น้องแมวเปอร์เซียเป็นแมวที่ถูกนิยมเลี้ยงเป็นอย่างมากในประเทศไทย แต่ทุกคนรู้หรือไม่ว่าต้นกำเนิดของน้องแมวสายพันธุ์นี้นั้นแท้จริงแล้วมาจากที่ไหน ดูแลอย่างไรให้ไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ รวมไปถึงข้อควรรู้ต่าง ๆ
วันนี้ PetPlease จึงได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อให้เหล่าทาสมั่นใจว่าจะสามารถดูแลน้องเปอร์เซียได้อย่างมีความสุข และไร้ความกังวล!
บทความนี้ขอนำเสนอ
- ถิ่นกำเนิดและความเป็นมาของเปอร์เซีย
- ลักษณะของเปอร์เซีย
- พฤติกรรมนิสัยของเปอร์เซีย
- อาหารและโภชนาการของเปอร์เซีย
- รวมเรื่องต้องรู้ถ้าจะเลี้ยงเปอร์เซีย
- แมวเปอร์เซียเหมาะกับเจ้าของแบบไหนกันนะ ?
- คำถามที่พบบ่อย
ถิ่นกำเนิดและความเป็นมาของเปอร์เซีย
ในปีค.ศ. 1684 มีการค้บพบว่าน้องแมวเปอร์เซียมีถิ่นฐานกำเนิดที่ประเทศตุรกี และอิหร่าน ซึ่งอยู่ในแถบเปอร์เซีย ก่อนที่จะถูกนำเข้ามายังทวีปยุโรปในปี 1620 โดยพ่อค้าชาวเปอร์เซียน ซึ่งน้องแมวเปอร์เซียก็ได้รับความนิยมในเหล่าทาสแมวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนถึงปลายปีศตวรรษที่ 19 ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์น้องแมวสายพันธุ์เปอร์เซียกับสายพันธุ์อื่น ๆ โดยนักพัฒนาสายพันธุ์ชาวอังกฤษอ้างว่าการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์จะทำให้ลักษณะภายนอกมีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ขนที่ยาว และหนามากขึ้น และกลายมาเป็นจุดเด่นของน้องแมวเปอร์เซีย จนเป็นที่สนใจของผู้คนทั่วโลกและถูกขยายพันธุ์กันอย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1900 จนกลายมาเป็นหนึ่งในแมวที่มีอิทธิพลต่อเหล่าทาสมากที่สุดในปัจจุบัน
ลักษณะของเปอร์เซีย
ถึงแม้ว่าสายพันธุ์ของน้องแมวเปอร์เซียนั้นจะถูกพัฒนาและขยายพันธุ์อย่างแพร่หลายทั่วโลก ทำให้เกิดสายพันธุ์ที่หลากหลายมากขึ้น อย่างไรก็ตามก็มีลักษณะทางกายภาพร่วมกัน ดังนี้
ลำตัว
ลำตัวของแมวสายพันธุ์เปอร์เซียนั้นจะมีขนาดกลางตลอดจนถึงขนาดใหญ่ โดยจะมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 4-6 กิโลกรัมในเพศผู้ ส่วนเพศเมียนั้นจะมีน้ำหนักอยู่ที่ 3-5 กิโลกรัม ลำตัวมีความยาวอยู่ที่ 14-18 นิ้ว และมีโครงสร้างของร่างกายที่แข็งแรง
ส่วนหัวและใบหน้า
ลักษณะเด่นที่ทำให้ทาสแมวต่างก็ต้องตกหลุมรักน้องแมวเปอร์เซียนั่นก็คือส่วนหัว และใบหน้าที่ไม่เหมือนแมวพันธุ์ไหน ๆ โดยส่วนหัวและแก้มจะมีความกลมโต และจมูกหัก ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ทาสแมวทนความน่ารักไม่ไหว ทั้งนี้หน้าตาของเปอร์เซียก็มีหลากหลายแบบต่างชื่อเรียกกันไป ดังนี้
แมวเปอร์เซียหน้าตุ๊กตา (Doll-faced)
เป็นรูปร่างมาตรฐานดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ โดยมีลักษณะของปากและจมูกที่ยื่นจากโครงหน้า มีลักษณะของหูที่เล็ก ปลายของหูมีความกลมมน ดวงตากลม และขนนุ่มฟู ซึ่งมีความคล้ายกับตุ๊กตา
แมวเปอร์เซียหน้าบี้ (Peke-faced)
