ใครที่กำลังริเริ่มอยากมีสัตว์เลี้ยงเป็นของตัวเอง แบบฉบับที่ไม่ต้องเปลืองพื้นที่ แถมยังเลี้ยงง่าย แต่ไม่รู้ว่าจะเลี้ยงอะไรดี เจ้าหนูแฮมเตอร์ สัตว์ฟันแทะที่ได้รับความนิยมอย่างมากอีกชนิดหนึ่ง ถือเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงตัวจิ๋วที่ตอบโจทย์ทั้งเลี้ยงง่ายแถมยังไม่ต้องใช้พื้นที่เยอะ แต่จะมีวิธีเลี้ยงยังไงสำหรับมือใหม่บ้างน้า วันนี้PetPlease ได้หาคำตอบมาให้ทุกคนแล้วค่ะ!
บทความนี้ขอนำเสนอ
- หนูแฮมสเตอร์มีกี่สายพันธุ์?
- เคล็ดลับการเลี้ยงหนูแฮมเตอร์สำหรับมือใหม่
- โภชนาการสำหรับแฮมเตอร์
- อุปกรณ์จำเป็นที่ต้องมีก่อนเลี้ยงหนูแฮสมเตอร์
- โรคที่หนูแฮมเตอร์มีความเสี่ยงสูง
- 4จุดสังเกต แฮมสเตอร์ป่วย
- สิ่งที่ต้องระมัดระวังเกี่ยวกับหนูแฮมสเตอร์
- เราเหมาะจะเลี้ยงแอมสเตอร์หรือไม่?
- คำถามที่พบบ่อย
มาทำความรู้จัก “หนูแฮมสเตอร์”สัตว์เลี้ยงสุดจิ๋วกัน
สัตว์เลี้ยงตัวเล็กจิ๋ว ขนปุกปุย อย่างเจ้าหนูแฮมสเตอร์ เห็นน้องน่าทะนุถนอมอย่างนี้ แต่กลับอาศัยอยู่ในทะเลทรายซีเรียน ซึ่งที่มีของคำว่าแฮมสเตอร์ เป็นภาษาเยอรมัน แปลว่า กระพุ้งแก้ม มาจากนิสัยที่ชอบเก็บอาหารไว้ที่กระพุ้งแก้มของน้องนั่นเองค่ะ
หนูแฮมเตอร์มีกี่สายพันธุ์กันนะ
หนูแฮมสเตอร์เป็นสัตว์เลี้ยงตัวจิ๋วที่เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นสัตว์ตระกูลฟันแทะ ซึ่งปัจจุบันหนูแฮมเตอร์ แบ่งออกเป็น 5 สายพันธุ์ ที่ผู้คนส่วนใหญ่นิยมเลี้ยง ที่สำคัญไม่มีหางยาวๆชวนขนลุก คนกลัวหนูหมดห่วงปัญหานี้ไปได้เลย ไปดูกันดีกว่าว่ามีสายพันธุ์อะไรบ้าง
สายพันธุ์ Winter white (วินเทอร์ไวท์)
เป็นสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงกันมากที่สุด ชื่อสายพันธุ์เต็มๆ คือ Dwarf winter white Russian hamster ที่มาของชื่อ วินเทอร์ไวท์ เพราะเมื่อมาถึงฤดูหนาว น้องจะผลัดขนเปลี่ยนเป็นสีขาว เพื่อพลางตัวในหิมะแต่เมื่อมาอยู่ที่ไทยหรือประเทศเขตร้อนจะเห็นการเปลี่ยนสีได้ยาก มีลักษณะกลมทั้งตัว ขนแน่น นุ่ม มีหางและใบหน้าสั้น ขนาดโตเต็มวัยมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 10 ถึง 12 เซนติเมตร มีอยู่ด้วยกัน 3 สีคือ 1. Agouti หรือเรียกกันว่าสีนอมอล จะออกเป็นสีน้ำตาลมีเส้นคาดกลางหลังเป็นสีดำ 2. Sapphire สีขนออกเทาอ่อนออกเงินๆ มีเส้นยาวคาดหลังเกือบเป็นสีเทาเข้ม 3. Pearl ลำตัวมีสีขาวมีเส้นคาดกลางหลังเป็นสีเทา เจ้าแฮมสเตอร์สายพันธุ์วินเทอร์ไวท์ มีนิสัยที่ค่อนข้างมีความรักสันโดษและหวงถิ่นที่อยู่อาศัยของตัวเอง ไม่ดุมากแต่ก็ไม่ใจดีเท่าสายพันธุ์ไจแอนท์ ทาสบางคนอาจจะถูกน้องกัดอยู่บ้าง เแต่อาจจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม การเลี้ยงดูและนิสัยใจคอของน้องหนูเองด้วย
สายพันธุ์ Cambell (แคมป์เบลล์)
