โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ เชื่อว่าทาสหมาทุกคน คงไม่มีใครไม่รู้จักเจ้าหมาสุดน่ารักอย่าง โกลเด้น หรือที่มีอีกชื่อเรียกนึงว่า รัสเซียน รีทรีฟเวอร์ (Russian Retriever) แน่นอน! โกลเด้นเป็นสุนัขที่มีหน้าตาน่ารัก และนิสัยที่เป็นมิตร ร่าเริง ทำให้โกลเด้นเป็นสุนัขสายพันธุ์ที่คนนิยมเลี้ยงค่อนข้างเยอะ
วันนี้ PetPlease จะพาเหล่าทาสมาทำความรู้จักเจ้าโกลเด้น มาดูกันดีกว่าว่ามีเรื่องอะไรที่ทุกคนควรรู้ก่อนเลี้ยงเจ้าตัวนี้บ้าง!?
โกลเด้นมีต้นกำเนิดมาจากไหน?
มีหลาย ๆ คนเข้าใจผิดว่า สุนัขพันธุ์โกลเด้น ถูกพัฒนาสายพันธุ์มาจาก Russian Sheepdog ที่ถูกซื้อมาจากคณะละครสัตว์ แต่จริง ๆ แล้ว โกลเด้น ได้ถูกพัฒนาสายพันธุ์มาจากประเทศสกอตแลนด์ ที่เมือง “Guisachan” ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า โกลเด้นเกิดจากการผสมพันธุ์จากสุนัขสายพันธุ์อะไรบ้าง แต่มีการสันนิษฐานว่า โกลเด้น เกิดจากการผสมพันธุ์จากสุนัขสายพันธุ์ Yellow Flat-Coated Retriever และ Light-Coated Tweed Water Spaniels และอาจจะมีสายพันธุ์ของ Newfoundland หรือ Bloodhound ผสมอยู่ด้วย
ซึ่งโกลเด้น ถูกเปิดตัวให้เป็นที่รู้จักครั้งแรกในปี ค.ศ. 1911 ที่ “The Kennal Club of England” ในประเทศอังกฤษ และในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โกลเด้น ได้ถูกเปิดตัวให้เป็นที่รู้จักในอเมริกาเหนือ และถูกบันทึกสายพันธุ์โดย America Kennel Club (AKC) และก่อนหน้านั้นโกลเด้น ถูกเรียกว่า “Retriever-Yellow of Golden” แต่เปลี่ยนชื่อมาเป็น Golden Retriever ในปี ค.ศ. 1920
โดยในยุคนั้นเจ้าโกลเด้นมักถูกเลี้ยงให้เป็นสุนัขนักล่า แต่หลังจากปี ค.ศ. 1977 ผู้คนก็หันมาเลี้ยงโกลเด้น เป็นสัตว์เลี้ยงมากขึ้น และในปัจจุบันสุนัขโกลเด้น ได้กลายเป็นสายพันธุ์ที่คนนิยมเลี้ยงมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประเทศสหรัฐอเมริกา
ลักษณะเฉพาะตัวของโกลเด้น
หลายคนอาจคิดว่าเจ้าโกลเด้นมีแค่สายพันธุ์เดียว แต่จริง ๆ แล้วนั้น ถูกแบ่งย่อยออกมาได้ทั้งหมด 3 สายพันธุ์เลยนะ! ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ก็จะมีลักษณะเฉพาะตัวแตกต่างกันออกไป ทั้งรูปร่าง น้ำหนัก และส่วนสูง
โกลเด้น สายพันธุ์อังกฤษ