ถูกค้นพบครั้งแรกในปีค.ศ. 1960 โดยมีลักษณะของหน้าผาก จมูกและคางที่แบน หากมองจากมุมบนจะเหมือนกับว่าทุกอย่างอยู่ในระนาบเดียวกันหมด ปัญหาอย่างหนึ่งของแมวเปอร์เซียลักษณะนี้คือโรคหายใจผิดปกติ สืบเนื่องจากจมูกที่สั้นทำให้หายใจอย่างลำบาก
เอ็กซ์โซติก ช็อตแฮร์ (Exotic Shorthair)
มีลักษณะเหมือนกับแมวเปอร์เซียหน้าบี้ (Pake-faced) แต่จะมีลักษณะของขนที่สั้นเท่านั้นเอง
หิมาลายัน (Himalayan)
ลักษณะโดดเด่นของแมวเปอร์เซียหิมาลายันคือสีขนที่ไม่เหมือนใคร โดยจะมีสีเข้มเป็นจุดทั่วบริเวณใบหน้า หูตลอดจนปลายเท้า ซึ่งพบได้ทั้งเปอร์เซียหน้าตุ๊กตาและหน้าบี้
ชินชิล่า (Chinchilla)
เปอร์เซียชินชิล่าจะขึ้นชื่อเรื่องความสง่างาม เนื่องจากสีขนที่ขาวสะอาดตา บวกกับดวงตาสีฟ้ารายล้อมไปด้วยขอบที่มีสีเข้ม จึงทำให้ใคร ๆ ต่างก็หลงใหลความสง่าสงามของน้องแมวลักษณะนี้อย่างเต็มเป้า
ขน และสี
น้องแมวสายพันธุ์เปอร์เซียนั้นจะมีขนที่ยาวสลวย และพองฟู รวมถึงเส้นขนที่มีความเงางามทั้งลำตัว ทำให้มีความน่ากอดอยู่ตลอดเวลา รวมถึงบริเวณขาหน้า ใบหู ตลอดจนหางก็มีขนที่แซมอยู่เล็ก ๆ อีกด้วย สีขนของน้องแมวสายพันธุ์นี้จะมีความพิเศษอยู่หนึ่งอย่าง คือ มีสีเดียวกับดวงตาและมีสีที่ความหลากหลายไม่แพ้สายพันธุ์เลย โดยเราสามารถพบเห็นสีขาว สีครีม สีแดง สีน้ำเงิน สีดำ ได้ทั่วไปในท้องตลาด หรือฟามเพาะพันธุ์ น้องแมวสายพันธุ์นี้อาจมีขนต่างเฉดสีแทรกอยู่ในชั้นผิวหนังจนทำให้เกิดลวดลายที่ไม่เหมือนใครอีกด้วย
พฤติกรรมนิสัยของเปอร์เซีย
พฤติกรรมนิสัยโดยธรรมชาติของน้องแมวสายพันธุ์เปอร์เซียนั้นจะมีความนิ่งสงบ และสามารถเข้ากับสมาชิกครอบครัวได้เป็นอย่างดี ถึงแม้จะเฉยชาแค่ไหนแต่ก็ชื่นชอบที่จะอยู่เคียงข้างทาสแมวอยู่ดี จึงกลายเป็นที่รักของครอบครัวในที่สุด อย่าไงรก็ตามน้องแมวเปอร์เซียเลือกที่จะไว้ใจเป็นบางคนเท่านั้น ทำให้การพบเจอผู้คนแปลกหน้า หรือสัตว์เลี้ยงที่ไม่คุ้นเคยเป็นเรื่องที่น้องแมวเปอร์เซียไม่ชื่นชอบเท่าไหร่นัก
น้องแมวเปอร์เซียชื่นชอบที่จะใช้ชีวิตเรียบง่าย ไม่ส่งเสียงดังรบกวนใคร ดังนั้นนิสัยการทำลายข้าวของ ปีนป่ายของใช้ภายในบ้านจึงไม่ใช่ลักษณะนิสัยของน้องแมวสายพันธุ์นี้ น้องแมวเปอร์เซียไม่ชอบการอยู่ท่ามกลางสถานที่ที่เต็มไปด้วยเสียงดังวุ่นวาย หากจำเป็นจะต้องไปสถานที่ดังกล่าว เหล่าทาสจำเป็นต้องเตรียมตัวรับแรงปะทะให้ดี ด้วยเหตุเหล่านี้ทำให้น้องแมวไม่เก่งเรื่องการแสดงความรักเท่าไหร่นัก แต่ถึงอย่างนั้นการอยู่เคียงข้างอย่างสงบและไม่รบกวนก็ถือว่าเป็นการบอกรักในแบบของน้องแมวเปอร์เซียแล้ว
อาหารและโภชนาการของเปอร์เซีย
โปรตีน
โปรตีนเป็นสารอาหารที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อของร่างกาย ในอาหารจำเป็นต้องมีกรดอะมิโนที่เป็นหน่วยย่อยของโปรตีน เพื่อช่วยสร้างเนื้อเยื่อซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของร่างกายสัตว์เลี้ยง
คาร์โบไฮเดรต