หนูแฮมสเตอร์สายพันธุ์ที่นิยมรองลงมา ที่มีชื่อสายพันธุ์เต็มว่า Campbell’s Dwarf Russian Hamster น้องจะมีขนาดลำตัวที่ใหญ่กว่าพันธุ์วินเทอร์ ไวท์เล็กน้อยมีหน้าที่สั้นทู่ ตัวอ้วนเป็นทรงกลม ขนนุ่ม มีหางที่สั้นกุด ขนาดโตเต็มวัยมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 10 ถึง 15 เซนติเมตรภายนอกดูอาจจะน่ารักน่าเอ็นดูแต่มีนิสัยที่ค่อนข้างดุชอบกัดเจ้าของเอาแต่ใจบ้างเล็กน้อย จึงไม่แนะนำสำหรับผู้เลี้ยงมือใหม่ค่ะ
สายพันธุ์ Chinese Hamster (ไชนีส แฮมสเตอร์)
หนูแฮมสเตอร์เป็นสายพันธุ์ที่คนไม่ค่อยนิยมเลี้ยงเพราะมีลักษณะคล้ายหนูบ้านมีถิ่นกำเนิดจากทะเลทรายของประเทศจีนและแถบมองโกเลียลักษณะลำตัวมีความผอมเพรียวเรียวยาว หน้าแหลมนิดหน่อย บริเวณมือเท้าไม่ค่อยมีขนขึ้น มีหางยาวกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ส่วนขนาดตัวที่โตเต็มที่อยู่ที่ความยาวประมาณ 7 ถึง 9 เซนติเมตร มีนิสัยที่ขี้ตกใจและขี้หวาดกลัว คนเลี้ยงที่เลี้ยงสายพันธุ์นี้จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
สายพันธุ์ Roborovski (โรโบรอฟสกี)
เจ้าหนูตัวแคระ สายพันธุ์ Roborovski (โรโบรอฟสกี) เป็นหนูแฮมสเตอร์พันธุ์ที่เล็กที่สุดและเร็วที่สุดมีแหล่งกำเนิดมากจากทะเลทรายมีสีขนคล้ายกับเม็ดทรายเพื่อความกลมกลืนในการอำพลางตัว อีกทั้งยังเป็นสายพันธุ์ที่อายุยืนกว่าหนูแฮมส์เตอร์พันธุ์อื่นๆ มีนิสัยที่ชอบอยู่กันเป็นกลุ่มก้อน ขี้ตกใจ หวาดกลัว ซุกซนแถมยังวิ่งเร็วอีกด้วย สายพันธุ์นี้จึงเหมาะแก่ทาสที่ไม่ค่อยมีเวลาเล่นด้วยนั่นเองค่ะ
สายพันธุ์ Syrian Hamster (ซีเรียนแฮมสเตอร์หรือไจแอนท์แฮมสเตอร์)
หนูแฮมสเตอร์มักถูกเรียกว่า โกลเด้นท์หรือเทดดี้แบร์ เพราะมีขนาดตัวที่ใหญ่ ขนฟูเหมือนตุ๊กตาหมีบางตัวมีขนสะท้อนแสงเงาๆเหมือนกับผ้ากำมะหยี่ มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศรัสเซีย มีนิสัยเชื่อง ใจดีเป็นมิตรกับคนเลี้ยงเจ้าหนูแฮมสเตอร์พันธุ์ไจแอนท์เป็นพันธุ์ที่มีขนาดตัวที่ใหญ่ อ้วน หางสั้นกุด หูโตเป็นทรงกลม หน้าแหลม ขนมีทั้งแบบสั้น ยาว และหยักศก มีให้เลือกหลากหลายสี เช่น ครีม เทา ขาว น้ำตาล ซึ่งการเลี้ยงหนูแฮมสเตอร์พันธุ์ไจแอนท์ ไม่ควรเลี้ยงให้อยู่ด้วยกันหลายตัว ควรแยกเลี้ยงเดี่ยว 1กรงต่อ 1ตัว
อุปกรณ์จำเป็นที่ต้องมีก่อนเลี้ยงหนูแฮสมเตอร์
ก่อนที่เราจะเริ่มเลี้ยงเจ้าหนูจิ๋วแน่นอนว่าเราก็ต้องมีการเตรียมพร้อมในเรื่องของอุปกรณ์สำหรับการเลี้ยงแฮมสเตอร์ เพื่อที่จะได้ต้อนรักสมาชิกใหม่นั่นเอง แต่หลายๆคนคงคิดว่าน้องตัวเล็กจิ๋วขนาดนี้มีแค่กรงกับอาหารก็เพียงพอแล้ว แต่ความจริงแล้วน้องเป็นสัตว์นุ่มนิ่ม และมีนิสัยเฉพาะตัวที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษไม่ต่างจากสัตว์ชนิดอื่นๆเลยล่ะค่ะ อุปกรณ์ที่ทาสจำเป็นต้องมี มีอะไรกันบ้างมาดูกันค่า
