดินทราย อาจจะทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ได้ ดังนั้นดัชชุนอาจจะไม่เหมาะสำหรับคนที่เป็นภูมิแพ้  

Q: ดัชชุนเหมาะที่จะเป็นสุนัขตัวแรกไหม? 

A: ถึงแม้ดัชชุนจะเป็นสุนัขที่มีขนาดเล็ก แต่ก็เป็นสายพันธุ์ที่เลี้ยงค่อนข้างยาก ถ้าคุณกำลังมองหาสุนัขตัวแรก แนะนำเป็นสุนัขพันธุ์เล็กอย่างชิวาว่าอาจจะเหมาะกว่าค่ะ

ได้รู้จักเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าดัชชุนแล้วเป็นยังไงกันบ้างคะ สำหรับใครที่จะเลี้ยงสุนัขสายพันธุ์นี้ อย่าลืมนำข้อมูลที่ได้เรียนรู้จาก PetPlease  ไปปรับใช้กับการเลี้ยงน้องด้วยนะคะ ถึงแม้ว่าเจ้าดัชชุนจะดูเป็นสัตว์เลี้ยงที่ป่วยบ่อย และมีโรคประจำตัวเยอะ แต่ถ้าเราเลี้ยงและดูแลเขาอย่างดี เจ้าดัชชุนจะอยู่กับเราไปได้นานแน่นอน! 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

บทความที่เกี่ยวข้อง

AUTHOR: MEW

2022, DEC 23

บทความอื่นๆ

7 เรื่องควรรู้เกี่ยวกับมันช์กิ้น เจ้าแมวขาสั้นแสนน่ารัก!
ทำความรู้จักกับแมวสายพันธุ์แร็กดอลล์ให้มากขึ้นกันเถอะ !
โดเบอร์แมนสุนัขผู้น่าเกรงขามที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง!
7 เรื่องต้องรู้ ก่อนตัดสินใจเลี้ยงลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์!
วิเชียรมาศ-มาทำความรู้จักกับแมวพันธุ์นี้ เจ้าเหมียวนำโชคของไทยกัน!
ทำความรู้จักชิวาวาสุนัขขนาดเล็กที่สุดในโลกให้มากขึ้นกันเถอะ !