คาร์โบไฮเดรตคือแหล่งพลังงานของร่างกาย ร่างกายจะนำพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตมาใช้เพื่อลำเลียงไปยังเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น เซลล์ประสาท เซลล์หัวใจ และเซลล์เม็ดเลือดแดง อย่างไรก็ตามก็ต้องจำกัดปริมาณ เนื่องจากการมีพลังงานสะสมเกินกว่าที่ร่างกายจำเป็นก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีเท่าไหร่นัก จากประโยชน์อาจกลายเป็นโทษได้ในที่สุด
ไขมัน
เราทุกคนอย่างกันอย่างดีอยู่แล้วว่าไขมันคือแหล่งให้พลังงานแก่ร่างกายสูงสุด ไม่เพียงสำคัญต่อมนุษย์แต่รวมถึงสัตว์เลี้ยงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้แล้วนั้นไขมันยังทำหน้าที่ในการดูดซึมวิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายอีกด้วย ทั้งนี้เราควรควบคุมปริมาณไขมันและคาร์โบไฮเดรตในร่างกายของสัตว์เลี้ยงไม่ให้มีมากเกินไปจนทำให้เกิดอ้วนในสัตว์เลี้ยง
วิตามิน และแร่ธาตุจำเป็น
ถึงแม้จะได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อร่างกายแล้ว แต่วิตามินและแร่ธาตุก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะเสริมสร้าง และบำรุงระบบอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย วิตามิน และแร่ธาตุที่น้องแมวต้องการนั้น ได้แก่ วิตามินบี แคลเซียม และฟอสฟอรัส เป็นต้น โดยเราจำเป็นต้องจำกัดปริมาณให้พอดีกับที่ร่างกายต้องการ
การให้อาหารลูกแมว 1 เดือน
ลูกแมวเปอร์เซียอายุ 1 เดือนยังมีความจำเป็นต้องกินนมแม่อยู่ และค่อย ๆ เริ่มให้ลูกแมวกินอาหารเม็ด หากลูกแมวยังไม่สามารถทานอาหารเม็ดเองได้ เหล่าทาสสามารถนำอาหารเม็ดสูตรลูกแมวผสมกับนมเพื่อเป็นการสร้างความเคยชินให้กับลูกแมว หลังจากนั้นก็สามารถลดปริมาณของนมลงได้จนกว่าลูกแมวสามารถทานอาหารเม็ดได้อย่างเอร็ดอร่อย ทั้งนี้เหล่าควรให้อาหารเม็ดร่วมกับนมทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง จนครบอายุ 2 เดือน ก่อนจะปรับเปลี่ยนมาให้อาหารเม็ด 3-4 ครั้งต่อวัน
การให้อาหารลูกแมว 10 เดือน
เมื่อลูกแมวอายุ 10 เดือนแล้ว เหล่าทาสสามารถปรับสูตรของอาหารเม็ดมาใช้สูตรสำหรับแมวโตได้ และลดความถี่ของการให้อาหารเหลือเพียง 2 ครั้งต่อวันเท่านั้น ทั้งนี้สามารถสลับมาให้อาหารเปียกได้เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในร่างกายของลูกแมว เนื่องจากในอาหารเปียกมีส่วนประกอบของน้ำ
การให้อาหารสำหรับแมว 7 ปีขึ้นไป
เมื่อน้องแมวเติบโตจนถึงอายุ 7 ปี นั่นหมายความน้องแมวเข้าสู่ช่วงวัยชราเป็นที่เรียบร้อยทำให้การขยับร่างกายต่อวันนั้นน้อยลงสวนทางกับอายุที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเหล่าทาสควรปรับสูตรมาเป็นสูตรสำหรับแมวสูงอายุโดยเฉพาะ เพราะมีสารอาหารที่ตอบโจทย์ความต้องการของน้องแมวอย่างครบถ้วนและพอดีต่อร่างกาย เช่น โปรตีนสูง คาร์โบไฮเดรต และไขมันต่ำ และน้องแมวสูงอายุอาจมีโรคที่ซับซ้อน ซึ่งจำเป็นต้องการสารอาหารเพิ่มเติมเป็นพิเศษ ในกรณีนี้ควรต้องปรึกษาสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจซื้ออาหารให้น้องแมว
อาหารป้องกันก้อนขนในระบบทางเดิอนอาหาร