มาเริ่มกันที่สายพันธุ์แรก อย่างสายพันธุ์อังกฤษ (British Types) ดีกว่า โกลเด้น สายพันธุ์อังกฤษจะมีลักษณะขนที่ยาว และส่วนใหญ่จะมีขนเป็นสีขาวครีม แต่ก็มีสีอื่น ๆ บ้าง เช่น สีทอง และสีแดงมะฮอกกานี โดยปกติแล้วจะมีน้ำหนักตัวโดยประมาณอยู่ที่ 25 – 31 กิโลกรัม ซึ่งมากกว่าสายพันธุ์อเมริกันและแคนาดา ส่วนความสูงจะแตกต่างตามไปเพศ หากเป็นตัวผู้ส่วนสูงจะอยู่ระหว่าง 22 -24 นิ้ว (55 – 60 เซนติเมตร) ตัวเมียส่วนสูงจะอยู่ระหว่าง 20 – 22 นิ้ว (50 – 55 เซนติเมตร)
โกลเด้น สายพันธุ์อเมริกา
มาต่อกันที่สายพันธุ์อเมริกัน (America Types) สายพันธุ์นี้จะมีรูปร่างผอมและกล้ามเนื้อที่น้อยกว่าสายพันธุ์อังกฤษ หากเป็นตัวผู้ส่วนสูงจะอยู่ระหว่าง 22 – 24 นิ้ว (55 – 60 เซนติเมตร) ตัวเมียส่วนสูงจะอยู่ระหว่าง 21.5 – 22.5 นิ้ว (53 – 55 เซนติเมตร) และสายพันธุ์นี้จะมีขนที่หนาถึง 2 ชั้น และกันน้ำได้ดี ส่วนสีขนจะเป็นสีทองที่แตกต่างกันออกไป มีสีเข้มบ้าง อ่อนบ้าง
โกลเด้น สายพันธุ์แคนาดา
มาถึงสายพันธุ์สุดท้าย อย่างสายพันธุ์แคนาดา (Canadian Types) กันบ้าง โดยทั่วไปแล้วลักษณะของโกลเด้น รีทรีฟเวอร์สายพันธุ์นี้ จะไม่ได้แตกต่างจากสายพันธุ์อังกฤษและอเมริกามากนัก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของน้ำหนัก รูปร่าง และส่วนสูง แต่จะมีส่วนที่ต่างกันมากที่สุด คือ ขน สายพันธุ์แคนาดา จะมีสีขนที่เข้มกว่า และมีขนที่สั้น และบางกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ
สำหรับใครที่กำลังมองหาสุนัขตัวใหญ่ ๆ มีขนนุ่มฟู ลองเก็บเจ้าโกลเด้น เป็นหนึ่งในตัวเลือกได้เลย เพราะสุนัขพันธุ์นี้ตัวใหญ่ และขนนุ่มฟูสะใจสุด ๆ
นิสัยและพฤติกรรมสุดน่ารัก ของโกลเด้น
เมื่อพูดถึงเจ้าโกลเด้น ภาพจำแรกที่ขึ้นมาในความคิดของทุกคน คงจะเป็นเจ้าสุนัขที่มีหน้าตาเป็นมิตร ชอบทักทายผู้คน และมีขนนุ่มฟู น่าจับ น่ากอด โกลเด้น ขึ้นชื่อว่าเป็นสุนัขที่ใจดี เป็นมิตร และไว้ใจได้ โดยปกติแล้วเจ้าโกลเด้น เป็นสัตว์ที่มีนิสัยร่าเริง ขี้เล่น ชอบเอาใจ ค่อนข้างติดเจ้าของ รวมทั้งยังเป็นสัตว์ที่เป็นมิตรกับคนแปลกหน้าอีกด้วย ถึงแม้ว่าโกลเด้นจะชอบเห่าคนแปลกหน้า แต่บ่อยครั้งมักจะเป็นการเห่าเพื่อทักทายเท่านั้นค่ะ
อาหารและโภชนาการที่เหมาะกับโกลเด้น รีทรีฟเวอร์
โกลเด้น เป็นสุนัขที่มีพลังงานค่อนข้างสูง และกระตือรือร้นตลอดเวลา ทำให้ต้องได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน และมีคุณภาพสูง เพื่อช่วยซ่อมแซมระบบต่าง ๆ ของร่างกาย และทำให้ร่างกายแข็งแรง และสุนัขควรได้รับสารอาหารและโภชนาการที่เหมาะสมตามวัย ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงวัย คือ สุนัขวัยเด็ก สุนัขโตเต็มวัย และสุนัขวัยชรา