กรงแฮมสเตอร์เตอร์
สิ่งจำเป็นที่หลายๆคนต้องนึกถึงเป็นอันดับแรกก่อนที่เราจะเริ่มเลี้ยงแฮมสเตอร์ ก็คือกรงนั่นเอง เพราะการเลี้ยงแฮมสเตอร์ควรเลี้ยงในพื้นที่ปิด ซึ่งการเลือกกรงสำหรับหนูแฮมสเตอร์ควรเลือกกรงที่มีพื้นที่ภายในกรงให้พอดีกับความต้องการของแฮมเตอร์ ไม่ใหญ่หรือไม่เล็กจนเกินไป มีพื้นที่เพียงพอสำหรับให้น้องวิ่งเล่น วางอาหาร วางน้ำ และล้อสำหรับออกกำลังกายแนะนำให้ใช้กรงแบบตู้กระจก ซึ่งเป็นกรงที่เหมาะกับหนูแฮมสเตอร์ทุกๆสายพันธุ์ที่สำคัญควรวางกรงไว้ให้อยู่ในบริเวณที่เงียบสงบ ปราศจากสัตว์เลี้ยงตัวอื่นๆ
รองพื้นกรงแฮมสเตอร์
การเลือกรองพื้นกรงแฮมสเตอร์ควรเลือกจากวัสดุที่ทำจากธรรมชาติเพราะเป็นมิตรและปลอดภัยต่อน้อง เช่น ซังข้าวโพด ก้านปอ ไม่แนะนำให้เอาขี้เลื่อยมาใช้รองพื้นกรงแฮมสเตอร์ เพราะมีฝุ่นเยอะและกลิ่นแรง และไม่ควรใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ เพราะมีหมึกที่เป็นสารเคมี หรือสำลี นุ่น เพราะน้องอาจจะเผลอกินเข้าไปได้นั่นเองค่ะ
แท่งไม้สำหรับแฮมสเตอร์
แท่งไม้สำหรับแทะหรือลับฟันแฮมสเตอร์ ถือเป็นอีกหนึ่งไอเท็มที่ต้องมีเช่นกันค่ะ เพื่อลับฟันน้องไม่ให้งอกยาวจนเกินไป ที่สำคัญควรเลือกใช้เป็นไม้ธรรมชาติเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยและสุขภาพในระยะยาวเป็นอีกหนึ่งไอเท็มที่จำเป็นต้องมีไม่ฉะนั้นน้องอาจจะแทะกรงของตัวเองได้น้า
ทรายอาบน้ำ
หลายๆคนคงอาจจะยังไม่รู้ว่าจริงๆแล้วหนูแฮมสเตอร์ไม่สามารถอาบน้ำแบบโดนน้ำได้ ดังนั้นจึงต้องคลุกทรายเพื่อทำความสะอาดแบบเฉพาะแทน และการเลือกทรายควรเลือกที่ผลิตจากวัสดุจากธรรมชาติ เพราะจะช่วยในการดูดซับกลิ่นได้ดี พร้อมทั้งยังช่วยบำรุงขนให้นุ่ม สวยพริ้ว ที่สำคัญควรเปลี่ยนทรายทุกๆ3วัน เพื่อลดการเกิดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์นะคะ และไม่แนะนำให้ใช้ทรายอาบน้ำปูรองพื้นด้วยเช่นกัน เพราะจะก่อให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจ และหมักหมม
กระบอกดื่มน้ำ
สำหรับกระบอกดื่มน้ำเป็นไอเท็มที่พบได้ทั่วไปเลยค่ะ ซึ่งแฮมสเตอร์เป็นสัตว์เลี้ยงที่มีระบบการเผาผลาญที่ดีมากๆเพราะน้องมักจะขี้ร้อน การมีกระบอกน้ำดื่มติดไว้จะช่วยให้น้องสามารถดื่มน้ำได้ตลอดทั้งวัน โดยไม่ทำให้เลอะขนและกรง
ของเล่นสำหรับแฮมสเตอร์
เจ้าของทุกคนอาจจะต้องใช้เวลาในการให้ความรักหรืออาจมีของเล่นให้เขาได้เล่นสนุกและเกิดความเพลิดเพลิน อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดความตึงเครียดไปได้เยอะเลยด้วยน้าเพราะน้องเป็นสัตว์ที่พลังเยอะ ต้องอาศัยการวิ่งเล่น การปีนป่าย หรือขุดโพลงเพื่อเป็นการระบายความเครียดนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็น วงล้อวิ่งที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปหรือในการ์ตูน