No products in the cart.

ทำความรู้จัก ชูการ์ไกลเดอร์ จิงโจ้ยอดนักบิน

แชร์ :

ชูการ์ไกลเดอร์ sugar glider

หลาย ๆ คนอาจคุ้นชื่อชูการ์ไกลเดอร์ หรือจิงโจ้บิน  สัตว์แปลก (Exotic Pets) สุดน่ารักกันดีอยู่แล้ว เพราะพวกเขาเป็นที่นิยมในประเทศไทยเมื่อหลายปีก่อน เรียกได้ว่าฮิตทั่วบ้านทั่วเมืองกันเลยทีเดียว วันนี้ทาง PetPlease จะพาทุกคนมาทำความรู้จักชูการ์ไกลเดอร์ให้มากขึ้นกว่าเดิม สำหรับผู้ที่กำลังศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับชูการ์ไกลเดอร์ต้องบอกว่าห้ามพลาดอย่างเด็ดขาดเลยครับ 

 บทความนี้ขอนำเสนอ

  • ประวัติความเป็นมาของชูการ์ไกลเดอร์  
  • ลักษณะของชูการ์ไกลเดอร์ 
  • วิธีเลี้ยงชูการ์ไกลเดอร์ 
  • อาหาร และโภชนาการของชูการ์ไกลเดอร์ 
  • การสืบพันธุ์ของชูการ์ไกลเดอร์
  • โรคที่อาจพบในชูการ์ไกลเดอร์
  • เรื่องที่ควรรู้สำหรับผู้ที่อย่างเลี้ยงชูการ์ไกลเดอร์

ประวัติความเป็นมาของชูการ์ไกลเดอร์  

ชูการ์ไกลเดอร์ sugar glider

ชูการ์ไกลเดอร์ มีถิ่นกำเนิดจากทวีปออสเตรเลีย เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่จัดอยู่ในสัตว์แปลก (Exotic Pets) ที่มีกระเป๋าหน้าท้องเหมือนกับจิงโจ้ แต่มีหนังเป็นพังผืดระหว่างขาหน้า และขาหลัง ทำให้สามารถร่อนตัวจากที่สูงได้ แต่ต้องเป็นระยะที่ไม่ไกล ด้วยเหตุนี้เองจึงกลายมาเป็นฉายา จิงโจ้บิน 

ถึงแม้ประเทศไทยของเราจะรู้จักชูการ์ไกลเดอร์มาเป็นเวลาสิบปีแล้ว แต่จริง ๆ แล้วนั้นพวกเขามีประวัติศาสตร์การเพาะพันธุ์กันอย่างยาวนาน โดยจะพบเห็นได้ที่ทวีปยุโรป และประเทศสหรัฐอเมริกา หากเป็นแถบเอเชียเราจะสามารถเห็นได้มากที่ประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง 

โดยปกติแล้วนั้นชูการ์ไกลเดอร์ที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไปจะเรียกว่า มอร์มัลชูการ์ไกลเดอร์ หรือสแตนดาร์ดชูการ์ไกลเดอร์ พวกเขาจะมีลักษณะของลวดลายที่มีสีเทาสลับกับแถบสีดำทั่วลำตัว และบริเวณส่วนหลังเป็นทางยาวตลอดจนหน้าผาก และปลายหาง บริเวณท้องจะมีสีขาวสะอาดไม่มีรอยใด ๆ 

ลักษณะของชูการ์ไกลเดอร์ 

ชูการ์ไกลเดอร์ sugar glider

ชูการ์ไกลเดอร์นั้นมีลักษณะทางกายภาพ และนิสัยที่เฉพาะตัว บวกกับทักษะที่สามารถร่อนตัวได้อย่างสบาย ๆ ทำให้ใคร ๆ ต่างก็คลั่งไคล้พวกเขาเป็นอย่างมาก แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมพวกเขาถึงกลายเป็นที่นิยมในช่วงสิบปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามพวกเขาก็มีสายพันธุ์ที่แยกออกไป ซึ่งก็มีลักษณะไม่เหมือนกันในแต่ละสายพันธุ์ ซึ่งสะท้อนความหลากหลายที่เปรียบเสมือนงานศิลปะ ทำให้หลาย ๆ คนต่างก็อยากครอบครองมาไว้ที่บ้าน เรามาดูกันดีกว่าว่าลักษณะของชูการ์ไกลเดอร์มีอะไรบ้าง 

