วันนี้ทาง PetPlease จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับกิ้งก่าคาเมเลี่ยนสัตว์เลื้อยคลานที่มีรูปร่างและลักษณะเฉพาะตัว ถึงแม้ว่าจะเป็นสัตว์เลื้อยคลานแต่ก็มีความโดดเด่นที่แตกต่างจากสัตว์เลื้อยคลานอื่น ๆ ว่าแต่มันจะคืออะไรนั้น เรามาดูกันไปพร้อมกันเลย!
บทความนี้ขอนำเสนอ
- ประวัติ และความเป็นมาของกิ้งก่าคาเมเลี่ยน
- ลักษณะของกิ้งก่าคาเมเลี่ยน
- ข้อควรรู้ก่อนเลี้ยงกิ้งก่าคาเมเลี่ยน
- อาหารของกิ้งก่าคาเมเลี่ยน
- พฤติกรรม และการวางไข่ของกิ้งก่าคาเมเลี่ยน
- โรคที่อาจพบได้ในกิ้งก่าคาเมเลี่ยน
ประวัติ และความเป็นมาของกิ้งก่าคาเมเลี่ยน
กิ้งก่าคาเมี่ยนเป็นสัตว์เลื้อยคลานในวงศ์สัตว์เลื้อยคลานจำพวกกิ้งก่า ซึ่งสืบตระกูลกันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ณ เกาะมาดากัสการ์ ซึ่งปัจจุบันสามารถพบได้โดยทั่วไปในทวีปยุโรปตอนใต้ เอเชีย และรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยปกติแล้วพวกเขาจะอาศัยตามธรรมชาติ อ้างอิงจากถิ่นอาศัยที่แตกต่าง ทำให้ลักษณะภายนอกแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมนั้น ๆ เช่น กิ้งก่าคาเมเลี่ยนที่อาศัยอยู่ในทะเลทรายซาฮาร่า จะแตกต่างกับกิ้งก่าคาเมเลี่ยนที่อาศัยอยู่ในทุ่งหญ้าบนภูเขา ด้วยปัจจัยนี่เองทำให้พวกเขามีหลากหลายสายพันธุ์
ลักษณะของกิ้งก่าคาเมเลี่ยน
ปัจจัยเรื่องถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นเหตุผลว่าทำไมกิ้งก่าคาเมเลี่ยนจึงลักษณะ และสายพันธุ์ที่หลากหลาย อย่างไรก็ตามกิ้งก่าคาเมเลี่ยนก็มีลักษณะทางกายภาพ และลักษณะนิสัยร่วมกัน ดังนี้
ลักษณะทางกายภาพของกิ้งก่าคาเมเลี่ยน
- ผิวหนัง
ผิวหนังของกิ้งก่าคาเมเลี่ยนนั้นมีความพิเศษตรงที่สามารถเปลี่ยนสีตามอารมณ์ได้ ซึ่งกลายเป็นจุดเด่น และเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาแตกต่างไปจากสัตว์เลื้อยคลานอื่น ๆ จนกลายเป็นที่นิยมสำหรับผู้เลี้ยงสัตว์ Exotic นั่นก็เป็นเพราะว่าลักษณะพิเศษของชั้นผิวหนัง และเม็ดสีผิวหนังชั้นนอกไวต่อแสง และความร้อน อีกทั้งผิวหนังชั้นในไวต่อสารเคมี ทำให้เซลล์ชั้นผิวหนังทำการหด และขยายตัว จนเกิดเป็นสีต่าง ๆ ตามอารมณ์ที่เกิดขึ้น
- ดวงตา