ซึ่งเจ้าของเล่นชิ้นนี้ถือว่าเป็นของเล่นชิ้นโปรดและสำคัญมากที่สุดที่ควรจะมีติดไว้ภายในกรงอย่างน้อย 1 อันเลยก็ว่าได้ หรือจะเป็นของเล่นสำหรับการปีนป่ายและบ้านการปีนป่ายเป็นกิจกรรมอีกอย่างหนึ่งที่แฮมสเตอร์ชื่นชอบเอามากๆเลยล่ะค่ะ และสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุดของเล่นแบบขุดทรายการขุดทรายหรือขุดโพรงจะช่วยทำให้ขนของเขามีสุขภาพที่ดี สามารถเลือกซื้อได้ตามความชอบของน้องหนูแต่ละตัวได้เลยค่ะ
เคล็ดลับการเลี้ยงหนูแฮมเตอร์สำหรับมือใหม่
สำหรับมือใหม่หัดเลี้ยงที่กำลังจะต้อนรับสมาชิกใหม่เข้าบ้านคงจะมีความกังวลเกี่ยวกับการเลี้ยงน้องใช่ไหมล่ะค่ะ ความจริงแล้วไม่ยากอย่างที่คิดเลย วันนี้เราก็มีเคล็ดไม่ลับกับการเลี้ยงแฮมสเตอร์ยังไงให้น้องมีความสุขมาแบ่งปันให้กับทุกคนกันค่า มีดังต่อไปนี้เลย
การสร้างความคุ้นเคยระหว่างแฮมสเตอร์กับคุณ
เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญมากๆเลย ซึ่งเจ้าของควรหมั่นเล่นกับน้องบ่อยๆด้วยการอุ้มขึ้นมาไว้บนมือและสังเกตพฤติกรรมของเจ้าหนูแฮมเตอร์ว่าชอบอะไรไหรือม่ชอบอะไร ที่สำคัญถือเป็นการสร้างความคุ้นเคยกับน้องด้วยเพราะยิ่งน้องสนิทกันเรามากเท่าไหร่ การทำให้น้องมีความความสุขก็จะเป็นเรื่องง่ายไปเลยล่ะค่า
การจัดสภาพแวดล้อมหรือที่อยู่ให้เหมาะสม
เจ้าหนูแฮมเตอร์เป็นสัตว์ที่ค่อนข้างไวกับกับสภาพอากาศและเป็นสัตว์ที่ไวต้องต่อแสงและเสียงเอามากๆ หากอยู่ในที่เสียงดังรบกวนหรือมีแสงจ้าอาจทำให้น้องเกิดความเครียดได้ เนื่องจากหนูแฮมเสเตอร์เป็นสัตว์ที่มีอัตราการเต้นหัวใจที่เร็วกว่าสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ น้องสามารถตกใจหรือหวาดกลัวจนทำให้เกิดอาการช็อกบางครั้งอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยน้า ดังนั้นไม่ควรวางตำแหน่งของกรงให้อยู่ในจุดที่ร้อนหรือเย็นจัด ควรวางอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อความปลอดภัยของน้องน้า
การมีพื้นที่ให้น้องได้เล่นนอกกรง
อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น หนูแฮมสเตอร์เป็นสัตว์ที่มีเอเนอร์จี้เยอะ ถึงแม้จะเป็นสัตว์เลี้ยงที่เหมาะกับการเลี้ยงในระบบปิด แต่ในบางครั้งก็ควรมีการเปิดโอกาสให้น้องได้ออกมาเล่นนอกพื้นที่หรือบริบทอื่นๆดูบ้าง อย่างเช่น การพาน้องออกไปวิ่งเล่นสามารถช่วยให้น้องไม่เบื่อหรือเครียดจนเกินไปอีกทั้งยังเป็นการออกกำลังกายไปในตัวด้วยนั่นเองค่ะ
หมั่นทำความสะอาดกรงให้น้องเป็นประจำ
เรื่องของสุขอนามัยและความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญที่เจ้าของหรือคนเลี้ยงไม่ควรมองข้ามเป็นอันขาด เนื่องจากกรงที่น้องอาศัยอยู่เป็นแหล่งรวมของของเสีย อย่าง ปัสสาวะ อุจจาระ ดังนั้นต้องหมั่นสังเกตและดูแลในเรื่องความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ ควรมีการทำความสะอาดอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง แต่ก็ไม่ควรทำความสะอาดบ่อยๆ เพราะอาจทำให้น้องเกิดความเครียดได้