ลักษณะทางกายภาพโดยทั่วไปของชูการ์ไกลเดอร์

เริ่มกันที่ลักษณะทางกายภาพกันเลย โดยธรรมชาติชูการ์ไกลเดอร์นั้นจะมีขนาดของลำตัวไม่ยาวเท่าไหร่นัก พวกเขาขึ้นชื่อเรื่องขนาดที่เล็กจิ๋ว ความยาวตั้งแต่จมูกจนถึงปลายหางโดยประมาณอยู่ที่ 12 นิ้วเท่านั้น และมีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 90 – 150 กรัม ซึ่งถือว่ามีน้ำหนักที่เบามาก อีกทั้งยังมีขนที่นิ่ม ไม่แข็งกระด้าน โดยจะแบ่งออกเป็นสีเทา หรือน้ำตาลไปตลอดทั้งตัว มีแถบสีดำ และน้ำตาลเข้มอยู่ตรงบริเวณตาไปจนถึงแผ่นหลัง ดวงตาของพวกเขามีลักษณ์โปน และกลมโต มาถึงลักษณะอันโดดเด่นที่ทำให้หลายคนสนใจนั่นก้คือ ผังผืดข้างลำตัวตั้งแต่ข้อมือตลอดจนถึงข้อเท้า ด้วยลักษณะนี้เองทำให้พวกเขาสามารถร่อนบินจากที่สูงได้ ถึงแม้ว่าจะบินได้ไม่ไกลเฉกเช่นเดียวกับนก แต่พวกเขาก็สามารถควบคุมการทิศทางการบินร่อนของตัวเองได้เป็นอย่างดี โดยเราสามารถฝึกฝนทักษะนี้ให้กับพวกเขาได้เป็นประจำทุกวันครับ 

ลักษณะนิสัยของชูการ์ไกลเดอร์

ชูการ์ไกลเดอร์เป็นสัตว์ที่ชื่นชอบการเข้าสังคมเป็นอย่างมาก พวกเขารักที่จะอยู่กันอย่างเป็นกลุ่ม หรือคู่ รวมถึงการชอบอยู่กับมนุษย์อย่างเรา ๆ ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในลักษณะนิสัยของพวกเขาเช่นเดียวกัน ชูการ์ไกลเดอร์นั้นเป็นสัตว์ที่มีความขี้เล่น เราสามารถที่จะเล่นกับเขาได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องกังวลว่าพวกเขาจะเบื่อ หรือรำคาญแต่อย่างใด หากใครที่รักความสะอาด อาจทำให้คลั่งเจ้าชูการ์ไกลเดอร์หนักเข้าไปอีก ด้วยนิสัยที่รักความสะอาด ไม่ชอบทำให้อาณาเขตของตัวเองสกปรก ทำให้เหล่าเจ้าของไม่จำเป็นต้องทำความสะอาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า และบ้านไหนที่มีเด็กเล็กก็ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะชูการ์ไกลเดอร์นั้นไม่มีความดุร้าย ถึงแม้จะเป็นสัตว์แปลก หรือ Exotic Pets ก็ตาม พวกเขาจะทำนิสัยดุร้าย หรือข่มขู่ก็ต่อเมื่อมีสิ่งเร้ามาทำให้พวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัยเท่านั้น สิ่งที่เราต้องระวังเวลาเล่นกับพวกเขามีเพียงแค่กรงเล็บที่แหลมคม เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเองครับ 

ชูการ์ไกลเดอร์สายพันธุ์ต่าง ๆ 

ชูการ์ไกลเดอร์เองก็มีหลากหลายสายพันธุ์ ไม่ต่างกับสุนัข หรือสัตว์อื่น ๆ โดยความแตกต่างทางกายภาพก็สะท้อนสายพันธุ์ที่หลากหลายครับ โดยเราสามารถแบ่งได้ ดังนี้ 

ชูการ์ไกลเดอร์สายพันธุ์ White Face 

มาเริ่มกันที่ชูการ์ไกลเดอร์สายพันธุ์ White Face หนึ่งในสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน มีลักษณะทางกายภาพร่วมกับชูการ์ไกลเดอร์สายพันธุ์สแตนดาร์ด แต่มีความแตกต่างตรงที่ใบหน้า และสี โดยสายพันธุ์ White Face จะไม่มีสีดำตามลำตัว ซึ่งจะมีเพียงแต่สีขาวเท่านั้น โดยมีราคาตั้งแต่ 2,000 บาทเป็นต้นไป 