การเลียขนเป็นพฤติกรรมธรรมชาติของน้องแมวทุกสายพันธุ์ เพื่อทำความสะอาดร่างกายและขนของตัวเอง อย่างที่เราทราบกันดีว่าน้องแมวนั้นเป็นสัตว์ที่รักษาความสะอาดของตัวเองเป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เกิดก้อนขน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแมวเปอร์เซียที่มีปริมาณขนที่หนา และยาวกว่าแมวสายพันธุ์ทั่วไปจึงมีก้อนขนในระบบทางเดินอาหารปริมาณจนกลายเป็นปัญหาที่น่าเป็นกังวลกว่าปกติดังนั้นเหล่าทาสแมวทั้งหลายจึงจำเป็นต้องพิจารณาให้สูตรอาหารที่สามารถป้องกันก้อนขนสลับกับสูตรปกติเพื่อสุขภาพที่ดีของน้องแมวนั่นเอง
อาหารที่ควรระวัง
นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว
อาหารต้องห้ามสำหรับแมวทุกสายพันธุ์ เนื่องจากมีเอนไซ์ที่ไม่สามารถย่อยน้ำตาลในนมวัวได้ดีเท่าที่ควร อาจส่งผลให้เกิดการท้องเสีย หรืออาเจียนได้ ไม่เพียงแต่นมวัว แต่รวมถึงผลิตภัณฑ์จากนมวัวทุกชนิด เช่น เนย วิปครีม และอื่น ๆ เป็นต้น
กระดูกไก่
กระเพาะของน้องแมวไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อย่อยสลายกระดูกใด ๆ ที่มนุษย์ให้เป็นอาหาร ดังนั้นไม่ควรให้กระดูกไก่เป็นอาหารน้องแมวเป็นเด็ดขาด เพราะจะส่งผลให้ระบบทางเดินอาหารอุดตัน และอาจทำให้กระเพาะทะลุได้ในที่สุด
ช็อคโกแลต
ช็อคโกแลตมีส่วนผสมของสาร Theobromine มีฤทธิ์ส่งผลให้แมวเกิดภาวะกระวนกระวาย ตื่นตระหนกกว่าปกติ อาจส่งผลให้เกิดอาการท้องเสีย และอาเจียนได้ จึงไม่ควรให้ช็อคโกแลตน้องแมวเป็นอาหาร
ไข่ดิบ
ไข่ดิบเต็มไปด้วยเชื้อแบคทีเรียที่ส่งผลอันตรายต่อน้องแมว นอกจากนี้ในไข่ขาวนั้นยังมีสาร Avidin ที่ทำหน้าที่กีดกันการดูดซึมวิตามินบี ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อระบบผิวหนังและขน หากเกิดภาวะขาดวิตามินบี
รวมเรื่องต้องรู้ถ้าจะเลี้ยงเปอร์เซีย
การดูแลน้องแมวเปอร์เซีย
การดูแลขน
เนื่องจากแมวเปอร์เซียเป็นแมวที่มีลักษณะของขนที่ค่อนข้างยาว ทาสแมวจำเป็นต้องหมั่นทำความสะอาดขนด้วยการแปรงอย่างน้อยวันละ 15 นาที ซึ่งเน้นที่จุดรวมเชื้อโรค หรือ จุดที่น้องแมวไม่สามารถเลียขนเองได้ เช่น คอ ขา และหางเป็นต้น
การอาบน้ำ
ปกติแล้วเราไม่จำเป็นต้องอาบน้ำน้องแมวเป็นประจำ เหมือนกับการแปรงขน เช็ดหู ตัดเล็บ และแปรงฟันที่ต้องทำเป็นประจำทุกสัปดาห์ สำหรับการอาบน้ำเพียงแค่เดือนละครั้งก็ถือว่าเพียงพอแล้ว หากบ้านไหนที่มีน้องแมวอาบน้ำยากก็สามารถใช้แชมพูแห้งแทนได้
สุขภาพและปัญหาที่มักพบในเปอร์เซีย
น้องแมวเปอร์เซียอาจมีปัญหาสุขภาพโดยอาจมีอาการหายใจลำบาก ฟันสบไม่ปกติ น้ำตาไหลเยอะ การติดเชื้อรา หรือปัญหาผิวหนังต่าง ๆ ได้เหมือนแมวปกติทั่วไป แต่โรคที่เราสามารถพบได้บ่อยในแมวเปอร์เซีย มีดังนี้
โรคผิวหนัง
การติดเชื้อที่หู (Ear Infection) เป็นโรคที่สามารถพับได้บ่อยในแมวทุกสายพันธุ์ หากทาสแมวไม่หมั่นทำความสะอาด ใบหูของน้องแมวก็จะเต็มไปด้วยความชื้นและทำให้เกิดการติดเชื้อที่หูได้
มาต่อกันที่การติดเชื้อราในแมว (Dermatophytosis) สามารถติดเชื้อได้ในบริเวณขน เล็บ และผิวหนังชั้นนอก โดยสาเหตุของการติดเชื้อรานั้นก็มาจากสภาพแวดล้อมที่ร้อนชื้นนั่นเอง น้องแมวจะมีอาการขนร่วงเป็นจุด ๆ มีสะเก็ด และอาจพบตุ่มบริเวณที่ติดเชื้อราได้เช่นเดียวกัน หากพบอาการเหล่านี้ควรปรึกษาสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการรักษาอย่างละเอียดและปลอดภัย