เตรียมอาหารที่ดีและมีประโยชน์
ในส่วนของอาหารการกินก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้ข้ออื่นๆ เนื่องจากอาหารที่ดีและมีประโยชน์จะช่วยส่งเสริมร่างกายน้องให้แข็งแรงมีสุขภาพที่ดี ดังนั้นควรดูแลให้น้องได้รับสารอาหารและโภชนาการที่ถูกต้องเหมาะสม โดยเจ้าของหรือคนเลี้ยงควรศึกษาหาข้อมูลว่าหนูแฮมสเตอร์สามารถกินอะไรได้บ้างและอาหารแบบไหนที่ดีและปลอดภัยสำหรับน้องค่ะ
โภชนาการสำหรับแฮมเตอร์
โภชนาการก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเจ้าหนูตัวน้อย เนื่องจากระบบเผาผลาญของน้องที่ค่อนข้างดีกว่าสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น การได้รับโภชนาการและสารอาหารที่ครบถ้วนจะช่วยให้น้องมีร่างกายแข็งสุขภาพดี อีกทั้งยังช่วยทำให้แฮมสเตอร์ของคุณมีอายุยืนอยู่กับคนเลี้ยงไปได้นานๆยังไงล่ะคะ ซึ่งโดยปกติแล้วน้องแฮมสเตอร์จะต้องการสามสิ่ง ได้แก่ อาหารแห้งหรืออาหารเม็ด ผักและผลไม้สด และโปรตีนเพียงเล็กน้อย โดยอาหารแห้งนั้นควรที่จะรวมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลักๆที่หลากหลาย ส่วนอาหารสดนั้นนับเป็นอาหารเสริมสำหรับแฮมสเตอร์ เพื่อให้แฮมสเตอร์ ได้รับสารอาหารมากขึ้น
อาหารที่ควรให้และไม่ควรให้แฮมเตอร์
อาหารที่ดีและปลอดภัยที่สุดคืออาหารแห้งหรืออาหารเม็ด ผักและผลไม้สด และโปรตีนเพียงเล็กน้อยสำหรับแฮมเตอร์นอกจากการให้อาหารแห้งหรืออาหารเม็ดเฉพาะของหนูแฮมเตอร์แล้วการให้อาหารสดแก่น้องหนูแฮมสเตอร์ถือเป็นการสร้างสมดุลของสารอาหารให้กับน้องแฮมสเตอร์ แต่ต้องจำกัดไม่ให้เกิน 10% ของอาหารแฮมสเตอร์ ในกรณีที่น้องแฮมสเตอร์ไม่ยอมกินอาหารเม็ด เราสามารถนำอาหารสดผสมหรือโรยลงไปบนอาหารเม็ดของน้องหนูแฮมสเตอร์ได้ หรือการฝึกน้องหนูแฮมสเตอรให้เชื่องก็สามารถนำอาหารสดมาให้น้องหนูแฮมสเตอร์เป็นของรางวัลได้อีกด้วย ส่วนอาหารสดนั้นนับเป็นอาหารเสริมสำหรับแฮมสเตอร์ เพื่อให้แฮมสเตอร์ ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น
อาหารที่ไม่ควรให้ แมล็ดแอปเปิ้ล อัลมอนด์ มันฝรั่งดิบ ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว กระเทียม ห้วหอม ช็อกโกแลต อาหารที่มีรสหวาน อาหารรสเค็ม อาหารขยะ ที่สำคัญสิ่งที่ควรระวังก็คือในเรื่องของการให้อาหารสดไม่ควรที่จะมีรสชาติหวานจนเกินไป เพราะว่าน้องหนูแฮมสเตอร์นั้นเป็นหนูแฮมเตอร์สายพันธุ์แคระทำให้มีแนวโน้มที่จะเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานสูง จึงควรระมัดระวังเรื่องอาหารสดที่มีรสชาติหวานหรือมีปริมาณน้ำตาลสูง
ใครเหมาะที่จะเลี้ยงแอมสเตอร์บ้าง?