คาเมเลี่ยนนั้นมีดวงตากลมใหญ่ นูนออกมา ด้วยขนาดของเปลือกตาที่หนา และใหญ่ไม่แพ้กันทำให้เปลือกตาบดบังดวงตา จึงทำให้ดูว่าดวงตานั้นมีขนาดเล็ก แต่จริง ๆ แล้วนั้นความสามารถในการมองเห็นของกิ้งก่าคาเมเลี่ยนก็ดีไม่แพ้ใคร เพราะพวกเขาสามารถมองเห็นได้รอบทิศทางในรัศมีความกว้างถึง 360 องศา เราสามารถสังเกตสุขภาพที่แย่ลงได้จากตาของพวกเขาอีกด้วย หากดวงตาของพวกเขาลึกลงไปนั้นหมายความว่าเกิดภาวะขาดน้ำ หรืออาจจะใกล้เสียชีวิต หากเราสังเกตได้ทันเวลา เราก็สามารถแก้ปัญหาได้โดยการเสริมสร้างวิตามิน แร่ธาตุ และเพิ่มปริมาณน้ำ
- หาง
โดยปกติแล้วเหล่ากิ้งก่าคาเมเลี่ยนจะใช้หางในการเกาะต้นไม้ โดยการม้วนหาง หากเราจับยืดออกมา เราจะพบว่าหางของพวกเขามีความยาวมากกว่าลำตัว ซึ่งมีประสิทธิภาพในการยึดเกาะได้เป็นอย่างดี ขนาดที่ว่าใช้แทนขาได้เลย พวกเขาสามารถใช้ห้อยตัวลงมาโดยใช้เพียงแค่หาง เพื่อตวัดแมลงต่าง ๆ เข้าปากได้โดยไม่ร่วงลงพื้นเลยทีเดียว
- เท้า
ลักษณะเท้าของพวกกิ้งก่าคาเมเลี่ยนมีเอกลักษณ์เป็นอย่างมาก เพราะจะมีทั้งหมด 5 นิ้ว โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ง่าม ฝั่งละ 2 นิ้ว และ 3 นิ้ว มีไว้เพื่อทรงตัวบนต้นไม้ให้มั่นคง โดยการหนีบกิ่งไม้เอาไว้
- ลิ้น
ความยาวของลิ้นกิ้งก่าคาเมเลี่ยนนั้นมีความยาวเท่ากับความยาวของลำตัว มีประโยชน์สำหรับการดักจับแมลงที่เป็นอาหารของพวกเขา รวมถึงยังมีสารเหนียวตรงบริเวณปลายลิ้น ลักษณะเป็นท่อกลม ๆ ทำให้แมลงไม่สามารถรอดพ้นจากพวกเขาได้
ลักษณะนิสัยของกิ้งก่าคาเมเลี่ยน
ดูเหมือนว่ากิ้งก่าคาเมเลี่ยนนั้นจะเป็นสัตว์ที่ไม่ชอบเข้าสังคมเท่าไหร่นัก เพราะพวกเขาไม่ชอบที่จะถูกรบกวน ไม่ว่าใครก็ตาม พวกเขามีการเคลื่อนไหวที่ช้า เมื่อมีผู้รุกรานอาณาเขตจะทำให้เปลี่ยนสีตัวเอง เพื่อพรางตัว กิ้งก่าคาเมเลี่ยนเป็นสัตว์ที่เกิดความเครียดได้ง่าย ดังนั้นการไปจับ หรือเล่นกับพวกเขาบ่อย ๆ นั้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเท่าไหร่นัก ผู้เลี้ยงส่วนใหญ่จึงนิยมเลี้ยงไว้เพื่อความสวยงาม เพื่อชื่นชมศิลปะบนเรือนร่างของพวกเขาเท่านั้น
สายพันธุ์ของกิ้งก่าคาเมเลี่ยน
อย่างที่เราทราบกันเบื้องต้นแล้วว่า สายพันธุ์ของกิ้งก่าคาเมเลี่ยนั้นมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับถิ่นที่อยู่อาศัย โดยสามารถแบ่งออกได้ ดังนี้
- Veiled Chameleon
สีของคาเมเลี่ยนสายพันธุ์นี้จะมีสีเขียวสดใส โดยปกติแล้วจะมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 5 ปี ตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียถึง 4 – 11 นิ้ว โดยจะเริ่มต้นที่ 14 – 24 นิ้วเลยทีเดียว