โรคระบบประสาท
ทาสแมวคนใดที่รับเลี้ยงน้องแมวจากฟาร์มเพาะ หรือรับเลี้ยงน้องแมวจากที่อื่น ๆ จำเป็นต้องคำนึงถึงปัญหาเกี่ยวกับการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปของน้องแมว เพราะไม่ใช่น้องแมวที่จะปรับตัวได้อย่างไร้ความวิตกกังวล ในกรณีที่น้องแมวไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ได้จะก่อให้เกิดโรควิตกกังวลต่อการแยกจาก (Separation Anxiety Disorder) โดยจะมีอาการปัสสาวะนอกกระบะทราย เริ่มทำลายสิ่งของ คาบของเล่นชิ้นโปรด ขณะร้องไห้ไปด้วย มีอาการกระตือรือร้นผิดปกติ สาเหตุจากการอยู่ในบ้านตัวเดียวอย่างเข้มงวด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวันกระทันหัน เหล่าทาสควรจัดการสภาพแวดล้อมให้เหมาะสำหรับอาการน้องแมว ควรมีอุปกรณ์หรือของเล่นที่ทำให้น้องแมวเพลิดเพลิน และสามารถอยู่ได้อย่างมีความสุขในขณะที่คุณไม่อยู่บ้าน หากน้องแมวอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในลำดับถัดไป
โรคระบบหมุนเวียนโลหิต และหัวใจ
โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ (Hypertrophic Cardiomyopathy : HCM) โรคนี้จะไม่แสดงอาการเท่าไหร่ ทาสแมวต้องสังเกตอาการน้องแมว หากมีอาการอ่อนแรง ทานอาหารน้อย ไม่ขยับร่างกายเท่าไหร่นัก หายใจเสียงดัง ทาสแมวต้องพาไปพบสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที ก่อนที่จะเกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลัน
โรคระบบโครงกระดูก ข้อต่อ และโครงสร้าง
โรคข้อสะโพกเจริญผิดปกติ (Hip Dysplasia) เป็นโรคที่นิยมอย่างมากในสัตว์เลี้ยงพันธุ์เล็กและใหญ่ มีสาเหตุมาจากการเจริญเติบโตของกระดูกที่ผิดปกติ หัวกระดูกไม่สามารถเชื่อมต่อกับเบ้ากระดูกได้ โดยน้องแมวจะมีอาการลุกยืนลำบาก เหนื่อยง่าย และมีเสียง “คลิ๊ก” บริเวณสะโพก หากพบว่าน้องแมวมีอาการเหล่านี้ควรพบสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาอย่างละเอียด
โรคระบบทางเดินอาหาร และตับ
โรคยอดฮิตสำหรับน้องแมวเปอร์เซียอย่างโรคภาวะก้อนขนอุดตัน (Hairball Obstruction) เป็นโรคที่เหล่าทาสไม่อาจปฏิเสธได้ หากดูแลความสะอาดของน้องแมวไม่ดีพอ อย่างที่ทราบกันว่าน้องแมวจะทำความสะอาดขนตัวเองด้วยการเลียเป็นประจำทุกวัน และยิ่งแมวที่มีขนยาวอย่างเปอร์เซียนั้นจะมีความถี่มากกว่าแมวปกติ ทำให้ขนที่เลียเข้าไปนั้นเกิดเป็นก้อนขนขนาดใหญ่ในกระเพาะอาหาร หากสะสมมากเกินไปจะส่งผลให้น้องแมวไม่สามารถขับถ่ายออกมาได้ ดังนั้นเวลาทานอาหารจะทำให้มีอาการสำรอกอาหารออกมา เบื่ออาหาร ตลอดจนอาการที่รุนแรงอย่างลำไส้อุดตัน เบื้องต้นเหล่าทาสสามารถให้อาหารสูตร Hair ball เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเบื้องต้น หากอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้พบสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อดูอาการในลำดับถัดไป