แฮมสเตอร์เป็นสัตว์ที่ชอบนอนกลางวันและชอบตื่นตอนกลางคืน น้องจึงมักจะมีกิจกรรมต่างๆในตอนกลางคืนเสมอ อย่างเช่น กิน หรือวิ่งเล่น ซึ่งอาจจะส่งเสียงดังรบกวนได้ไม่เหมาะกับบ้านที่มีเด็กเล็กเพราะอาจทำให้เด็กไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ แถมยังชอบงับเจ้าของด้วย หนูแฮมสเตอร์เป็นสัตว์ที่เหมาะกับการเลี้ยงในสถานที่ปิดและที่สำคัญเหมาะกับคนที่ไม่ค่อยมีเวลา เป็นสัตว์ที่ดูแลไม่ยาก เลี้ยงง่าย แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจควรใส่ใจดูแลน้องเหมือนคนในครอบครัวน้า
โรคที่หนูแฮมเตอร์มีความเสี่ยงสูง
โรคขนร่วง
โรคขนร่วงเป็นโรคที่มีสาเหตุมาจาก กรงไม่สะอาด อากาศร้อน อับชื้น หรือเกิดจากมีอายุมากหรือเครียด แต่สามารถการป้องกันและดูแลรักษาโดยการแยกเลี้ยงแฮมสเตอร์ วึ่งจะช่วยลดปัญญาการขนร่วงที่เกิดจากการต่อสู้กันได้ ที่สำคัญหมั่นทำความสะอาดกรงและทำให้สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยสะอาดอยู่เสมอ เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคและแบคทีเรีย
โรคหางเปียก
เกิดจากอาหารเป็นพิษ บวกกับอากาศร้อน และความไม่สะอาดหรือความเครียดสะสม โดยจะมีอาการเริ่มจากท้องเสียจนมีอาการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และทำให้หนูขาดน้ำและเสียชีวิตในที่สุด
โรคเนื้องอก
โรคเนื้องอกถือเป็นโรคที่อันตรายและร้ายแรงมาก ซึ่งหนูแฮมสเตอร์ตัวไหนที่เป็นโรคนี้ต้องไปพบสัตวแพทย์เท่านั้นค่ะ ไม่ฉะนั้นน้องอาจเสียชีวิตได้ เป็นโรคที่เกิดกับหนูแฮมสเตอร์ที่มีอายุมาก หรือมีลูกบ่อยหลายคอกติดๆจนเกินไป อาการของโรคนี้คือ จะมีก้องแข็งๆเป็นก้อนกลมๆอยู่ที่ใต้ท้อง โคนขา หรือตรงนม โดยก้อนเนื้อที่โผล่มาสามารถเห็นได้ชัด
โรคขี้เรื้อน
โรคขี้เรื้อนเป็นโรคที่มีอาการคล้ายกับการเป็นรังแค เหมือนหนังที่แห้งและลอกออกเป็นแผ่นๆ เกิดจากอากาศร้อน กรงไม่สะอาดหรือสภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ ซึ่งจะพบได้ในหนูที่มีอายุน้อยๆประมาณ2อาทิตย์กว่าๆขึ้นไป
4 จุดสังเกต แฮมสเตอร์ป่วย
ทางเดินหายใจ
โดยน้องแฮมสเตอร์จะมีอาการ มีน้ำมูก ตาแฉะ หอบ หายใจถี่ หายใจลำบาก อ้าปากหายใจ หายใจเสียงดัง
ฟันและช่องปาก
อาการที่พบได้บ่อยเลยก็คือ คางเปียก กินอาหารลำบาก ฟันยาว หากฟันยาวมากอาจทิ่มช่องปากทำให้เกิดแผลและอาการติดเชื้อร่วมด้วย ในบางกรณีน้องหนูแฮมสเตอร์อาจน้ำหนักตัวลดลง ผอม และอาจมีโรคแทรกซ้อนต่างๆตามมาได้
ทางเดินอาหาร
ปัญหาและอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารที่มักพบเจอ ได้แก่ หางเปียกตลอดเวลาถ่ายเหลว อุจจาระเพิ่มขึ้น อุจจาระส่งกลิ่นเหม็นผิดปกติ ซึ่งเป็นอาการที่บ่งบอกว่าเป็นโรคหางเปียกนั่นเอง ดังนั่นเมื่อคุณพบว่าเจ้าหนูแฮมสเตอร์มีอาการเหล่านี้ ให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์โดยทันที
ขนและผิวหนัง
ปัญหาที่เกิดเกี่ยวกับโรคผิวหนังและขนในหนูแฮมสเตอร์ จะพบว่ามีอาการดังต่อ ไปนี้ค่ะ น้องมักจะมีอาการคัน เกา ขนร่วง ผิวหนังอักเสบ แดง เปียกและอับชื้นโดยเฉพาะบริเวณใต้ท้องของแฮมสเตอร์ ชอบนอนทับหรือนอนจมของอุจจาระ หนูแฮมสเตอร์ที่มีอาการป่วยจะไม่ค่อยมีการแต่งตัว หรือชอบนอนทับปัสสาวะในช่วงอากาศร้อนและพบว่าจะมีปัญหาสุขภาพตามมาในที่สุดค่ะ
สิ่งที่ต้องระมัดระวังเกี่ยวกับหนูแฮมสเตอร์
แฮมเตอร์เป็นสัตว์เลี้ยงที่เบื่อง่ายและชอบกัดกรง เพื่อป้องกันพฤติกรรมเหล่านี้ ควรจะมีการเล่นกับน้องบ้างหรืออาจเปลี่ยนตำแหน่งกรงเป็นครั้งคราว ในกรณีที่แฮมเตอร์มีอาการเครียด อย่างเช่น นอนหลับมากผิดปกติ ไม่ออกกำลังกาย หรืออื่น ๆ ให้ปรับทุกอย่างเข้าที่เดิม หากจำไม่ได้ก็ควรถ่ายรูปเอาไว้เป็นตัวอย่างก่อนเคลื่อนย้าย แฮมเตอร์เป็นสัตว์เลี้ยงที่ไม่เชื่องกับการโดนเลี้ยงดูมากนัก ต้องอาศัยความอดทนและเวลาให้แฮมเตอร์ทำความคุ้นเคยกับเจ้าของ
คำถามที่พบบ่อย
Q: หนูแฮมสเตอร์มีอายุเท่าไหร่?