ชูการ์ไกลเดอร์สายพันธุ์ Mosaic 

ต่อกันที่ชูการ์ไกลเดอร์สายพันธุ์ Mosaic ถือว่าเป็นสายพันธุ์ที่ค่อนข้างพรีเมี่ยม มีลักษณะของสีขนเป็นสีบลอนเงิน เรียกอีกอย่างว่า Platinum Colored Mosaic ถึงแม้เป็นสายพันธุ์เดียวกัน แต่ก็สามารถมีลวดลายที่แตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับพ่อ และแม่พันธุ์ สายพันธุ์นี้ถือว่าเป็นสายพันธุ์ที่หายาก เนื่องจากการผสมพันธุ์นั้นไปได้ด้วยความยากลำบาก และทำให้ค่าตัวของเจ้าชูการ์ไกลเดอร์สายพันธุ์ Mosaic พุ่งสูงถึง 4,000 บาทเป็นต้นไป 

ชูการ์ไกลเดอร์สายพันธุ์ Leucistic

ถัดมาที่ชูการ์ไกลเดอร์สายพันธุ์ Leucistic ที่มีลักษณะของสีขนที่ขาวโพนไปทั้งตัว และตาโปนดำสนิท ซึ่งไม่มีลวดลายใด ๆ แม้แต่น้อย ลักษณะเช่นนี้ถือว่าเป็นลักษณะที่หาได้ยาก ยากกว่าสายพันธุ์ Mosaic ซึ่งทำให้มีราคาสูงถึง 40,000 บาท ถือว่าเป็นสายพันธุ์ที่แพงมาก ๆ แต่รับรองว่าน่ารักโดนใจใครหลายคนอย่างแน่นอน 

ชูการ์ไกลเดอร์สายพันธุ์ Albino

สุดท้ายกับชูการ์ไกลเดอร์สายพันธุ์ Albino สายพันธุ์ที่หาได้ยากที่สุด เนื่องจากมีลักษณะที่โดดเด่น และแตกต่างออกไปจากทุกสายพันธุ์ คือ ขาวสนิท จนได้รับฉายา ชูการ์ไกลเดอร์เผือก ไม่มีลายใด ๆ จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งเลยก็คือ ดวงตาที่เป็นสีชมพู รวมถึงใบหูที่โปร่งแสง ทำให้ราคาของชูการ์ไกลเดอร์สายพันธุ์ Albino พุ่งไปอยู่ที่ 70,000 จนถึง 100,000 บาทได้เลย หากใครมีทุนทรัพย์มากพอ แล้วอยากมีน้อง ๆ ไว้ครอบครองก็แนะนำเลยนะครับ เพราะพวกเขาทั้งน่ารัก และเข้ากับมนุษย์ได้เป็นอย่างดีแน่นอน 

จบกันไปแล้วนะครับกับสายพันธุ์ทั้งหมดของชูการ์ไกลเดอร์ หวังว่าทุกคนจะได้รับข้อมูลเพิ่มมากขึ้น เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อนะครับ รับรองว่าน้อง ๆ แต่ละสายพันธุ์นั้นจะเป็นทั้งเพื่อน และสัตว์เลี้ยงที่ดี เพียงแค่เราดูแลพวกเขาด้วยหัวใจอย่างทะนุถนอม เชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ไหนก็จะน่ารักที่สุดสำหรับเราในฐานะผู้เลี้ยงอย่างแน่นอนครับ! 