- Jackson’s Chameleon
สีของคาเมเลี่ยนสายพันธุ์นี้จะมีสีเขียว หรือสีสดใส อายุขัยโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 5-10 ปี ตัวผู้มีขนาด 9 – 13 นิ้ว และตัวเมียจะมีขนาดตัวอยู่ที่ 10 – 13 นิ้ว
- Panther Chameleon
ขนาดตัวของกิ้งก่าคาเมเลี่ยนสายพันธุ์นี้จะอยู่ที่ 15 – 21 นิ้ว แต่ตัวเมียจะมีขนาดอยู่ที่ 9 -13 นิ้ว โดยจะมีสีของผิวหนังที่เข้ม และมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 5 ปี
- Bearded Pygmy Chameleon
ขนาดตัวของกิ้งกาคาเมเลี่ยนสายพันธุ์นี้จะค่อนข้างเล็ก โดยจะมีขนาดตัวอยู่ที่ 2 – 3 นิ้วทั้ตัวผู้ และตัวเมีย อีกทั้งยังสามารถพบได้หลายสี เช่น สีน้ำตาลเข้ม สีเบจ สีเขียว มีอายุเฉลี่ยที่ 5 ปี
- Spectral Pygmy Chameleon
กิ้งก่าคาเมเลี่ยนสายพันธุ์นี้ก็มีขนาดเล็กเช่นเดียวกัน โดยจะมีขนาดตัวอยู่ที่ 3 – 4 นิ้วทั้งตัวผู้ และ ตัวเมีย อีกทั้งยังมีสีแทน และเทาตามลำตัว
- Pygmy Chameleon
ตัวผู้จะมีขนาดอยู่ที่ 2.5 – 4 นิ้ว ส่วนตัวเมียจะมีขนาดเล็กลงมาเพียงเล็กน้อย โดยจะอยู่ที่ 2 – 3.5 นิ้ว และจะมีสีเทา และน้ำตาลตามลำตัว
ข้อควรรู้ก่อนเลี้ยงกิ้งก่าคาเมเลี่ยน
ก่อนที่เราจะตัดสินใจเลือกซื้อกิ้งก่าคาเมเลี่ยนมาเลี้ยงไว้ที่บ้าน เราควรที่จะศึกษาข้อมูลทุกอย่างให้ครอบคลุม เนื่องจากกิ้งก่าคาเมเลี่ยนเป็นสัตว์ประเภท Exotic การกิน การนอน หรือการใช้ชีวิตจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากละเลยสิ่งเหล่านี้ก็อาจทำให้สัตว์เลี้ยงป่วยจนเสียชีวิตได้
สภาพแวดล้อม และถิ่นที่อยู่ของกิ้งก่าคาเมเลี่ยน
สภาพแวดล้อม และถิ่นที่อยู่ถือเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับเจ้ากิ้งก่าคาเมเลี่ยน อย่างที่เราทราบกันดีแล้วว่าผิวหนังของพวกเขาไวต่ออุณหภูมิ และสารเคมี ดังนั้นเราจำเป็นต้องเตรียมพร้อมสภาพแวดล้อม และถิ่นที่อยู่ให้พร้อมก่อนที่จะรับเลี้ยงพวกเขามา
- ต้นไม้
ต้นไม้เป็นบ้านของเจ้ากิ้งก่าคาเมเลี่ยน เราจำเป็นต้องเลือกต้นที่ขนาดไม่ใหญ่มาก โดยเลือกให้เหมาะสมกับขนาดตัวของพวกเขา หากเป็นต้นไม้ที่มีกิ่งเยอะ ๆ จะดีมาก เพราะจะได้มีพื้นที่สำหรับเดินได้สะดวก
- แสงสว่าง
แสงแดดจำเป็นต่อกิ้งก่าคาเมเลี่ยนเป็นอย่างมาก โดยธรรมชาติแล้วพวกเขาจะชื่นชอบการอาบแดด ซึ่งเป็นสิ่งที่สัตว์เลื้อยคลานทุกชนิดชื่นชอบ เนื่องจากในแสงแดดนั้นมีรังสีอุลตราไวโอเลทที่สามารถสังเคราะห์แคลเซียม ซึ่งช่วยในเรื่องสุขภาพที่แข็งแรงอีกด้วย