อาหารที่เหมาะสำหรับโกลเด้นวัยเด็ก
สำหรับสุนัขโกลเด้นวัยเด็กควรใส่ใจเรื่องอาหารและโภชนาการมากที่สุด เพราะสุนัขวัยนี้ต้องการสารอาหารเพื่อนำไปใช้ในการเจริญเติบโต พัฒนาสมอง และพัฒนาอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย สุนัขวัยนี้ต้องการที่จะได้รับโปรตีนประมาณ 26 – 30% ของร่างกาย และสารอาหารอื่น ๆ เช่น แคลเซียม ที่จะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และกระดูกให้แข็งแรง ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาสมอง และการเรียนรู้ ไขมัน เหล็ก ไลโคปีน ที่จะช่วยต้านความเสื่อมของร่างกาย รวมถึงวิตามิน และเกลือแร่ ที่จะช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้สุนัขอีกด้วย
อาหารที่เหมาะสำหรับโกลเด้นโตเต็มวัย
สำหรับโกลเด้นโตเต็มวัยนั้น จะมีอายุ 15 เดือนขึ้นไป สุนัขวัยนี้ต้องได้รับโปรตีนประมาณ 30% ของร่างกายเพื่อช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง และควรได้รับสารอาหารอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ไขมัน ช่วยลดการหลุดร่วงของขน และปรับสีขนให้สว่างมากขึ้น อีพีเอและดีเอชเอ ช่วยรักษากระดูก และไขข้อกระดูก และควรให้อาหารไม่เกิน 2 มื้อต่อวัน หรือให้อาหารไม่เกิน 1,500 แคลอรีต่อวัน เพื่อรักษาน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป จนทำให้เกิดโรคอ้วน และโรคอื่น ๆ ที่จะตามมาในอนาคต
อาหารที่เหมาะสำหรับโกลเด้นวัยชรา
สำหรับโกลเด้นที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป จะถือว่าเป็นสุนัขที่อยู่ในวัยชราแล้ว สุนัขในวัยนี้จะเริ่มขยับตัวน้อยลง มักจะใช้เวลาไปกับการนอนมากขึ้น ทำให้เกิดโรคอ้วนได้ง่าย ดังนั้นเจ้าทาสอย่างเราต้องปรับเปลี่ยนอาหารให้สุนัขในวัยนี้ สุนัขวัยนี้ควรกินอาหารที่ย่อยง่ายมากขึ้น เช่น เนื้อปลา ไก่ ผัก ผลไม้ เป็นต้น หรืออาจจะเลือกซื้ออาหารสำเร็จรูปสำหรับสุนัขวัยชรา ซึ่งควรจะมีสารอาหาร ดังต่อไปนี้ ไฟเบอร์ ที่จะช่วยในเรื่องระบบย่อยอาหาร ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น กลูโคซามีน ช่วยบำรุงและลดอาการปวดข้อต่อกระดูก และควรให้อาหารในปริมาณที่ไม่เยอะเกินไป
นอกจากนี้ยังมีเจ้าทาสหลาย ๆ คน คิดว่าสุนัขสามารถกินอาหารแบบเดียวกับที่เรากินได้ แต่จริง ๆ แล้ว มีอาหารหลายอย่างมาก ที่ถ้าให้สุนัขของเรากิน อาจจะเกิดอันตรายและถึงแก่ชีวิตได้เลยนะ!ถ้าอยากรู้เพิ่มเติม อ่านได้ที่ 5 อาหารต้องห้ามของสัตว์เลี้ยง ห้ามให้น้องกินเด็ดขาด!