วิธีเลี้ยงชูการ์ไกลเดอร์ 

ชูการ์ไกลเดอร์ sugar glider

ชูการ์ไกลเดอร์ก็มีความต้องการเรื่องความสะอาด และถิ่นที่อยู่ไม่ต่างจากสัตว์อื่น ๆ เลยนะครับ โดยเราสามารถดูแลเอาใจใส่สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่คนส่วนใหญ่กลับมองข้ามได้ ดังนี้ 

การอาบน้ำให้กับชูการ์ไกลเดอร์

การทำความสะอาดร่างกายให้กับเหล่าชูการ์ไกลเดอร์นั้นเป็นเรื่องที่ง่ายดาย เพราะเราไม่จำเป็นต้องทำอย่างเป็นกิจวัตรประจำวัน เพียงแค่ต้องสังเกตว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ชูการ์ไกลเดอร์ของเรานั้นเริ่มมีกลิ่นตัว หรือกลิ่นไม่พึงประสงค์จากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ จึงค่อยทำความสะอาดร่างกายให้กับพวกเขา โดยการใช้ผ้าชุบน้ำหมาดเช็ดไปทั่วร่างกาย และทำเช็ดตัวให้แห้งอย่างรวดเร็วครับ เราไม่จำเป็นต้องใช้น้ำ หรือสบู่ ในการชำระล้างร่างกายเลย เห็นไหมล่ะครับว่าง่ายมาก ๆ 

ที่อยู่อาศัยของชูการ์ไกลเดอร์ 

มาถึงเรื่องของที่อยู่อาศัยของชูการ์ไกลเดอร์กันแล้วนะครับ สำหรับการเลือกกรงของชูการ์ไกลเดอร์นั้น ควรมีขนาด 24 x 24 นิ้ว หรือ x 36 นิ้ว ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสมกับการเลี้ยง 2 ตัวนะครับ โดยเราจำเป็นต้องเลือกกรงที่มีความสูง และความกว้างให้เหมาะสมกับความต้องการ เช่น การปีนป่าย เป็นต้น รวมถึงความถี่ของซี่กรงจะต้องอยู่ประมาณครึ่งนิ้ว เพื่อไม่ให้เขามุดออกมาภายนอกกรงได้ สุดท้ายจำเป็นต้องตกแต่งด้วยวงล้อ เชือก บันได หรืออุปกรณ์ที่สามารถช่วยให้พวกเขาพัฒนาทักษะ และออกกำลังกายได้อย่างเต็มที่ครับ 

อาหาร และโภชนาการของชูการ์ไกลเดอร์ 

ชูการ์ไกลเดอร์ sugar glider

อาหาร และโภชนาการของชูการ์ไกลเดอร์ก็ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่เราคิด หลายคนอาจคิดไว้ว่าการเลี้ยงสัตว์แปลก หรือ Exotic Pets นั้นจะต้องมีแต่ความยากลำบาก แต่สำหรับชูการ์ไกลเดอร์ไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด

 ช่วง 2 เดือนแรกเราจะเป็นต้องให้ชูการ์ไกลเดอร์กินอาหารวันละ 4 – 6 ครั้ง เนื่องจากอยู่ในช่วงเจริญเติบโตของวัย และเมื่อก้าวสู่เดือนที่ 3 ให้เราลดปริมาณของมื้ออาหารลงเหลือเพียงแค่วันละ 2 ครั้ง โดนแบ่งออกเป็นช่วงเช้า และเย็นเท่านั้น จนอายุเข้าสู่ช่วงเดือนที่ 4 จึงจำกัดมื้ออาหารลงเหลือเพียงวันละมื้อก่อนนอน และเตรียมน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของชูการ์ไกลเดอร์ก็เพียงพอแล้วครับ 

อาหารของชูการ์ไกลเดอร์

ชูการ์ไกลเดอร์สามารถทานน้ำหวานจากดอกไม้ และ ผลไม้ต่าง ๆ ได้ เพื่อเพิ่มวิตามินให้กับผิวหนัง และขน เช่น แอปเปิ้ล กล้วย มะละกอ มะม่วงสุก แตงโม และอื่น ๆ เป็นต้น รวมถึงการให้แมลง เพื่อเพิ่มโปรตีนให้กับพวกเขา เช่น จิ้งหรีด ตั๊กแตน หนอกนก เป็นต้น โดยเราสามารถเลือกใช้เป็นแบบแช่แข็งจากฟาร์มได้ เพื่อความสะดวกสบาย และรวดเร็วครับ 

อาหารต้องห้ามสำหรับชูการ์ไกลเดอร์

สิ่งที่ต้องห้ามสำหรับชูการ์ไกลเดอร์เลย คือ ช็อคโกคแลต เชื่อว่าเป็นสิ่งต้องห้ามพื้นฐานสำหรับสัตว์หลาย ๆ ชนิด สำหรับชูการ์ไกลเดอร์ก็เช่นกัน ถึงแม้พวกเขาจะชื่นชอบอาหารที่มีรสชาติหวาน แต่ช็อคโกแลตนั้นถือว่าไม่ตอบโจทย์ร่างกายของพวกเขานะครับ 