A: หนูแฮมสเตอร์สามารถมีอายุขัยได้นานถึง 3 ปีหรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับสุขภาพและการเลี้ยงดูของเจ้าของด้วย อายุขัยโดยเฉลี่ยของหนูแฮมสเตอร์จะอยู่ราว ๆ 2 – 3 ปี หนูขนาดใหญ่จะมีอายุยืนกว่าเล็กน้อยแม้อายุของหนูแฮมสเตอร์อาจดูสั้นไปนิดเมื่อเทียบกับสัตว์ใหญ่อย่างสุนัขหรือแมว แต่ก็นับว่ามากแล้วสำหรับสัตว์ตัวเล็ก ๆ
Q: ควรเลี้ยงเพศผู้หรือเพศเมีย?
A: สำหรับหนูแฮมสเตอร์สามารถเลี้ยงได้ทั้งสองเพศค่ะ นิสัยไม่ค่อยต่างกัน ความเชื่องขึ้นอยู่กับการจับเล่น
Q: เพิ่งรับมาช่วงแรกทำไมน้องถึงนอนทั้งวัน ไม่กินอาหารไม่กินน้ำ?
A: เนื่องจากน้องยังไม่ชินกับกรงค่ะ เป็นอาการที่พบได้โดยปกติทั่วไปเลย แนะนำว่าให้ลองปล่อยให้น้องอยู่ในกรงซัก1-2วัน เค้าจะเริ่มชินและกินน้ำ อาหาร ส่วนมากเค้าจะกินตอนเราไม่อยู่ค่ะ
Q: แฮมเตอร์สามารถฝึกเข้าห้องน้ำได้ไหม?
A: จริงๆแล้วแฮมสเตอร์ไม่สามารถฝึกเข้าห้องน้ำได้ค่ะ น้องจะอึ ฉี่ ทั่วกรงเพื่อแสดงอาณาเขตของน้องค่ะ สามารถใช้เป็นทรายอาบน้ำแทนได้ โดยบางตัวจะเข้าไปฉี่ ส่วนบางตัวจะเข้าไปคลุกทำความสะอาด
Q: สามารถใช้ทรายรองกรงเลยได้ไหม?
A: สำหรับสายพันธุ์แคระไม่แนะนำให้ใช้ทรายอาบน้ำปูรองพื้น เพราะจะก่อให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจ และหมักหมม หรืออย่างน้อยควรจะมีกระดาษสำหรับให้น้องทำรังหรือรองกระดาษให้เขาได้สามารถคาบไปทำรังได้ด้วย แต่ถ้าเป็นสายพันธุ์ไจแอนท์ควรที่จะรองกรงด้วยกระดาษ เพราะทรายอาจจะเข้าตาได้หากไม่ระวัง ควรกั้นโซนสำหรับห้องน้ำเฉพาะเวลาเค้าทำความสะอาดตัวดีกว่าค่ะ
Q: หากต้องไปต่างจังหวัด สามารถทิ้งน้องไว้ตามลำพังได้ไหม?
A: ถ้าหากเจ้าของหรือคนเลี้ยงไม่อยู่ เป็นเวลา4-5วัน สามารถทิ้งน้องไว้ในกรงได้ค่ะ โดยการทิ้งน้ำและอาหารให้พอดีกับวันที่จะไม่อยู่ และต้องแน่ใจว่าจะไม่มีมดขึ้นกรงหรือสัตว์นักล่าตัวอื่นๆเข้ามาทำร้ายน้อง แนะนำให้ติดตั้งกล้องไว้เพื่อดูสัตว์เลี้ยง เพื่อความปลอดภัย แต่ถ้าให้แน่ใจว่าปลอดภัยจริงๆแบบหายห่วงเลยล่ะก็แนะนำให้พาไปฝากเลี้ยงค่ะจะดีที่สุดค่ะ
Q: การเลี้ยงน้องในห้องนอนจะมีเชื้อโรคสิ่งสกปรกไหม จะทำให้เป็นภูมิแพ้หรือไม่?