การดูแลที่เจ้าโกลเด้นต้องการเป็นพิเศษ
แปรงขนเป็นประจำทุกวัน
เจ้าโกลเด้น เป็นสุนัขที่มีขนนุ่ม เงางาม น่าสัมผัส เส้นขนของโกลเด้นจะมีขนาดเป็นขนเส้นเล็ก ๆ อาจจะทำให้เกิดการพันกันได้ง่าย นอกจากนี้แล้วโกลเด้น ยังมีการผลัดขนตลอดแทบทั้งปี ดังนั้นเจ้าของต้องมีการใส่ใจดูแลเรื่องขนเป็นพิเศษ การแปรงขนให้เจ้าโกลเด้นเป็นประจำทุกวัน จะช่วยลดการหลุดร่วง และการพันกันของขนได้
เช็ดทำความสะอาดใบหู วันเว้นวัน
ใบหู เป็นอีกส่วนของร่างกายสุนัขที่เราต้องดูแลความสะอาด ซึ่งวิธีการทำความสะอาดใบหูนั้น ห้ามใช้คอตตอนบัต แต่ให้นำสำลีมาพันรอบนิ้ว และเช็ดทำความสะอาดแทน ควรทำวันเว้นวัน แต่หากขี้หูของสุนัขมีกลิ่นเหม็น ให้นำไปพบสัตว์แพทย์ เพื่อตรวจสอบ และรับการรักษาทันที
ตัดเล็บเดือนละหนึ่งครั้ง
เจ้าของควรตัดเล็บให้เจ้าโกลเด้นอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง เพราะถ้าไม่ตัด เล็บน้องอาจจะยาวเกิน จนทิ่มเนื้อของน้องได้ และนอกจากการตัดเล็บแล้ว ควรตัดขนตามซอกเล็บให้น้องด้วย ไม่งั้นอาจจะทำให้น้องเดินได้ไม่สะดวก แต่ถ้าหากคุณไม่สามารถตัดเล็บให้น้องได้ อาจจะพาไปร้านตัดขนสัตว์ เพื่อให้ร้านเขาช่วยดูแลให้
อาบน้ำอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และแปรงฟันเป็นประจำทุกวัน
ถึงแม้ว่าโกลเด้นจะมีขนที่ยาว แต่อาจจะไม่จำเป็นต้องอาบน้ำให้เขาบ่อยนัก แต่เพื่อความสะอาด และสุนัขของเราจะได้มีกลิ่นตัวที่หอม เราควรอาบน้ำให้เจ้าโกลเด้นอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ในการอาบน้ำแต่ละครั้ง เจ้าของอาจจะต้องใช้เวลาเยอะ เพราะเจ้าโกลเด้นมีขนหนาถึง 2 ชั้น หากเราเช็ดและทำให้ขนแห้งไม่สนิท อาจจะทำให้ขนร่วง และทำให้สุนัขของเราเป็นโรคผิวหนังได้
ส่วนการทำความสะอาดฟันของโกลเด้น ควรแปรงฟันเป็นประจำทุกวัน และต้องใช้ยาสีฟันสูตรเฉพาะ สำหรับสัตว์เลี้ยงเท่านั้น
ออกกำลังกายทุกวัน
สมัยก่อนโกลเด้น ถูกจัดให้เป็นสุนัขนักล่า เพราะสุนัขสายพันธุ์นี้มีนิสัยที่บ้าพลัง ต้องได้ปลดปล่อยพลัง เจ้าของอย่างเราควรพาเจ้าโกลเด้น ไปปลดปล่อยพลังงาน โดยการออกกำลังกายทุกวัน วันละ 1 – 2 ชั่วโมง แต่อย่าลืมใส่สายจูง และปลอกคอให้น้องด้วยนะ!