การสืบพันธุ์ของชูการ์ไกลเดอร์

ชูการ์ไกลเดอร์ sugar glider

ชูการ์ไกลเดอร์สามารถมีลูกได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น ซึ่งสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี โดยเพศเมียจะมีวงรอบการเป็นสัตว์ประมาณ 28 วัน และไข่จะตก 2 วันหลังการติดสัด สำหรับผู้ใดที่อยากจะเลี้ยงชูการ์ไกลเดอร์เป็นคู่ ๆ จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ และระยะการพัฒนาของชูการ์ไกลเดอร์ทารก เนื่องจากจะมีความแตกต่างจากสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ ทั่วไป ดังนี้ 

ระยะติดสัดของชูการ์ไกลเดอร์

ก่อนที่จะมีการสืบพันธุ์จะต้องมีระยะการติดสัดก่อน เมื่อไหร่ก็ตามที่ชูการ์ไกลเดอร์ตัวเมียเกิดอาการติดจะแสดงกิริยาออกมา เพื่อให้ตัวผู้ได้รับรู้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องความสนใจโดยการส่งเสียงเรียกดัง ๆ หรือทำเสียงคล้าย ๆ กับเสียงเห่าลากยาว 

ระยะผสมพันธุ์ของชูการ์ไกลเดอร์

ระหว่างที่อยู่ในช่วงผสมพันธุ์ตัวผู้อาจเกิดอาการฉุนเฉียวกว่าปกติได้ ขณะทำการผสมพันธุ์ ซึ่งอาจแสดงกิริยาที่รุนแรง เช่น การกัดหลังของตัวเมียขณะขึ้นขี่

 เมื่อทำการผสมพันธุ์เสร็จสิ้นแล้ว พบว่าชูการ์ไกลเดอร์ไม่สนใจที่จะกินอาหาร ก็ไม่ต้องเป็นกังวลใจแต่อย่างใด เพราะพวกเขาจะไม่กินอาหารเป็นเวลา 24 ชั่วโมงหลังจากการผสมพันธุ์ หลังจากนั้นจะเกิดระยะการปฏิสนธิเกิดทำให้เกิดการตั้งครรภ์ในที่สุด 

ระยะการตั้งครรภ์ของชูการ์ไกลเดอร์

โดยปกติแล้วชูการ์ไกลเดอร์สามารถตั้งครรภ์ได้ครั้งละ 1 – 2 ตัว ซึ่งก็มีโอกาสที่เราสามารถพบเห็นชูการ์ไกลเดอร์ที่ตั้งครรภ์ได้ 3 – 4 ตัว โดยมีระยะการตั้งครรภ์อยู่ที่ 16 – 17 วันเท่านั้น ซึ่งถือว่าไวมาก ๆ เมื่อเทียบกับมนุษย์อย่างเรา ๆ 

การคลอดลูกของชูการ์ไกลเดอร์

การคลอดลูกของชูการ์ไกลเดอร์ ตัวเมียจะเริ่มเลียเป็นทางจากรูทวารจวบจนมาถึงที่บริเวณกระเป๋าหน้าท้อง เพื่อเป็นทางเดินให้ลูก ๆ ชูการ์ไกลเดอร์นั้นเดินทางเข้ามายังกระเป๋าหน้าท้อง เพื่อที่จะได้เติบโตต่อในระยะถัดไป โดยขนาดตัวของลูกลูกชูการ์ไกลเดอร์นั้นจะอยู่แค่เพียง 1 เซนติเมตร และจะทำการเจริญเติบโตภายในกระเป๋าเป็นเวลา 9 -10 สัปดาห์ โดยดื่มน้ำนมที่อยู่ภายในกระเป๋าหน้าท้องนั่นเอง 