A: ถ้าหากเพิ่งรับน้องมาจากแหล่งที่เลี้ยงน้องรวมกัน แนะนำว่าควรมีการกักตัวน้องก่อนซัก2-3วันและเฝ้าดูอาการว่าน้องมีอาการป่วยหรือมีตัวไรขนไหม ยังไม่แนะนำให้นำไปเลี้ยงในห้องนอนควรมีการสังเกตเฝ้าอาการก่อน และเป็นการป้องกันโรคโคโรน่าไวรัสหรือCovid-19 ไปในตัวด้วยค่ะ หากหนูแฮมสเตอร์มีอาการป่วยจะแสดงอาการภายใน3-5วันหรืออาจะเร็วกว่านั้นค่ะ ถ้าหากพ้นช่วงกักตัวไปแล้วน้องไม่มีอาการอะไรสามารถนำน้องมาเลี้ยงในห้องนอนได้ค่ะ แต่สำหรับใครที่เป็นโรคภูมิแพ้ก็ไม่แนะนำนะคะ เพราะบางคนอาจเป็นภูมิแพ้หนัก และน้องแฮมสเตอร์ก็มีการผลัดขนทุกวัน จึงไม่แนะนำให้นำมาเลี้ยงบนเตียงหรือที่นอนนั่นเองค่ะ
Q: เลี้ยงหนูแฮมสเตอร์ต้องเปิดแอร์ให้น้องไหม?
A: ไม่จำเป็นค่ะ ควรเลี้ยงน้องไว้ในอากาศที่มีความพอดีไม่ร้อนหรือไม่หนาวจนเกินไป เพราะการให้น้องอยู่ห้องแอร์นานๆก็อาจจะทำให้น้องช็อกได้เหมือนกัน ควรตั้งกรงในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก เพราะน้องเป็นสัตว์ที่มีความตอบสนองไวต่อสภาพอากาศมากค่ะ
Q: เลี้ยงหนูแฮมสเตอร์แล้วมดชอบขึ้นกรง มีวิธีป้องกันอย่างไร?
A: สำหรับใครที่กำลังเจอปัญหามดขึ้นกรง แนะนำให้โรยแป้งเอาไว้รอบๆกรงค่ะ หรือ วางกรงบนชั้นวางโต๊ะแล้วหล่อน้ำที่ขาโต๊ะ หรือนำสำลีชุบน้ำส้มสายชูมาเช็ดบริเวณพื้นที่รอบๆกรง หลังจากนั้นปล่อยให้แห้งโดยไม่ต้องล้างหรือเช็ดออก แนะนำว่าให้ทำทุกๆอาทิตย์ ถ้าหากมดยังตามมาขึ้นอยู่ให้โรยแป้งทับบริเวณที่เคยเช็ดน้ำส้มสายชูหรืออาจจะซื้อแผ่นกันมดติดบ้านไว้ก็จะดีมากค่ะ
ถึงแม้แฮมสเตอร์จะเป็นหนูตัวจิ๋วที่สุดแสนจะเลี้ยงง่าย แต่เจ้าหนูแฮมสเตอร์ก็ต้องการการดูแลที่เอาใจใส่เป็นพิเศษไม่ต่างจากสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆด้วยเช่นกัน ดังนั้นผู้เลี้ยงหรือเจ้าของที่มีความประสงค์ต้องการที่จะเลี้ยงน้องจริงๆ ควรมีการเตรียมพร้อมและศึกษารายละเอียดข้อมูลหรือทำการบ้านเกี่ยวกับน้องให้ได้มากที่สุด หรือสามารถเข้ามาอ่านข้อมูลและเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงแฮมสเตอร์ ได้ที่ Petplaese นะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
- มาทำความรู้จัก “หนูแฮมสเตอร์”สัตว์เลี้ยงสุดจิ๋วกัน
- หนูแฮมเตอร์มีกี่สายพันธุ์กันนะ
- อุปกรณ์จำเป็นที่ต้องมีก่อนเลี้ยงหนูแฮสมเตอร์
- โภชนาการสำหรับแฮมเตอร์
- เคล็ดลับการเลี้ยงหนูแฮมเตอร์สำหรับมือใหม่
- โรคที่หนูแฮมเตอร์มีความเสี่ยงสูง
- 4จุดสังเกต แฮมสเตอร์ป่วย
AUTHOR: AEOHHH
2023, JAN 20