โรคที่พบบ่อยในโกลเด้น รีทรีฟเวอร์
ถึงแม้ว่าเจ้าโกลเด้น จะเป็นสุนัขที่ดูมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีรูปร่างสมส่วน และกล้ามเนื้อที่แข็งแรง แต่สุนัขสายพันธุ์นี้ก็มีโรคประจำสายพันธุ์เช่นกัน ซึ่งโรคที่พบได้บ่อย ๆ ในเจ้าโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ มีดังนี้
โรคผิวหนัง
โกลเด้น เป็นสุนัขที่มีขนที่ยาว และหนาถึง 2 ชั้น และด้วยนิสัยของเจ้าโกลเด้นนั้นเป็นสัตว์ที่ชอบคลุกดิน และเล่นน้ำเป็นชีวิตจิตใจ ทำให้เกิดการอับชื้นได้ง่าย ซึ่งผิวของสุนัขนั้น เป็นสัตว์ที่มีผิวแพ้ง่ายอยู่แล้ว หากเจ้าของละเลยเรื่องความสะอาดไป อาจจะทำให้เจ้าโกลเด้นเสี่ยงที่จะเป็นโรคผิวหนังได้ ซึ่งโรคผิวหนังที่พบบ่อย ได้แก่
- ภาวะผิวหนังอักเสบจากอาการภูมิแพ้ (Atopy)
- โรคผิวหนังอักเสบเฉียบพลัน “Hot Apots” หรือ Acute Moist Dermatitis
- โรคแพ้น้ำลายหมัด (Flea Allergies)
- โรคผิวหนังอื่น ๆ เช่น โรคผื่นไขมันอักเสบ
ซึ่งบริเวณที่มักเกิดโรคผิวหนัง จะเป็นบริเวณฝ่าเท้า อุ้งเท้า ใต้คาง รอบปาก รอบตา ใบหู รักแร้ และหน้าท้อง โดยทั่วไปแล้วสุนัขที่มีอาการแพ้หรืออักเสบบริเวณผิวหนัง จะมีอาการคัน ทำให้สุนัขต้องเลีย เกา หรือถูผิวหนังบริเวณนั้นซ้ำ ๆ หากน้องหมาของเรามีพฤติกรรมเหล่านี้ เจ้าของอาจจะลองสังเกตอาการ และพาน้องหมาไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป
โรคเกี่ยวกับระบบโครงกระดูก ข้อต่อ และโครงสร้าง
โกลเด้น เป็นสุนัขพันธุ์ใหญ่ ทำให้โครงสร้างร่างกายจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว หากเราเลี้ยงดูและให้อาหารอย่างไม่เหมาะสม อาจจะทำให้เกิดโรคกระดูกและข้อตามมาได้ง่าย ซึ่งโรคเกี่ยวกับกระดูกที่พบบ่อย ได้แก่
- โรคข้อสะโพกเจริญผิดปกติ (Hip Dysplasia)
- โรคข้อศอกเจริญผิดปกติ (Elbow Dysplasia)
- โรคกระดูกอ่อนเจริญผิดปกติ (Osteochondrosis)
- โรคกระดูกอักเสบ (Panosteitis)
- โรคที่เกี่ยวกับข้อต่อ เช่น โรคกระดูกสะบ้าเคลื่อน (Patellar luxation), การฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าเข่า (Cruciate Ligament Rupture)
สำหรับน้องหมาที่เป็นโรคเกี่ยวกับโครงกระดูก และข้อต่อ มักจะมีอาการเจ็บปวดที่ขา ทำให้น้องหมาไม่ค่อยอยากใช้ขา ไม่อยากลุกยืน เดินลำบาก และมีท่าเดินที่ผิดปกติไปจากเดิม บางรายอาจจะมีลักษณะขาที่ผิดรูปไปก็ได้เช่นกัน
วิธีการป้องกันโรคที่เกี่ยวกับกระดูกและข้อต่อนั้น สามารถป้องกันได้โดยการ ไม่เลี้ยงสุนัขให้อ้วนจนเกินไป หมั่นตัดเล็บเท้าและขนใต้ฝ่าเท้าให้สั้น ให้สารอาหารเหมาะสมกับช่วงวัย ไม่เสริมแคลเซียมให้เยอะจนเกินไป และหากสงสัยว่าสุนัขที่เรานำมาเลี้ยง อาจจะมีสุนัขในครอบครัวเคยเป็นมาก่อน สามารถนำไปปรึกษาแพทย์ได้เลย โดยไม่ต้องรอให้แสดงอาการ