ระยะการพัฒนาของลูกชูการ์ไกลเดอร์ในกระเป๋า

เมื่อผ่านไป 4 สัปดาห์ ลูก ๆ ของชูการ์ไกลเดอร์จะมีพัฒนาการทางกายภาพ โดยมีรูปร่างที่ขยายเท่ากับเปลือกถั่ว หลังจากนั้น 1 – 2 สัปดาห์ก็จะเริ่มเห็นเหล่าทารกน้อยออกมาจากกระเป๋าของแม่พวกเขาแล้วครับ

โรคที่อาจพบในชูการ์ไกลเดอร์

ชูการ์ไกลเดอร์ sugar glider

มาถึงโรคที่อาจพบได้ในชูการ์ไกลเดอร์แล้วนะครับ ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกซื้อชูการ์ไกลเดอร์นั้นเราต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บให้ดีเสียก่อน เพื่อที่จะป้องกันอัตราความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจส่งผลต่อชีวิต โดยเราสามารถพบโรคต่าง ๆ ได้ ดังนี้ 

โรค Trichomoniasis

สาเหตุ

โรค Trichomoniasis มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียที่เกิดจากน้ำที่สกปรก โดยสามารถเกิดขึ้นได้จากการกินน้ำ 

อาการ

ชูการ์ไกลเดอร์ที่เป็นโรค Trichomoniasis จะมีอาการอาเจียน ท้องไส้ปั่นป่วน มีน้ำมูก เต็มไปด้วยขี้ตา น้ำหนักลดฮวบ ตลอดจนอาการเบื่ออาหารในที่สุด 

วิธีการป้องกัน

วิธีการป้องกันนั้นก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร เพียงแค่เราดูแลความสะอาดชามน้ำ หรือขวดน้ำเป็นประจำ รวมถึงการล้างมือก่อนให้อาหาร หรือเล่นกับพวกเขา

โรค Stress

สาเหตุ

โรค Stress มีสาเหตุมาจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปกระทันหัน จนทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย รวมถึงการสูญเสียเพื่อนฝูง หรือคู่ครองไป

อาการ

ชูการ์ไกลเดอร์ที่เป็นโรค Stress จะมีอาการสติแตก คลื่นไส้ ท้องไส้ปั่นป่วน และดุร้ายกว่าเดิม ไม่ชอบเข้าสังคมอย่างเช่นเคย 

วิธีการป้องกัน

การป้องกันเบื้องต้น เราสามารถย้ายที่อยู่เขาไปยังที่สงบ ไม่มีสิ่งเร้ามาคอยรบกวน เสริมสร้างอาหารที่มีคุณภาพให้กับพวกเขา และพยายามให้พวกเขาออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน 

โรค Intestinal Blockage

สาเหตุ

โรค Intestinal Blockage มีสาเหตุจากการสะสมของเศษอาหาร หรืออาหารที่ย่อยได้ยากที่ไปอุดตันตรงลำไส้ 

อาการ

เมื่อชูการ์ไกลเดอร์เป็นโรค Intestinal Blockage จะเกิดภาวะอ้วนขึ้น โดยเกิดอาการบวมที่บริเวณท้อง และอาจทำให้การขับถ่ายเป็นไปได้ยากมากขึ้น เนื่องจากอาหารไม่ย่อย 

วิธีการป้องกัน

สำหรับการป้องกันนั้นขึ้นอยู่กับวิธีการให้อาหารล้วน ๆ เลยครับ โดยส่วนใหญ่เจ้าของอาจให้อาหารแห้งมากเกินความจำเป็น ดังนั้นเราควรลดปริมาณอาหารแห้งลงมา และมุ่งเน้นอาหารที่ย่อยง่าย ๆ แทน อย่างเช่น ผัก และผลไม้เป็นต้นครับ 

โรค Hind Leg Paralysis

สาเหตุ

สาเหตุของโรค Hind Leg Paralysis เกิดจากภาวะขาดแคลเซียม ทำให้กระดูกไม่มีแคลเซียมมากที่จะเสริมสร้างความแข็งแรง

อาการ

สำหรับอาการของชูการ์ไกลเดอร์ที่เป็นโรค Hind Leg Paralysis จะมีอาการอัมพาต หรือเดินไม่แข็งแรง มีการงอของกระดูกอย่างเห็นได้ชัด 

วิธีการป้องกัน

หากพบว่ามีภาวะขาดแคลเซียมจนทำให้เกิดโรคร้ายแรงเช่นนี้ ควรรีบนำไปพบสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสัตว์แปลก และรับวิตามิน หรือแคลเซียม เพื่อเสริมสร้างแคลเซียมในกระดูกของชูการ์ไกลเดอร์