มาต่อกันที่โรคภาวะหลอดเลือดดำที่ตับลัดเข้าสู่ระบบหมุนเวียนโลหิต (Portosystemic Shunts : PSS) น้องแมวจะมีอาการเดินเซไปมาเพราะสายตาพร่ามัว ตลอดจนไปถึงอาการชัก เพราะเลือดไม่สามารถเข้าไปหล่อเลี้ยงตับได้มากเท่าที่ควร ดังนั้นเหล่าทาสควรสังเกตอาการของน้องแมวอย่างละเอียดและพบสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรักษาในลำดับถัดไป
โรคระบบทางเดินปัสสาวะ และไต
โรคทางเดินปัสสาวะส่วนล่างของแมว (Feline Lower Urinary Tract Disease : FLUTD) น้องแมวที่กำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับโรคนี้จะมีอาการเดินเข้าออกกระบะทรายอยู่บ่อยครั้ง ปัสสาวะในบริเวณนอกกระบะทราย รวมถึงมีการทำท่าเบ่งปัสสาวะ เลียบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์มากขึ้น ปัสสาวะมีเลือดเจือปน เบื่ออาหาร หากน้องอาการเหล่านี้เหล่าทาสสามารถให้วางน้ำดื่มเพิ่มเติมในจุดต่าง ๆ ของบ้านเป็นการบรรเทาอาการเบื้องต้น หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพบสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในลำดับถัดไป
ต่อกันที่ภาวะเกิดถุงน้ำภายในไต (Polycystic Kidney Disease : PKD) เป็นโรคที่เกิดจากพันธุกรรม ซึ่งอาจแสดงอาการได้ตั้งแต่เด็ก โดยจะมีอาการไตทำงานผิดปกติ ส่งผลให้เกิดอาการไตวาย โดยน้องแมวจะมีอาการเบื่ออาหาร ดื่มน้ำ และปัสสาวะบ่อย มีอาการซึม ไร้เรี่ยวแรง หากน้องแมวมีอาการดังนี้ควรรีบพาไปพบสัตว์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที
โรคระบบทางเดินหายใจ
โรคระบบทางเดินหายใจผิดปกติของสุนัขและแมวพันธุ์หน้าสั้น (Brachycephalic Syndrome) โรคยอดฮิตสำหรับสุนัขและแมวพันธุ์หน้าสั้น จะมีความผิดปกติที่สามารถพบได้ ดังนี้ รูจมูกตีบแบ เพดานอ่อนยาวกว่าปกติ และอื่น ๆ เป็นต้น ซึ่งจะมีอาการทางเดินหายใจที่แสดงออกอย่างผิดปกติ เช่น หายใจดังขณะหายใจเข้า หายใจทางปากแทนจมูก มีลิ้นและเหงือกสีม่วง เนื่องจากขาดออกซิเจน ตลอดจนท่านอนที่มีการนอนหงายหลังติดพื้น ในกรณีนี้อาจเกิดภาวะหยุดหายใจได้เลย เพื่อเป็นการป้องกันการเสียใจชีวิตจากระบบทางเดินหายใจผิดปกติ ควรพาไปพบสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาอย่างละเอียด
โรคตา
เรามาเริ่มกันที่โรคแรกกับจอประสาทตาเสื่อม (Progressive Retinal Atrophy) หนึ่งในโรคที่ถ่ายทอดจากระบบพันธุกรรม ไม่สามารถสังเกตได้ทันที เพราะโรคนี้จะพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ รู้ตัวอีกทีแมวของเราก็มีอาการแย่ลงซะแล้ว โดยสายตาของน้องแมวจะเริ่มพร่ามัวในตอนกลางคืน หรือพื้นที่ที่มีแสงน้อย ถ้าน้องแมวเดินเซจนชนข้าวของที่วางอยู่อย่างโจ่งแจ้ง ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการรักษาในลำดับถัดไป
เรามาต่อกันที่โรคเชอร์รี่อาย (Cherry Eye) ถึงแม้จะมีชื่อโรคที่น่ารัก แต่อาการของโรคนั้นไม่น่ารักเหมือนกับชื่อ น้องแมวที่เป็นโรคเชอร์รี่อายจะมีอาการบวมแดงด้านในมุมตาลักษณะคล้ายเชอร์รี่ ทำให้มีอาการระคายเคืองรอบดวงตา หากมีลักษณะอาการเช่นนี้ควรพบสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการผ่าตัดในลำดับถัดไป