โรคเกี่ยวกับตา
สำหรับโรคตาในสุนัขสายพันธุ์โกลเด้น เป็นอีกโรคที่พบได้บ่อยมาก เพราะโรคตาในสุนัขสายพันธุ์นี้ ส่วนใหญ่เป็นโรคทางพันธุกรรม บางโรคพบได้ตั้งแต่กำเนิด บางโรคพบเมื่อมีอายุมากแล้ว ซึ่งโรคตาที่พบได้บ่อย ได้แก่
- โรคเปลือกตาม้วนเข้าข้างใน (Entropion) น้องหมาที่เป็นโรคเปลือกตาม้วนเข้าข้างใน จะมีอาการกระจกตาอักเสบ ระคายเคืองตา ตาแดง มีน้ำตาไหลออกมามากกว่าปกติ หากเกิดหนังตาม้วนเข้าเป็นเวลานาน อาจทําให้เกิดตาเปลี่ยนสี และอาจพบขี้ตาสีเขียว มีเมือก หรือหนองออกจากดวงตาได้ด้วย
- โรคขนตางอกผิดปกติ (Distichiasis) สำหรับน้องหมาที่มีขนตางอกผิดปกติ ในบางรายอาจจะไม่มีอาการอะไร แต่น้องหมาบางตัวจะมีอาการระคายเคืองที่กระจกตา อาจจะกระพริบตาบ่อย ๆ หรี่ตา หรือปิดตาเนื่องจากเกิดอาการปวดตา มีน้ำตาไหลมากกว่าปกติ และมีขี้ตามากขึ้น
- โรคต้อกระจก (Cataracts) โรคต้อกระจก เป็นโรคตาที่พบได้มากที่สุดในโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ น้องหมาที่เป็น จะมีเลนส์ตาที่ขุ่นขาวขึ้น อาจเป็นแค่ตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้างพร้อมกันก็ได้
- โรคต้อหิน (Glaucoma) โรคต้อหิน เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของความดันในลูกตาที่เพิ่มสูงขึ้น จนทำให้เกิดความเสียหายของเส้นประสาท ส่งผลทำให้สุนัขตาบอดเฉียบพลันหรือเรื้อรังได้
- โรคกระจกตาเสื่อม (Corneal Dystrophy) น้องหมาที่มีอาการกระจกตาเสื่อม ดวงตาของน้องจะมีสีขาวขุ่น ๆ หรือมีสีขาวทึบบนกระจกตา โดยมักพบรอยที่ตาข้างใดข้างหนึ่ง
- โรคจอประสาทตาเจริญผิดปกติ (Retinal Dysplasia) น้องหมาที่มีอาการของโรคจอประสาทตาเจริญผิดปกติ อาจจะพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น เดินชนสิ่งของ มีอาการลังเลเมื่อต้องเดินในที่มืด หรือเมื่อต้องกระโดดลงจากที่สูง
โรคมะเร็ง
โรคมะเร็งเป็นสาเหตุของการตายมากที่สุดในสุนัขสายพันธุ์โกลเด้น โดยช่วงอายุที่พบบ่อยสุด คือ 8 – 12 ปี จากการสำรวจของสมาคม Golden Retriever Club of America (GRCA) ในปี ค.ศ. 1998-1999 พบว่า ชนิดของมะเร็งที่พบมากที่สุด 4 ลำดับแรกในสุนัขพันธุ์โกลเด้นฯ คือ
- มะเร็งในหลอดเลือด (Hemangiosarcoma) ส่วนใหญ่มะเร็งชนิดนี้จะเกิดกับอวัยวะภายในร่างกาย ไม่สามารถมองเห็นหรือสังเกตได้ด้วยตาเปล่า สุนัขบางตัวอาจจะมีช่องท้องที่โตขึ้น หรือน้ำหนักลดลงเท่านั้น
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphosarcoma) หากน้องหมาเป็นมะเร็งชนิดนี้ เจ้าของอาจจะสังเกตพบว่า น้องหมาจะมีอาการบวม โตบริเวณต่อมน้ำเหลืองในตำแหน่งต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ที่พบบ่อย ๆ เช่น ต่อมน้ำเหลืองใต้กรามล่าง รักแร้ อก โคนขาหนีบ ช่องท้อง เป็นต้น