โรค Depression

สาเหตุ

โรค Depression มีสาเหตุจากความเหงา เพราะเจ้าของมีเวลาไม่มากพอที่จะคอยเล่นกับชูการ์ไกลเดอร์ หรืออาจเกิดจากการเปลี่ยนเจ้าของบ่อย ทำให้เกิดอาการทางจิต เพราะรู้สึกเหมือนถูกทิ้งอยู่ตลอดเวลา 

อาการ

สำหรับอาการของชูการ์ไกลเดอร์นั้นจะรู้สึกโดดเดี่ยว ซึมเศร้า ไม่ยอมกินอะไรเลย รวมถึงเกิดภาวะประสาทหลอน จึงทำให้เกิดการหวาดระแวงตลอดเวลา และจะไม่ยอมอยู่กับเพื่อนฝูง รวมทั้งเจ้าของด้วยเช่นกัน 

วิธีการป้องกัน

ไม่ควรให้ชูการ์ไกลเดอร์อยู่อย่างโดดเดี่ยว ควรให้เขามีเพื่อนฝูง เพื่อให้เกิดสังคมระหว่างกัน ตกแต่งสภาพแวดล้อมให้เต็มไปด้วยอุปกรณ์ที่เสริมสร้างนันทนาการ และทักษะที่จำเป็นกับตัวของพวกเขา รวมถึงการให้อาหารคุณภาพดี และมีประโยชน์ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง

เรื่องที่ควรรู้สำหรับผู้ที่อย่างเลี้ยงชูการ์ไกลเดอร์

ชูการ์ไกลเดอร์ sugar glider

การจัดเตรียมสถานที่

หลักการจัดเตรียมสถานที่อาศัยของชูการ์ไกลเดอร์ ควรมีขนาดพอเหมาะกับขนาดตัว เพื่อให้มีพื้นที่ปีนป่ายได้อย่างเหมาะสม รวมถึงสภาพแวดล้อมที่ปลอดโปร่ง 

ขนาดของกรง และอุปกรณ์ที่ต้องมี

ภายในกรงจะต้องตกแต่งไปด้วยอุปกรณ์ที่สามารถใช้ได้จริง ไม่ว่าจะเป็น ขวดน้ำ ที่นอน ผ้าคลุมกรง ใช้เมื่อมีแสงแดดมากจนเกินไป ชามใส่อาหาร กิ้งไม้สำหรับฝึกทักษะการปีนป่าย เป็นต้น ซึ่งเราสามารถจัดได้ตามความเหมาะสมเลยครับ 

การจัดเตรียมสถานที่ตั้ง

ข้อคำนึงในการจัดเตรียมสถานที่ตั้งนั้นหลัก ๆ ควรเลือกจากพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทอย่างปลอดโปร่ง หลีกเลี่ยงการอยู่ร่วมกันกับสัตว์อื่นภายในบ้าน เช่น แมว สุนัข และอื่น ๆ เป็นต้น ไม่ควรตั้งในจุดที่มีอุณหภูมิเย็นจัด เช่น จุดที่โดนลมของแอร์ หรือแม้กระทั่งจุดที่มีอุณหภูมิร้อนจัด เช่น ข้าง ๆ ตู้เย็นที่มีการระบายความร้อนอยู่เสมอ รวมไปถึงการหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีความร้อนอบอ้าว และอากาศเย็นชื้น แม้แต่ห้องน้ำก็ไม่สามารถเป็นที่ตั้งของกรงได้ เราควรพิจารณาการเลือกพื้นที่ตั้งของกรงอย่างละเอียด และให้มั่นใจว่าชูการ์ไกลเดอร์ของเรานั้นจะสามารถอยู่ได้ และหายใจอย่างสะดวกครับ 

อัตราค่ารักษาพยาบาลโดยประมาณ เมื่อป่วย

เรามาต่อกันที่อัตราค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นกันดีกว่า สำหรับอัตราค่ารักษาพยาบาลจะเริ่มต้นที่ 200 – 1,000 บาท ซึ่งจะถูก หรือแพงกว่านี้นั้นก็ขึ้นอยู่กับอาการป่วย และโรงพยาบาลสัตว์แปลกใกล้บ้านของเรานั่นเอง 