มาถึงโรคสุดท้ายกับโรคเปลือกตาม้วนเข้า (Ectropion) หากน้องแมวมีอาการเกาตาอยู่บ่อย ๆ ทาสควรเช็คบริเวณหนังตา หากน้องแมวมีอาการหนังตาม้วนเข้าไปด้านในตา ให้พาไปพบสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรักษาโดยการผ่าตัดในลำดับถัดไป
หากเหล่าทาสต้องการป้องกันแมวจากโรคภัยอันตรายเหล่านี้ ก็จำเป็นต้องศึกษารายละเอียดให้ครบถ้วน และดูแลความสะอาดเป็นพิเศษ ไม่เพียงแต่อาหารการกินเท่านั้น แต่รวมถึงการทำความสะอาดบ้านของน้องแมวด้วยเช่นกัน หากทาสแมวท่านใดที่กำลังหาแหล่งซื้ออาหารตลอดจนอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ทั้งสะอาด ได้มาตรฐาน และปลอดภัยอยู่ และยังไม่รู้ว่าจะไว้ใจที่ไหนดี โปรดไว้ใจให้ PetPlease ดูแลเพื่อสุขภาพของท่าน โดยสามารถเลือกสรรสินค้าบนเว็บไซต์ของ PetPlease ได้แล้ววันนี้
แมวเปอร์เซียเหมาะกับเจ้าของแบบไหนกันนะ ?
ถึงแม้น้องแมวเปอร์เซียจะมีการปรับตัวตามสภาพแวดล้อมได้อย่างรวดเร็ว ก็ไม่ใช่ว่าน้องแมวสายพันธุ์นี้จะเหมาะกับทุกคน หากเราไม่มีความเข้าใจในธรรมชาติของน้องแมวก็อาจส่งผลเสียต่อการเลี้ยงดูในอนาคตได้ แล้วนิสัยของเจ้าของแบบไหนกันนะที่เหมาะกับน้องแมวเปอร์เซีย ?
เจ้าของที่ชอบให้ความสนใจ
น้องแมวเปอร์เซียเปรียบเสมือน Main Character หรือ ตัวละครหลักที่ชอบที่จะได้รับความสนใจจากคนรอบข้างอยู่เสมอ ถึงแม้ปกติแล้วเราอาจเคยชินกับการที่น้องแมวสายพันธุ์นี้อยู่ในโหมดขี้เกียจ แต่เมื่อไหร่ที่น้องแมวตื่นตัว เขาก็จะมาคลอเคลียคุณ จนกว่าจะได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ เช่น ความสนใจ เป็นต้น ดังนั้นผู้ที่เหมาะกับน้องแมวสายพันธุ์นี้จำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติของน้องแมวให้เป็นอย่างดี เพราะเขาจะค่อนข้างเรียกร้องความสนใจจนกว่าจะได้ในสิ่งที่ต้องการ
เจ้าของที่เป็นมิตรและรักความสงบ
น้องแมวเปอร์เซียเป็นแมวที่รักความสงบ ไม่ชอบพื้นที่ที่รายล้อมไปด้วยความวุ่นวาย และเสียงดัง อีกทั้งลักษณะนิสัยของน้องแมวสายพันธุ์นี้นั้นเป็นพวกที่ไว้ใจคนอื่นได้ยาก หากเข้าอย่างไม่มีชั้นเชิง อาจทำให้น้องแมวหมดความไว้ใจได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างมิตรภาพที่ดี เจ้าของควรมีความเป็นมิตร และเข้าหาอย่างนุ่มนวลเพื่อเป็นการสร้างความไว้ใจซึ่งกันและกัน
เจ้าของที่สามารถทำกิจวัตรซ้ำ ๆ อย่างไม่เปลี่ยนแปลง
โดยธรรมชาติของน้องแมวเปอร์เซียแล้วนั้นจะมีความเข้มงวดเรื่องกิจวัตรประจำวันของตัวเองเป็นอย่างมาก หากเวลาไหนเป็นเวลากินก็จำเป็นต้องได้กิน หากเวลาไหนเล่นก็จำเป็นต้องได้เล่น และเวลาไหนนอนก็ต้องนอน น้องแมวสายพันธุ์นี้จึงจำรายละเอียดของกิจวัตรตัวเองได้เป็นอย่างดี เมื่อไหร่ก็ตามที่เจ้าของละเลยรายละเอียดเล็กน้อยก็จะทำหน้าที่คอยเตือนรายการที่ต้องทำอยู่เสมอ ดังนั้นน้องแมวเปอร์เซียจึงเหมาะกับเจ้าของที่สามารถทำกิจวัตรประจำวันอย่างซ้ำ ๆ ได้โดยไม่รู้สึกเบื่อหน่าย
คำถามที่พบบ่อย
Q: แมวเปอร์เซียสามารถอยู่กับเด็กเล็กได้หรือไม่ ?