- อุณหภูมิที่เหมาะสม
การควบคุมอุณหภูมินั้นจำเป็นต้องตอบโจทย์ความต้องการของกิ้งก่าคาเมเลี่ยนในแต่ละสายพันธุ์ เนื่องจากมีถิ่นอาศัยที่แตกต่างกันไป ทำให้อุณหภูมิที่ต้องการนั้นแตกต่างไปด้วย อย่างเช่น พันธุ์แพนเทอร์ และเวลล์ ต้องการอากาศที่ร้อน ส่วนพันธุ์แจ็คสัน และคาร์เพทต้องการอุณหภูมิเย็นจัด
- ระดับความชื้น
เรื่องความชื้นเองก็สำคัญไม่แพ้กับอุณหภูมิ เพราะจำเป็นต้องรักษาระดับความชื้นให้เหมาะสมกับแต่ละสายพันธุ์ โดยปกติแล้วพวกเขาต้องการระดับความชื้นประมาณ 50 – 90 % ซึ่งความชื้นก็มาจากน้ำที่เราให้พวกเขานั่นเอง การติตตั้งระบบน้ำ หรือสเปรย์น้ำให้เป็นประจำจะเป็นตัวเพิ่มระดับความชื้นได้ดี สำหรับสายพันธุ์ที่ต้องการความชื้นสูงเป็นพิเศษ แนะนำให้มีแอ่งน้ำไว้ด้านล่างของกรง หากเลียนแบบธรรมชาติได้จะเป็นเรื่องที่ดีมาก จากนั้นให้ใช้สายอากาศจากเครื่องปั้มลมขนาดเล็กลงไปยังแอ่งน้ำ เพื่อเพิ่มความชื้นให้มากขึ้น รวมถึงการใช้มอส และหญ้าตกแต่งให้ทั่วพื้นดิน ก็สามารถเพิ่มระดับความชื้นได้เช่นกัน
- การระบายอากาศ
การจัดกรงให้มีพื้นที่สำหรับอากาศถ่ายเทเป็นเรื่องจำเป็น เพราะสามารถป้องกันเชื้อโรคที่อาจเกิดภายในกรงได้ หากกรงไม่มีพื้นที่สำหรับถ่ายเทอากาศ ก็จะส่งผลให้เกิดเชื้อโรคเต็มไปทั่วกรง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีเท่าไหร่นัก
การสื่อสารของกิ้งก่าคาเมเลี่ยน
กิ้งก่าคาเมเลี่ยนจะสื่อสารกันผ่านผิวหนัง ผิวหนังของพวกเขาไม่เพียงมีไว้เพื่อพรางตัวเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้เพื่อสื่อสารระหว่างกันได้อีกด้วย โดยสามารถรับรู้กันได้ผ่านการสั่นสะเทือนของเสียงในขอบข่ายแคบ ๆ ได้ จาก 200 เฮิร์ตซ์จนถึง 600 เฮิร์ตซ์ ขึ้นอยู่กับแต่ละสายพันธุ์ ซึ่งเป็นการสื่อสารแบบเดียวกับของจระเข้ แต่เป็นระดับเสียงที่มนุษย์เราไม่สามารถได้ยิน เนื่องด้วยเป็นการสั่นสะเทือนที่ต่ำมาก ๆ
การลดความเครียดให้กับกิ้งก่าคาเมเลี่ยน
ความเครียดกับกิ้งก่าคาเมเลี่ยนเป็นของคู่กัน เนื่องจากเป็นสัตว์รักสันโดษ ไม่ชอบให้ใครมายุ่งด้วย ดังนั้นสภาพแวดล้อมจึงเป็นสาเหตุหลักของความเครียดที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นประจำ ดังนั้นเราควรพิจารณาให้กรงอยู่ห่างจากความวุ่นวาย ควรเลือกที่บรรยากาศเงียบสงบ ถอดแบบมาจากป่าไม้ออกมาได้ให้มากที่สุด เพื่อลดความกังวล หรือความเครียด อีกทั้งยังยังควรจัดให้เจ้ากิ้งก่านั้นอยู่ตัวเดียว ไม่อยู่ร่วมกับตัวอื่น ๆ รวมถึงไม่จับกิ้งก่าคาเมเลี่ยนมาเล่นบ่อย ๆ โดยไม่จำเป็น สิ่งเหล่านี้สามารถลดความเครียดให้กับพวกเขาได้เป็นอย่างดี