- มะเร็งผิวหนังชนิด Mast cell tumor สำหรับน้องหมาที่ป่วยเป็นมะเร็งชนิดนี้ น้องหมาจะมีเม็ดตุ่มเล็ก ๆ ตามผิวหนัง ลักษณะยืดหยุ่นไม่แข็งเป็นไต และตุ่มนั้นจะโตขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นก้อนเนื้องอกสีแดง ๆ และเกิดการอักเสบขึ้น น้องหมาจะแสดงอาการคันบริเวณที่เป็นตุ่มอย่างรุนแรง
- มะเร็งกระดูกชนิด osteosarcoma มะเร็งกระดูกชนิดนี้ที่เจ้าของพบเห็นส่วนใหญ่ มักจะเป็นกระดูกบริเวณขา มะเร็งชนิดนี้ทำให้มีการสลายของกระดูก หรือสร้างกระดูกมากเกินไป จนเนื้อเยื่อรอบข้างเกิดอาการบวม ทำให้น้องหมาเจ็บปวด ทรมาน และอาจเกิดกระดูกหักได้ และมะเร็งกระดูกยังสามารถแพร่กระจาย โดยผ่านกระแสเลือดไปยัง ปอด ไต ตับ ม้ามได้ด้วย
โรคระบบต่อมไร้ท่อม
ระบบต่อมไร้ท่อ หรือเรียกอีกอย่างว่า ระบบฮอร์โมน พบได้ทั่วไปในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น นก ปลา ซึ่งระบบต่อมไร้ท่อมีหลายชนิด และกระจายอยู่ทั่วร่างกาย ต่อมไร้ท่อมีหน้าที่สร้างฮอร์โมน และฮอร์โมนเหล่านี้จะถูกส่งออกไปตามกระแสเลือด
ปัญหาระบบต่อมไร้ท่อที่พบทั่วไปในน้องหมา คือ การสร้างฮอร์โมนที่ออกมามากเกินไป หรือน้อยเกินไป ทำให้ระบบการทำงานของร่างกายเกิดปัญหา ซึ่งโรคระบบต่อมไร้ท่อที่พบบ่อย ได้แก่
- ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ (Hypothyroidism) ผู้เลี้ยงสามารถสังเกตอาการของน้องหมาได้ น้องหมาที่ป่วยเป็นภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำนั้น จะแสดงอาการออกมาได้หลากหลาย เช่น มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น อ้วนขึ้นทั้ง ๆ ที่กินอาหารปกติ มีปัญหาที่ผิวหนังและขน โดยขนบริเวณหางจะร่วงหรือบางลง ผิวหนังบริเวณใบหน้า หน้าผาก หนาตัวและมีรอยย่น บริเวณเปลือกตาบนจะย้อยลงมา ซึ่งเราเรียกลักษณะหน้าตาเช่นนี้ว่า tragic facial expression หรือ tragic face syndrome
สุนัขบางรายอาจมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น เชื่องช้า ซึม อ่อนแรง เหนื่อยง่าย และอยากนอนมากกว่าปกติ แต่บางรายอาจก้าวร้าวมากขึ้น หากน้องหมาที่เรากำลังเลี้ยงมีอาการแบบนี้ แนะนำให้พาไปพบสัตวแพทย์เพื่อปรึกษาถึงวิธีการรักษาที่ถูกต้อง
ผู้เลี้ยงแบบไหนที่เหมาะกับเจ้าโกลเด้น!?
ไม่ใช่สุนัขทุกตัวที่จะเหมาะกับทุกคน มนุษย์เรานั้นมีนิสัยที่แตกต่างออกไปตามการเลี้ยงดู สุนัขเองก็มีนิสัยที่แตกต่างออกไปในแต่ละสายพันธุ์เช่นกัน การจะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงหรือสุนัขสักตัวนึง เราต้องคำนึงถึงหลาย ๆ อย่าง ว่าเรากับสุนัขที่จะนำมาเลี้ยงสามารถเข้ากับไลฟ์สไตล์เราได้หรือเปล่า?
มาดูกันดีกว่าว่าผู้เลี้ยงแบบไหนที่เหมาะกับเจ้าโกลเด้น จะใช่ผู้เลี้ยงแบบเราหรือเปล่านะ!?