A: เนื่องจากแมวเปอร์เซียเป็นแมวที่มีโลกส่วนตัวสูง นิ่งเงียบ และไม่สุงสิงกับใคร ดังนั้นจึงไม่นิยมเป็นตัวเลือกแรกสำหรับการเลี้ยงในครอบครัวที่มีเด็กเล็กเท่าไหร่นัก อย่างไรก็ตามแมวเปอร์เซียก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับเด็กเล็กได้ หากเป็นเด็กที่รักความสงบและไม่วิ่งไล่น้องแมวจนทำให้รู้สึกถูกบุกรุกพื้นที่ส่วนตัว
Q: วิธีการดูเปอร์เซียพันธุ์แท้ต้องดูอย่างไร ?
A: การสังเกตเปอร์เซียแท้จำเป็นต้องดูหลายองค์ประกอบ เนื่องจากมีรายละเอียดหลากหลาย ดังนี้
ใบหน้า : น้องเปอร์เซียจะมีลักษณะใบหน้าที่กลมและเต็มไปด้วยแก้มทั้งสองข้าง จมูกสั้นไม่เหมือนกับแมวสายพันธุ์อื่น ๆ รวมถึงดวงตาที่กลมโต
ลักษณะขน : ขนของน้องแมวเปอร์เซียจะมีลักษณะพองฟู แต่ยังมีความนุ่มไม่แห้งกร้าน และต้องมีความยาวสลวยอีกด้วย
ลักษณะหาง : ลักษณะเด่นของหางน้องแมวเปอร์เซีย คือ สั้น กลม แต่นุ่มฟู ซึ่งถือเป็นอาวุธหลักในการทำให้เหล่าทาสใจอ่อน
ขนาดลำตัว : โดยปกติเมื่อโตเต็มวัย แมวเปอร์เซียจะมีน้ำหนักประมาณ 5-6 กิโลกรัม รวมถึงคอและขาจะสั้น แต่กระดูกใหญ่ทำให้โครงสร้างทางร่างกายมีความแข็งแรง
ลักษณะนิสัย : อย่างที่เราทราบไปข้างต้นว่าน้องแมวเปอร์เซียจะเป็นแมวสายพันธุ์ที่รักความเงียบสงบ รักสันโดษ ไม่ชอบความวุ่นวายหรือที่ที่เต็มไปด้วยผู้คนเท่าไหร่นัก
Q: แมวเปอร์เซียเลี้ยงยากจริงหรือไม่ ?
A: การเลี้ยงดูแมวเปอร์เซียนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากต้องการการดูแลอย่างพิเศษ ด้วยสรีระทางร่างกาย และลักษณะของขนที่จำเป็นต้องดูแลอย่างละเอียดอ่อน ทั้งนี้น้องแมวก็สามารถปรับตัวได้ง่ายตามลักษณะนิสัยของเจ้าของ ดังนั้นหากมีความต้องการอยากเลี้ยงน้องแมวเปอร์เซีย ก็สามารถทำได้หากเราศึกษาข้อมูลมาอย่างครบถ้วนแล้ว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- แมวเปอร์เซีย (Persian cat)
- 15 วิธีดูแลแมวเปอร์เซีย
- แมวพันธุ์เปอร์เซีย อาหาร วิธีเลี้ยง นิสัย [พร้อมราคา] – Yora
- แมวเปอร์เซีย (Persian) ลักษณะสายพันธุ์และนิสัย
AUTHOR: Arthurchiii
2023, FEB 02