การพรางตัวของกิ้งก่าคาเมเลี่ยน
มาถึงสิ่งที่ทุกคนอยากจะรู้มากที่สุดนั่นก็คือการพรางตัวของกิ้งก่าคาเมเลี่ยน พวกเขาสามารถพรางตัวได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยสายตาที่หลักแหลม เมื่อไหร่ก็ตามที่มีภัยอันตราย หรือนักล่าที่คอยจะกินพวกเขาเป็นอาหาร เพียงแค่ใช้ทักษาะการพรางตัวอันยอดเยี่ยมนี้ก็สามารถรอดได้อย่างสบาย ๆ
- วิธีการพรางตัวของคาเมเลี่ยน
กิ้งก่าคาเมเลี่ยนจะพรางตัว โดยให้มีสีของผิวหนังที่ใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อมที่ใกล้ตัวมากที่สุด อีกทั้งยังเลียนแบบการเคลื่อนไหวให้เข้ากับสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวด้วยเช่นกัน อาทิ การเคลื่อนไหวที่คล้ายคลึงกับสายลม พวกเขาจเคลื่อนไหวต้องเองให้พริ้วไหวดั่งใบไม้ที่ถูกลมพัด
อาหารของกิ้งก่าคาเมเลี่ยน
มาถึงการให้อาหารกันแล้ว เชื่อว่าหลาย ๆ คนเองก็สงสัยว่าเหล่ากิ้งก่าคาเมเลี่ยนนั้นสามารถกินอะไรได้บ้าง อาหารหลักของพวกเขาโดยส่วนใหญ่จะเป็นพวกแมลง ได้แก่ จิ้งหรีด ตั๊กแตน แมลงหวี่ แมลงวัน ผีเสื้อ และหนอนต่าง ๆ ที่หาได้ตามธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันก็สามารถหาได้ตามฟาร์มเพาะอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ เพื่อตอบโจทย์ความสะดวกสบายให้กับเจ้าของ และตอบโจทย์คุณค่าทางโภชนาการของเหล่าสัตว์เลี้ยง หาซื้อได้ง่ายทั่ว ๆ ไป ไม่เพียงเท่านั้นเหล่ากิ้งก่าคาเมเลี่ยนยังสามารถกินผัก และผลไม้ที่มีประโยชน์ได้อีกด้วย เช่น ส้ม กะหล่ำปี ผักใบเขียวทุกชนิด และแตงกวา ซึ่งเราต้องหั่นเป็นชิ้นเล็กพอดีคำคู่กับเหล่าแมลงที่เสิร์ฟเป็นอาหาร เพื่อเสริมสร้างวิตามินให้กับร่างกายได้อย่างเต็มที่มากขึ้น
การให้น้ำที่ถูกต้อง
การให้น้ำกับกิ้งก่าคาเมเลี่ยนนั้นจะแตกต่างกับการให้น้ำสัตว์เลี้ยงทั่วไป เราไม่สามารถให้น้ำโดยการใส่ถ้วยได้ เพราะพวกเขาจะไม่กินน้ำจากถ้วย หรือแอ่งน้ำเป็นอันขาด วิธีการให้น้ำพวกเขาแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ
- การสเปรย์น้ำ สำหรับการสเปรย์น้ำนั้นจะทำการสเปรย์วันละ 2 ครั้ง ทั่วไปลงบริเวณต้นไม้ ซึ่งเป็นวิธีที่ประหยัด และง่ายที่สุด เหมาะสำหรับผู้เลี้ยงที่มีเวลา
- การติดตั้งระบบน้ำ การติดตั้งระบบน้ำเป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้เลี้ยงที่ไม่ค่อยมีเวลาสเปรย์น้ำเป็นประจำ ซึ่งปล่อยน้ำอย่างเป็นระบบ และเป็นเวลา คุ้มค่าในระยะยาว แต่ค่าใช้จ่ายก็เยอะเช่นเดียวกัน
วิตามิน และแคลเซียมเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
เราสามารถหาซื้อวิตามิน และแคลเซียมได้ตามร้านขายสัตว์เลื้อยคลาน โดยให้คู่กับอาหารเป็นประจำทุกวัน เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับกิ้งก่าคาเมเลี่ยน รวมถึงวิตามินชนิดน้ำก็สามารถให้ได้เช่นกัน ซึ่งสามารถหาซื้อได้ทั่วไป แต่ต้องเลือกวิตามินรวมที่ใช้สำหรับเด็กโดยเฉพาะ ควรให้เพียง 1 – 2 ครั้งต่ออาทิตย์เท่านั้น
พฤติกรรม และการวางไข่ของกิ้งก่าคาเมเลี่ยน
สำหรับฤดูผสมพันธุ์ของกิ้งก่าคาเมเลี่ยนนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อความเครียดลดลง จากช่วงพายุรุนแรงผ่านพ้นไป เราสามารถสังเกตอาการ หรือพฤติกรรมการติดสัดของพวกเขาได้ ดังนี้
- พฤติกรรมติดสัดของกิ้งก่าคาเมเลี่ยน
พฤติกรรมการติดสัดของกิ้งกาคาเมเลี่ยนนั้น สามารถสังเกตได้จากอาการที่เปลี่ยนไปของเพศผู้ที่แสดงกิริยาผงกหัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการแสดงออกเช่นนี้เปรียบเสมือนการเรียกร้องความสนใจจากเพศเมีย สำหรับเพศเมียนั้นจะอยู่นิ่งเฉย เพื่อเตรียมความพร้อมให้เพศผู้เข้ามาผสมพันธุ์ด้วย หลังจากผสมพันธุ์เรียบร้อยแล้ว เพศเมียจะเปลี่ยนสีผิวหนังของตัวเองให้เข้มมากยิ่งขึ้น ตลอดจนถึงการออกไข่ หรือออกลูก ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละสายพันธุ์นั่นเอง
- การวางไข่ของกิ้งก่าคาเมเลี่ยน
ในแต่ละสายพันธุ์นั้นจะมีการออกลูกแตกต่างกันไป บางสายพันธุ์ก็ออกลูกเป็นตัว แต่บางสายพันธุ์ก็สามารถออกลูกเป็นไข่
- กิ้งก่าคาเมเลี่ยนที่ออกลูกเป็นไข่
กิ้งก่าคาเมเลี่ยนที่ออกลูกเป็นไข่ ได้แก่ สายพันธุ์เวลล์ แพนเทอร์ และคาร์เพท โดยเพศเมียจะวางไข่บนพื้น หรือไม่ก็เกาะไว้กับสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ลักษณะคล้ายกับการวางไข่ของตุ๊กแก ก่อนจะทำการฟักออกมาเป็นตัว
- กิ้งก่าคาเมเลี่ยนที่ออกลูกเป็นตัว
กิ้งก่าคาเมเลี่ยนที่ออกลูกเป็นตัว ได้แก่ สายพันธุ์แจ็คสัน