ผู้เลี้ยงที่มีเวลาดูแลเจ้าโกลเด้น
โดยปกติแล้วนิสัยพื้นฐานของเจ้าโกลเด้นนั้น เป็นสัตว์ที่ค่อนข้างติดเจ้าของ และขี้เหงามาก ฉะนั้นถ้าใครคิดจะเลี้ยงสุนัขพันธุ์นี้ ควรจะเป็นคนที่มีเวลาว่างเยอะ เพื่อที่จะสามารถเล่นกับน้อง และไม่ปล่อยให้น้องรู้สึกเหงาอยู่ตัวเดียว แต่ถ้าหากว่าไม่มีเวลาอยู่กับน้องบ่อยนัก อาจจะซื้อสุนัขเพิ่มอีกตัว เพื่อให้เจ้าโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ไม่รู้สึกเหงานั่นเอง
ผู้เลี้ยงที่มีพื้นที่ในการเลี้ยง
ด้วยขนาดตัวของเจ้าโกลเด้นนั้น ถือว่าเป็นสุนัขพันธุ์ใหญ่ ผู้เลี้ยงควรมีพื้นที่ในการเลี้ยงที่ค่อนข้างกว้าง ดังนั้นเจ้าโกลเด้นอาจจะไม่เหมาะสำหรับคนที่อาศัยอยู่ในคอนโด หรืออพาร์ตเม้น เพราะอาจจะรบกวนผู้เช่าห้องอื่นได้
ผู้เลี้ยงที่ไม่เป็นภูมิแพ้
สุนัขสายพันธุ์โกลเด้น เป็นสุนัขที่มีขนยาว และผลัดขนแทบจะตลอดทั้งปี ดังนั้นขนของเจ้าโกลเด้นจะฟุ้งไปทั่วบ้านแน่นอน ถ้าคุณเป็นภูมิแพ้ แพ้ขนสัตว์เจ้าโกลเด้นคงไม่เหมาะกับคุณ
ผู้เลี้ยงที่สามารถรับค่าใช้จ่ายที่จะตามมาในอนาคตได้
เจ้าโกลเด้นนับว่าเป็นสุนัขสายพันธุ์ใหญ่ และเนื่องด้วยขนาดตัวที่ใหญ่ ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามขนาดตัว ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหารที่ต้องทานเยอะขึัน อุปกรณ์การเลี้ยงที่ต้องมีขนาดใหญ่ขึ้น และค่ารักษาพยาบาลต่าง ๆ ดังนั้นผู้เลี้ยงที่เหมาะกับการเลี้ยงเจ้าโกลเด้น คือ ผู้เลี้ยงที่สามารถรับค่าใช้จ่ายที่จะตามมาในอนาคตได้นั่นเองค่ะ!
คำถามที่พบบ่อย
Q: โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ เข้ากับเด็กเล็กได้หรือไม่?
A: โกลเด้น เป็นสัตว์ที่มีนิสัยเป็นมิตรมาก สามารถเข้ากันได้ดีกับเด็กและผู้ใหญ่ แม้กระทั่งกับสุนัข แมว และสัตว์ในปศุสัตว์อื่น ๆ
Q: เป็นภูมิแพ้สามารถเลี้ยงโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ได้หรือไม่?
A: โกลเด้น เป็นสัตว์ที่ขนยาว หนา และผลัดขนแทบจะตลอดทั้งปี อาจไม่เหมาะสำหรับคนเป็นภูมิแพ้
เป็นอย่างไรกันบ้างกับเรื่องราวน่ารู้ ก่อนตัดสินใจเลี้ยงโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ (Golden Retriever) ที่เราได้รวบรวมมาในวันนี้ PetPlease หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกคนได้รู้จักเจ้าโกลเด้น รีทรีฟเวอร์มากขึ้นนะคะ และสำหรับใครที่กำลังหาสุนัขสักตัวมาเลี้ยง ก็อย่าลืมเอาเจ้าโกลเด้น สุนัขสุดน่ารักไปพิจารณากันด้วยน้า~
—
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Golden Retriever: Dog Breed Characteristics & Care
Types Of Golden Retrievers: Why There Are Really Only 3 Kinds
Best Diet for Golden Retrievers: Nutrition, Types, and More!
Atopic Dermatitis (Atopy) in Dogs
Acute Moist Dermatitis AKA Hot Spots: What to Know
โรคที่เกี่ยวกับจอประสาทตาในสุนัข (Retinal Diseases)
โรคต้อหิน (Glaucoma) จากความผิดปกติของความดันในลูกตา
โรคเปลือกตาม้วนเข้า และม้วนออก (Entropion & Ectropion eyelids)
AUTHOR: MEW
2022, NOV 15