ลักษณะและไลฟ์สไตล์ของเจ้าของที่เหมาะสม

เจ้าของที่ชื่นชอบสัตว์แปลก

ผู้ที่สามารถเข้ากับชูการ์ไกลเดอร์ได้เป็นอย่างดีนั้นจะต้องเข้าใจธรรมชาติของพวกเขาเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการดูแลความสะอาดเป็นประจำ หรือการทำความเข้าใจลักษณะที่แปลก และแตกต่าง อย่างเช่น กลิ่นตัวที่รุนแรง การขับถ่ายไม่เป็นที่เท่าไหร่นัก ตลอดจนไปถึงความเครียดจัด ทำให้กินลูกตัวเองเป็นอาหาร หากเราชื่นชอบ และคลั่งไคล้สิ่งไหน เราก็อยากจะทะนุถนอมสิ่งนั้นด้วยความรัก 

เจ้าของที่มีความรับผิดชอบสูง

ชูการ์ไกลเดอร์เป็นหนึ่งในสัตว์แปลก (Exotic Pets) จำเป็นต้องอาศัยการดูแลที่เฉพาะจุด ตอบโจทย์ความต้องการอย่างครบครัน อาจไม่เหมือนสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ เช่น สุนัข หรือแมวที่เราคุ้นชินกัน ผู้ใดที่ต้องการครอบครองเจ้าชูการ์ไกลเดอร์จึงต้องมีความรับผิดชอบค่อนข้างสูง  รวมไปถึงค่ารักษาพยาบาลที่จำเป็นต้องใช้สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสัตว์แปลก ทำให้ค่าใช้จ่ายมากกว่าสัตว์เลี้ยงทั่ว ๆ ไป หากเราศึกษาข้อมูลอย่างดี และมั่นใจว่าจะสามารถรับผิดชอบไม่ให้เกิดอันตรายต่อตัวพวกเขาได้ ก็สามารถเลี้ยงได้อย่างสบายใจ เพราะพวกเขาก็สามารถเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงที่แสนดีของคุณได้อย่างไม่ต้องสงสัยเลย 

เป็นอย่างไรกับบ้างครับกับข้อมูล และสาระของเจ้าชูการ์ไกลเดอร์ สำหรับผู้ใดที่กำลังเริ่มหาสัตว์แปลกเลี้ยง แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มจากสัตว์ชนิดไหนดี ทางเราแนะนำชูการ์ไกลเดอร์เลยครับ ทั้งเข้ากับมนุษย์ได้ง่าย รักความสะอาด และไม่ดุร้ายอีก เรียกได้ว่าน่ารัก น่ารักเอ็นดูมาก ๆ เลยทีเดียว หวังว่าทุกคนจะสนุก และเพลิดเพลินกับสาระความรู้เกี่ยวกับชูการ์ไกลเดอร์นะครับ!  

คำถามที่พบบ่อย 

Q: ควรเล่นกับชูการ์ไกลเดอร์อย่างไรดี ? 

A: ควรเล่นในที่มิดชิดแต่มีบริเวณมากพอในการปีนป่าย หรือปีนตามลำตัว และพยายามป้อนขนมให้เป็นครั้งคราว 

Q: ควรใส่ปลอกคอให้กับชูการ์ไกลเดอร์เวลาเล่นหรือไม่ ?

A: ไม่ควร เนื่องจากจะทำให้รัดคอ รัดขาและอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

AUTHOR: Arthurchiii

2023, FEB 02

บทความอื่นๆ

ทำความรู้จัก ”ไก่ซิลกี้” เจ้าไก่ขนฟูสุดน่ารัก!
เลิฟเบิร์ด…นกที่ขึ้นชื่อว่าเป็น Little Parrot
ทำความรู้จัก “คาปิบารา” สัตว์ตัวใหญ่ยักษ์ที่กำลังเป็นไวรัลตอนนี้!
มาทำความรู้จักกับราชาแห่งนกฟินซ์ กับนกฟินซ์ 7 สีกัน!
ทำความรู้จักเอเลี่ยนสปีชีส์ สายพันธุ์สัตว์อันตรายจากต่างแดน
10 อันดับ สัตว์แปลกสุดหายากที่นึกว่าโปเกม่อน!