โรคที่อาจพบได้ในกิ้งก่าคาเมเลี่ยน
- ภาวะขาดวิตามินเอ
เป็นโรคที่พบบ่อยในกลุ่มสัตว์เลื้อยคลานที่บริโภคแมลงเป็นอาหารหลัก
- สาเหตุ
เนื่องจากวิตามินเอที่ได้จากอาหารตามแหล่งธรรมชาติมีไม่เพียงพอกับความต้องการของกิ้งก่าคาเมเลี่ยน
- อาการ
กิ้งก่าคาเมเลี่ยนจะมีอาการเปลือกตาอักเสบ ทำให้ลืมตาไม่ขึ้น รวมถึงการอักเสบที่ริมฝีปาก และส่วนใหญ่จะมีอาการเบื่ออาหารร่วมด้วย การลอกคราบก็เป็นไปได้ยาก
- การรักษา
เสริมสร้างวิตามินเอให้เพียงพอกับความต้องการของกิ้งก่าคาเมเลี่ยน โดยสังเกตสามารถเลือกซื้อได้ตามร้านขายสัตว์เลื้อยคลานทั่ว ๆ ไป สำหรับเจ้าของที่เลือกซื้ออาหารเสริมที่มีส่วนผสมของวิตามินเอ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่ใช่วิตามินทดแทน อย่างเช่น เบต้าแคโรทีน
จบกันไปแล้วกับข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “กิ้งก่าคามาเลี่ยน” สัตว์เลื้อยคลานที่สืบตระกูลมาจากสัตว์ดึกดำบรรพ์ ด้วยรูปลักษณ์ที่แปลกไม่เหมือนใคร ทำให้พวกเขาเปรียบเสมือนผลงานศิลปะ มีทั้งคนที่ชอบ และไม่ชอบขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน ทาง PetPlease หวังว่าหากทุกคนได้รับข้อมูลที่มีประโยชน์เหล่านี้แล้วจะเปิดใจยอมรับพวกเขากันเยอะ ๆ นะครับ!
คำถามที่พบบ่อย
Q: กิ้งก่าคามาเลี่ยนไม่ทานอาหารทำอย่างไรดี ?
A: จำเป็นต้องใช้เวลาให้กิ้งก่าคาเมเลี่ยนปรับตัวกับสถานที่เลี้ยงก่อนสักพัก และไม่ควรป้อนอาหารในช่วงแรก เพราะจะทำให้เกิดภาวะเครียดขึ้นมากกว่าเดิม โดยธรรมชาติแล้วสัตว์เลื้อยคลานสามารถอดอาหารได้ทาน ดังนั้นเราควรให้กิ้งก่าคาเมเลียนปรับตัวให้เข้ากับสถานที่ให้ได้ก่อน หลังจากนั้นก็จะสามารถทานอาหารได้ตามปกติ
Q: กิ้งก่าคาเมเลี่ยนจะเปลี่ยนสีตัวเองเพื่อพรางตัวจากอันตรายเท่านั้นหรือไม่ ?
A: นอกจากจะเปลี่ยนสีตัวเองเพื่อพรางตัวให้พ้นจากอันตรายแล้วนั้น กิ้งก่าคาเมเลี่ยนยังใช้การเปลี่ยนสีเป็นการสื่อสาร เพื่อเรียกร้องความสนใจจากตัวเอง ซึ่งจะเปลี่ยนสีให้สวยงาม และสดใส แต่เมื่อต้องการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอาณาเขตก็จะเปลี่ยนสีให้เป็นสีที่ดุดัน น่ากลัวนั่นเอง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- สิ่งที่ควรคำนึงในการเลี้ยงกิ้งก่าคาร์เมเลี่ยน
- chameleon
- กิ้งก่าคาเมเลี่ยน
- คามิเลี่ยน กิ้งก่า เปลี่ยนสีได้ ดาวเด่นจาก มาดากัสการ์
AUTHOR: Arthurchiii
2023, JAN 27